“ป่าขาดโมเดล” ต้นแบบชุมชนวิจัย สู่ เวทีระดับชาติ Thailand research expo 2023
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในบทบาทการส่งเสริมและถ่ายทอดความรูู้เพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ให้ความสำคัญกับการเผยแพร่ผลงานวิจัยสู่กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ในวงกว้าง ได้กำหนดกลไกเพื่อนำเสนอผลงานวิจัยและการถ่ายทอดความรู้จากผลผลิตการวิจัยจากหน่วยงานเครือข่ายวิจัยทั่วประเทศ
การจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 (Thailand Research Expo 2023)” ระหว่างวันที่ 7 – 11 สิงหาคม 2566 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเวทีระดับชาติในการนำเสนอผลงานวิจัยที่มีศักยภาพพร้อมใช้ประโยชน์ และขับเคลื่อนให้เกิดการเผยแพร่องค์ความรู้ กระจายโอกาสการเข้าถึงฐานข้อมูลความรู้การวิจัยและนวัตกรรม
อีกทั้ง เป็นกลไกส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้เพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ เชื่อมโยงผู้ผลิตงานวิจัยและผู้ใช้ประโยชน์ โดยการบูรณาการเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างองค์กรและเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ
การประชุมครั้งนี้ คุณสุวิมล วงค์พลัง นักวิจัย สวพ8 กรมวิชาการเกษตร ได้รับคัดเลือกจากเวที Thailand research expo ให้ไปนำเสนอผลงานวิจัย ป่าขาดโมเดล
“ป่าขาดโมเดล เกษตรยั่งยืนเพื่อชุมชน” เป็นแพลตฟอร์มนวัตกรรมการผลิตพืชอย่างยั่งยืนที่เหมาะสมกับบริบทของชุมชนป่าขาด อ.สิงหนคร จ.สงขลา ที่เกิดจากการประยุกต์ใช้ “รำแดงโมเดล: เกษตรตามศาสตร์พระราชา” ซึ่งเป็นเครื่องมือวิจัยทางสังคมศาสตร์ร่วมกับการวิจัยทางเกษตรศาสตร์ ผลการวิจัยสามารถสรุปเป็นกระบวนการขับเคลื่อนการพัฒนา ดังนี้
- การจัดตั้งกลุ่มเกษตร พบว่า การรวมกลุ่มพร้อมกับการแต่งตั้งคณะกรรมการกลุ่ม ดำเนินการวิเคราะห์ชุมชน จัดทำแผนพัฒนา การพัฒนาแปลงต้นแบบ การประชาสัมพันธ์เผยแพร่ผลงาน การจัดกิจกรรมถ่ายทอดเทคโนโลยี ร่วมกับบทบาทของประธานกลุ่มในการรักษาไว้ซึ่งการรวมตัวของสมาชิก คณะกรรมการกลุ่มมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และหน่วยงานราชการสนับสนุนอย่างจริงจัง ทำให้ชุมชนเกิดพลังต่อรองเพื่อแก้ปัญหา และเกิดความเข้มแข็งสามารถดำเนินงานไปได้
- การพัฒนา 9 พืชผสมผสานพอเพียง พบว่า กลุ่มพืชรายได้ มะม่วงมีผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.84 รายได้สุทธิเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.24 กล้วยน้ำว้า ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.66 รายได้สุทธิเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.26 กลุ่มพืชอาหารสัตว์ มีรายได้สุทธิเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 69.37 กลุ่มพืชอาหาร พืชสมุนไพรสุขภาพ พืชอนุรักษ์ดินและน้ำ และกลุ่มพืชใช้สอย พืชพลังงานเชื้อเพลิง มีการปลูกเพิ่มขึ้นร้อยละ 30, 85, 100 และ 50 ตามลำดับ
- การพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร พบว่า มีการแปรรูปกล้วยน้ำว้าเป็นกล้วยเส้น ซึ่งเป็นสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพืชอัตลักษณ์ของชุมชน มีการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร GAP 11 แปลง 8 พืช และเกษตรอินทรีย์แปลงผักผสมผสาน 1 แปลง
- การพัฒนาเชื่อมโยงการเกษตรกับการท่องเที่ยว และภาคส่วนอื่น ๆ พบว่า การเชื่อมโยงการเกษตรกับสวนเทพหยาเพื่อพัฒนาตลาดและการท่องเที่ยว และการบูรณาการงานเกษตรของชุมชนกับงานทางวิชาการและงานส่งเสริม การทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทำให้ดึงพลังจากภาคนอกเกษตรเข้ามาสนับสนุนการพัฒนาการผลิตพืช และแก้ปัญหาการขาดตลาดรองรับผลผลิตเกษตรของชุมชน
- การจัดเวทีวิจัยสัญจร เยี่ยมบ้านเกษตรกรแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภูมิปัญญาทางการเกษตรและความรู้ทางวิชาการ
กระบวนการพัฒนาทั้ง 5 เป็นปัจจัยที่ทำให้ชุมชนมีความพอเพียงด้านอาหาร สามารถพึ่งพาตนเองได้ เกิดการแบ่งปันสู่เพื่อนบ้าน และชุมชนใกล้เคียง และเกิดเป็นชุมชนเกษตรยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
บทความ/สงขลาโฟกัส
ธัช ธาวินท์