รองเลขาฯศอ.บต. นำคณะ ร่วมงานสานสัมพันธ์เครือข่ายต้มยำกุ้งประจำปี ที่รัฐสลางอร์ มาเลเซีย พร้อมหารือแก้ปัญหาแรงงานไทยในร้านต้มยำกุ้งในมาเลเซีย
ค่ำวันที่ 13 สิงหาคม 2566 นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) นำคณะฯ ประกอบด้วย สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพองค์การมหาชน, สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA และสถาบันการอาหารไทย นำโดย นายชุมพล แจ้งไพร (เชฟชุมพล) และผู้บริหาร ศอ.บต. เดินทางไปยังรัฐสลางอร์ ประเทศมาเลเซีย เพื่อพบปะและพูดคุย พร้อมร่วมกิจกรรมสานสัมพันธ์เครือข่ายต้มยำกุ้งประจำปี “งานอาซูรอสัมพันธ์” ระหว่างรัฐกัวลาลัมเปอร์ และรัฐสลางอร์ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี
ทั้งยังหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาแรงงานไทยและการเพิ่มทักษะแรงงานร่วมกับผู้บริหารสมาคมเครือข่ายร้านอาหารไทยในประเทศมาเลเซีย โดยมีนายกสมาคมต้มยำกุ้ง ตลอดจนผู้ประกอบการร้านต้มยำกุ้งในรัฐกัวลาลัมเปอร์และรัฐสลางอร์ ร่วมต้อนรับ
สำหรับการลงพื้นที่เยี่ยมพบปะและร่วมกิจกรรมสานสัมพันธ์เครือข่ายต้มยำกุ้งประจำปี “งานอาซูรอสัมพันธ์” ระหว่างรัฐกัวลาลัมเปอร์ และรัฐสลางอร์ รวมถึงรัฐข้างเคียงเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐบาลไทยกับผู้ประกอบการร้านต้มยำกุ้งในประเทศมาเลเซีย พร้อมหารือปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการฯ ในห้วงที่ผ่านมา เพื่อให้ รัฐบาลโดย ศอ.บต. หาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
ในการนี้ รองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ศอ.บต. เร่งแก้ไขปัญหาร้านอาหารต้มยำกุ้งในประเทศมาเลเซีย เนื่องจาก ในปัจจุบันมีคนไทยที่ไปทำงานในประเทศมาเลเซียทั้งหมดราว 200,000 คน โดยมีทั้งแรงงานที่ถูกต้องและไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนใหญ่เข้าไปทำงานในร้านอาหาร “ต้มยำกุ้ง” เนื่องจากประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีการเดินทางไปประกอบอาชีพในร้านอาหารต้มยำกุ้งประเทศมาเลเซียมากกว่า 5.5 พันร้านค้า
โดยคาดว่าจะมีแรงงานไทยจากจังหวัดชายแดนภาคใต้เดินทางเข้าไปทำงานมากกว่า 1.5 แสนคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานต้มยำกุ้งเป็นเส้นเลือดใหญ่ทางเศรษฐกิจที่หล่อเลี้ยงครอบครัวและประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นจำนวนมาก
อีกทั้ง ตลาดแรงงานร้านอาหารไทยในมาเลเซียกำลังเติบโต เป็นที่นิยมของประชาชนในมาเลเซีย สาเหตุที่ทำให้แรงงานไทยย้ายถิ่นฐานไปทำงานในมาเลเซีย เนื่องจากการทำงานในประเทศมาเลเซียให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการทำงานประเภทเดียวกันในประเทศไทย ทำให้ชีวิตและความเป็นอยู่ของกลุ่มแรงงานดีขึ้น มีรายได้ส่งกลับให้ครอบครัว และด้วยค่าตอบแทนที่ค่อนข้างดีกว่าประเทศไทยอย่างเห็นได้ชัด แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในประเทศมาเลเซีย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแรงงานกึ่งฝีมือและไร้ฝีมือ (Semi-Skilled and Unskilled) ไม่มีความพร้อมในด้านเทคโนโลยีและไม่ปรับตัวต่อสถานการณ์ เคยชินกับการเดินทางในอดีต ไม่มีความรู้ความเข้าใจขั้นตอนการเดินทางตามกฎหมาย ซึ่งกลุ่มธุรกิจเเละแรงงานเหล่านี้ล้วนเป็นเส้นเลือดใหญ่ทางเศรษฐกิจที่หล่อเลี้ยงครอบครัวและประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ ศอ.บต. ได้รายงานปัญหาเเละเสนอเเนวทางการแก้ไขในระยะต่อไป เข้าสู่การประชุมของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ครั้งที่ 1/2566 (เมื่อวันที่ 27 กุภาพันธ์ 2566) มอบหมายให้ ศอ.บต. กระทรวงแรงงานและกระทรวงการต่างประเทศไปประสานหารือเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งในระยะเร่งด่วนและในระยะยาว เพื่อให้การจัดระเบียบแรงงานคนไทยจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เข้าทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แรงงานได้รับการช่วยเหลือติดตามและคุ้มครองสิทธิประโยชน์อย่างครอบคุลม รวมถึงสานสัมพันธ์ความสัมพันธ์อันดีที่มีต่อประเทศมาเลเซียอย่างยาวนาน และต่อมาคณะรัฐมนตรี มีมติรับทราบ สรุปผลการประชุม กพต. ครั้งที่ 1/2566 ด้วยแล้ว.
ด้าน นายโจฮารี บินอาหมัด ประธานชมรม Ukhuwah (เป็นเครือข่ายต้มยำกุ้งเครือข่ายใหญ่) กล่าวว่า เครือข่ายต้มยำกุ้งในมาเลเซีย พร้อมพี่น้องเครือข่ายผู้ประกอบการต้มยำกุ้งอีกเป็นจำนวนมาก ได้ฝากความระลึกถึงและขอบคุณรัฐบาล และ ศอ.บต. ที่เห็นถึงความสำคัญของร้านต้มยำกุ้ง ไม่ทิ้งพวกเราไว้ข้างหลัง มาช่วยเร่งรัดผลักดันในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น พี่น้องต้มยำกุ้ง หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการทำงานของ ศอ.บต. ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในครั้งนี้จะทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของการคลี่คลายปัญหาของชาวต้มยำกุ้งที่มีมานานกว่า 30 ปี โดยเร็วต่อไป