17 ส.ค. 66 – ภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม จับมือ ปตท.สผ. มทร. ศรีวิชัย และเครือข่ายประชาชนภาคใต้หลายจังหวัด ร่วมเทศกาล “ออกแบบปักษ์ใต้” ปักหมุดวัดมัชฌิมาวาส ครบ 106 ปีพระอารามหลวง โชว์งาน “ช่างใต้ ไม่ช่างเถอะ” นำชมภาพจิตรกรรมพระอุโบสถที่เพิ่งบูรณะแล้วเสร็จ สานตำนานเมืองสงขลาคุณค่าระดับโลก
ดร.จเร สุวรรณชาต รองนายกภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม เปิดเผยว่า ในวันที่ 17 และ 19 สิงหาคม 2566 ภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม จับมือ คณะกรรมการวัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร พระอารามหลวง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เครือข่ายภาคประชาชน ร่วมจัดกิจกรรม “เทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้ 2566” กับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อร่วมขับเคลื่อนเมืองสงขลาด้วยต้นทุนทางวัฒนธรรม ควบคู่กับการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ เพื่อร่วมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยนำความโดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ ของวัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร พระอารามหลวง ที่มีความสำคัญด้านประวัติศาสตร์ โดยเปิดให้สาธารณชนได้เข้าชมงานจิตรกรรมภาพฝาผนังสีฝุ่นอันเลื่องชื่อในพระอุโบสถ ซึ่งเป็นผลงานศิลปะที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ สะท้อนเรื่องราววิถีชีวิตของผู้คนสงขลาในประวัติศาสตร์ ที่เชื่อมโยงกับคุณค่าระดับสากลและนานาชาติ ซึ่งกรมศิลปากรเพิ่งบูรณะแล้วเสร็จและเปิดให้ชมเป็นทางการครั้งแรก
พร้อมกันนี้ ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญงานช่าง จากกลุ่มงานอนุรักษ์จิตรกรรมและประติมากรรม กองโบราณคดี กรมศิลปากร เพื่อถ่ายทอดเทคนิคการบูรณะภาพจิตรกรรมอันทรงคุณค่าภายในพระอุโบสถ ช่วยเสริมสร้างจิตสำนึกให้สาธารณชนในพื้นที่ช่วยอนุรักษ์และชื่นชมงานศิลปะวัฒนธรรมที่สำคัญด้วย
“ชื่องานภายในวัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร คือ “ช่างใต้ ไม่ช่างเถอะ” จัดแสดงผลงานช่างสกุลไทยปักษ์ใต้ และงาน Installation Art โดย Creative Nakhon มีคอนเซ็ปต์การจัดงานว่า อะไรที่ไม่สำคัญเรามักพูดว่า “ช่างเถอะ” แต่กับ “ช่างปักษ์ใต้” ทุกแขนง ครูผู้รังสรรค์ผลงานด้วยวัตถุดิบพื้นถิ่น บวกกับภูมิปัญญาที่ส่งต่อรุ่นต่อรุ่น ดีไซน์แต่ละชิ้นใช้งานได้จริง พิสูจน์ผ่านกาลเวลา เราจึงไม่อาจมองข้ามและไม่อาจกล่าวคำว่า “ช่างเถอะ” กับ “ช่างใต้” ได้เลย” ดร.จเรกล่าว
การจัดงานในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายในหลายจังหวัด เช่น ตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราชและสงขลา โดยศูนย์กลางการจัดงานหลักอยู่ที่เมืองเก่าสงขลาและนับเป็นงานสมโภช 106 ปี วัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร (วัดกลาง) พระอารามหลวง ซึ่งตรงกับวันที่ 17 สิงหาคม 2566 ด้วย จึงมีกิจกรรมทั้งการสวดมนต์ทำวัตรเย็น
ชมโนราคณะหงส์ฟ้า ดาราศิลป์ ปะทะการแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ตอน “กำเนิดหนุมานชาญสมร” โดยโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา และการแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ตอน “ลักสีดา-ข้ามสมุทร” โดยสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ที่พลาดไม่ได้คือ กิจกรรม “ครูช่างชวน Workshop” โดยครูช่างปักษ์ใต้ สไตล์ครีเอทีฟ เช่น ฝึกกรอด้าย เครื่องมือใต้โบราณ ทอโหก ฝึกทำตัวหนังตะลุง สร้างสรรค์งานกระจูด ทำจักสาน รวมทั้งตลาดลานวัด ชุมชนวัดกลางที่ชาวบ้านในชุมชนมีส่วนร่วมนำสินค้าและอาหารขึ้นชื่อมาจำหน่ายภายในงาน
นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมพิเศษอื่นๆ ที่นับเป็นซอพท์พาวเวอร์ (Soft Power) ที่สืบทอดต่อมาจากรุ่นสู่รุ่น ได้แก่ กิจกรรมโหราศาสตร์ โดยหมออุษา สาลิกาลิ้นทอง ลงนะหน้าทอง เสริมสิริมงคลกับชีวิต พลิกวิกฤตเป็นโอกาส หมอสมศักดิ์ ศิษย์อาจารย์ผ่อง วัดกลาง ดูดวงจักรราศี ตามวันเดือนปีเวลาตกฟาก หมอเมรี ตรวจดวงไพ่ยิปซี พื้นฐานดวง เช็คทิศทางชีวิตช่วงนี้เอาไงดี และกิจกรรมนวดแผนไทย โดยพี่หมอสาว หัตศาสตร์ ประสบการณ์นวดระดับนานาชาติกว่า 15 ปี และกิจกรรม จำหน่ายอาหาร ขนมพื้นเมืองอีกมากมายเต็มอิ่ม
ทั้งนี้ เทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้หรือปักษ์ใต้ดีไซน์วีค มีสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนงาน ซึ่งปัจจุบันกำลังก่อสร้างที่ทำการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สงขลา เพื่อดำเนินงานครอบคลุมภาคใต้ ตั้งอยู่บริเวณสถานีดับเพลิงเก่า ในย่านเมืองเก่าสงขลา