ประธานกลุ่มเพาะเลี้ยงปลากะพงลุ่มน้ำทะเลสาบจังหวัดสงขลา เผยปลากะพงนำเข้าจากประเทศมาเลเซียตีตลาดรอบนอก ระบุครองส่วนแบ่งตลาดประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ จากราคาที่ถูกกว่ามาก ในขณะที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่ทราบ เรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยระยะสั้น-ระยะยาว สร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภค หวั่นความแตกต่างราคาทำผู้โภคเปลี่ยนใจ
หลังจากการนำเข้าปลากะพงจากประเทศมาเลเซียผ่านด่านศุลกากรสะเดามีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย
โดยตัวเลขนำเข้าปลากะพงจากประเทศมาเลเซียผ่านด่านศุลกากรสะเดา ตั้งแต่เดือนมกราคม-กรกฎาคม 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 5,454 ตัน มูลค่า 409 ล้านบาท
นายชัยยะ นากลม ประธานกลุ่มเพาะเลี้ยงปลากะพงลุ่มน้ำทะเลสาบจังหวัดสงขลา เปิดเผย“ผู้สื่อข่าว”ว่า ปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาและนจังหวัดสงขลาได้รับผลกระทบโดยตรง
เนื่องจากปลากะพงนำเข้าจากประเทศมาเลเซียเข้ามาที่ตลาด โดยขณะนี้ตลาดรอบนอกประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ที่นำมาปลากะพงนำเข้าจากประเทศมาเลเซียไปขาย
“แม่ค้าในตลาดรอบนอกนำปลากะพงมาเลเซียไปขายราคากิโลกรัมละ 120-140 บาท ในขณะที่ปลากะพงลุ่มน้ำทะเลสาบราคาอยู่ที่ 180-200 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งราคาต่างกันค่อนข้างเยอะ”
เพราะฉะนั้นในแง่ของผลกระทบสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาหรือในจังหวัดสงขลา ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน เนื่องจากไม่สามารถเข้าขายแข่งปลากะพงจากมาเลเซียในตลาดได้
ทำให้ปัจจุบันตลาดหลักปลากะพงลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาหรือจังหวัดสงขลาส่วนใหญ่เป็น กลุ่มโรงแรม ภัตตาคารร้านอาหาร ส่วนตลาดสด ตลาดนัด ส่วนใหญ่จะเป็นตลาดของปลากะพงนำเข้าจากประเทศมาเลเซีย
“กลุ่มนี้เขาต้องการปลากะพงลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาหรือปลากะพงในพื้นที่ เนื่องจากเป็นปลากะพงที่มีคุณภาพที่ดีกว่าปลากะพงนำเข้าจากประเทศมาเลเซีย รองรับกลุ่มลูกค้าพรีเมียม”
นายชัยยะ กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันทำให้เชื่อว่าแนวโน้มจากการนำเข้าปลากะพงจากประเทศมาเลเซียจะมีผลกระทบต่อการทำตลาดปลากะพงลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาและจังหวัดสงขลามากขึ้น
จึงอยากเรียกให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงเกาะยอและจังหวัดสงขลาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ระยะสั้นที่อยากให้ดำเนินการก็คือ 1. การหาตลาด ขยายตลาด รองรับผลผลิตของเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาและจังหวัดสงขลาเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีอยู่
2.ให้ประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภครับทราบข้อมูลระหว่างปลากะพงนำเข้าจากประเทศมาเลเซียกับปลากะพงทะเลสาบสงขลาและจังหวัดสงขลา เพื่อให้ผู้บริโภครับทราบในวงกว้างเพื่อตัดสินใจการเลือกบริโภค
เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ปัจจุบันยังไม่ทราบว่าปลากะพงที่ขายกันอยู่ในตลาดรอบนอก ในตลาดสด มีปลากะพงนำเข้าจากประเทศมาเลเซียรวมอยู่ด้วย
ส่วนระยะยาวอยากให้หามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในเรื่องต้นทุนทั้งวัสดุ อุปกรณ์ อาหาร รวมถึงแหล่งเงินทุนที่ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงเข้าถึง
เพราะเท่าที่ทราบประเทศมาเลเซียเขาสนับสนุนเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงในเรื่องต้นทุนต่าง ๆ ตั้งแต่วัสดุ อุปกรณ์ อาหาร กระชัง รวมถึงแหล่งเงินทุน
ทำให้ต้นทุนในการเลี้ยงของเกษตรกรในประเทศมาเลเซียต่ำกว่าของเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาหรือจังหวัดสงขลามาก ทำให้เขาสามารถขายในราคาที่ต่ำกว่าได้
“เราไม่ควรประมาทกับสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ เพราะวันหนึ่งตลาดหลักของปลากะพงลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาหรือจังหวัดสงขลาปัจจุบัน อาจจะถูกปลากะพงนำเข้าจากประเทศมาเลเซียเข้ามาแย่งตลาดมากขึ้นจากแรงจูงใจเรื่องราคาที่ถูกกว่า”
แม้ว่าคุณภาพปลากะพงลุ่มน้ำทะเลสาบหรือปลากะพงในพื้นที่จะมีคุณภาพเหนือกว่าปลากะพงนำเข้าจากประเทศมาเลเซียก็ตาม แต่ด้วยแรงจูงใจราคาที่แตกต่างกันมากก็อาจจะทำให้สูญเสียลูกค้าไปได้
ประธานกลุ่มเพาะเลี้ยงปลากะพงลุ่มน้ำทะเลสาบจังหวัดสงขลา ยังกล่าวเรียกร้องให้เร่งดำเนินการปลากะพงสามน้ำ ทะเลสาบสงขลาเป็นสินค้า GI (สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือ GI (Geographical Indication)
ในการขยายตลาด เพิ่มมูลค่า เพื่อส่งเสริมให้เกิดการบริโภคปลากะพงลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเพิ่มขึ้น ที่เป็นรูปธรรม เนื่องจากปัจจุบันยังไม่เป็นรูปธรรม
“ตรงนี้จะช่วยรองรับผลผลิตปลากะพงลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาอีกทาง โดยเฉพาะการนำปลากะพงลุ่มน้ำทะเลสาบไปสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการแปรรูปต่าง ๆ”
///////////////////////////////
สำนักข่าวโฟกัส
สมชาย สามารถ