Home » ข่าว » “สุนทร” ชี้ทางแก้ที่ดินสวนยางเป้าเอกชนทำเกษตรเลี่ยงภาษี

“สุนทร” ชี้ทางแก้ที่ดินสวนยางเป้าเอกชนทำเกษตรเลี่ยงภาษี

เลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ชี้ภาษีที่ดินสวนยาง หน่วยงานออกกฎหมายไม่รอบคอบ คาดเป้าหมายจัดการเจ้าของที่ดินรายใหญ่ทำการเกษตรเลี่ยงภาษี เชื่อแก้ไขได้ไม่ยาก เพิ่มยกเว้นยางพารา
ตามประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่องหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 31 มกราคม 2566 การคิดอัตราการจ่ายภาษีที่ดินขั้นต่ำ ในส่วนของการปลูกยาง จากอัตราขั้นต่ำ 80 ต้นต่อไร่ เป็น 25 ต้นต่อไร่
นายสุนทร รักษ์รงค์ เลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า น่าจะเกิดจากกฎหมายที่ไม่จับคู่กัน ปัญหาระเบียบกฎหมายของประเทศไทย พรบ. ระเบียบต่าง ๆ 200,000 กว่าฉบับ
“การปลูกของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการปลูกเชิงเดี่ยว ก็คือ 3 คูณ 7 จำนวน 76 ต้น ก็ไม่ถึง 80 ต้นต่อไร่อยู่ดี”

เพราะฉะนั้น จึงเป็นการย้อนแย้งทางกฎหมาย ดังนั้น หลายฝ่าย แม้กระทั่งทางกยท.เองก็ได้ทำหนังสือชี้แจงแล้วก็ก่อให้เกิดการแก้ไขปรับปรุง ซึ่งเป็นการมองมิติเดียว มองไม่ครบทุกมิติ
“เขาไม่ได้มีเจตนา คือกฎหมายที่ดินมีปัญหาในเรื่องของพื้นที่ที่ดินว่างเปล่า ที่มีการเข้าไปทำการเกษตร เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีด้วยการทำการเกษตร” นายสุนทร กล่าว และว่า
จึงให้การออกประกาศดังกล่าว จึงเป็นมองในมิติเดียว โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาการเลี่ยงภาษีที่ดินของเจ้าของที่ดินรายใหญ่ด้วยวิธีการทำการเกษตร ซึ่งจะต้องปลูกเกิน 80 ต้น ถึงจะเรียกว่าการเกษตร

“เขาออกประกาศเพื่อไปดักไซพวกรายใหญ่ที่เลี่ยงภาษีที่ดิน แต่มีผลกระทบกับชาวสวนยาง”
ซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องยางไม่ว่าจะเป็นสมัยกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง มันก็ไม่ถึง 80 ต้นต่อไร่อยู่ดี เพราะฉะนั้นกระบวนการในเรื่องนี้ก็คงไม่ได้มีอะไรมาก
เชื่อว่าจะสามารถแก้ไขได้ ก็คือว่า ถ้าเป็นกรณียางพาราให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย ก็จบ ก็คือยกเว้นพืชยางพาราให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
หรือระบุให้ชัดก็คือให้เป็นไปตามพ.ร.บ. การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 ก็จบ ไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่อะไร ซึ่งทางกการยางแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินการ
“ผมในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการเครือข่ายสถาบันการยางแห่งประเทศไทย ระดับประเทศ จะได้นำเข้าวาระที่ประชุม และทางเครือข่ายเองได้ทำหนังสือให้การยางแห่งประเทศไทย”
เพราะฉะนั้นหน้าที่หลักก็คือ การยางแห่งประเทศไทย จะต้องต่อสู้แทนพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง ที่จะแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่อง
กรณีนี้คงไม่ได้เป็นกลั่นแกล้ง แต่เป็นการมองกฎหมายไม่รอบด้านมากกว่า การแก้ไขก็คงไม่ยาก เพราะเป็นแค่ระเบียบไม่น่าจะเป็น พ.ร.บ. ที่สามารถแก้ไขได้
“การแก้ไขในระเบียบแก้ไม่ยาก ทางออกก็คือไปยกเว้นยางพาราเสีย กรณียางพาราจำนวนต่อไร่ให้ยึดตามพ.ร.บ. การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 ทุกอย่างก็จบ”
ในขณะเดียวกัน นายสุนทร รักษ์รงค์ ก็ได้โพสต์เฟชบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม และวันที่ 17 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา

ดราม่าภาษีที่ดินสวนยาง

กรณี ประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่องหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 31 มกราคม 2566 โดยมีอัตราขั้นต่ำของการประกอบเกษตรกรรมต่อไร่ ในบัญชีแนบท้าย ก.ของประกาศฯ โดยกำหนดให้การปลูกยางพารามีอัตราขั้นต่ำ 80 ต้นต่อไร่ ซึ่งขัดแย้งกับพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ที่ได้กำหนดคำจำกัดความว่า”สวนยาง”โดยเฉลี่ยต้องปลูกยางไม่น้อยกว่าไร่ละ 25 ต้น

ในขณะนี้ประเด็นดังกล่าวได้รับความสนใจในวงกว้าง และสร้างความตื่นตระหนกให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ ทั้งนี้เป็นเพราะการปลูกยางพาราส่วนใหญ่มีระยะการปลูก 3 × 7 เมตร เท่ากับ 76 ต้นต่อไร่หรือกรณีปลูกแบบสวนอย่างยั่งยืน จะมีต้นยางไม่เกิน 60 ต้นต่อไร่ ทั้ง 2 แบบการปลูกยางก็น้อยกว่า 80 ต้นต่อไร่อยู่ดี

ข้อเท็จจริง

พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 เป็นภาษีที่ดินใหม่ มาแทนที่การจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ รวมถึงภาษีโรงเรือนและที่ดิน ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้วก่อนหน้านี้ เพื่อปรับปรุงระบบภาษีเดิม และกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินมากขึ้น
มาตรา 37
ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างให้จัดเก็บภาษีตามอัตราดังต่อไปนี้

  1. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมให้มีอัตราภาษีไม่เกินร้อยละ 0.15
  2. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยให้มีอัตราภาษีไม่เกินร้อยละ 0.3
  3. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอื่นนอกจาก(1)หรือ(2)ให้มีอัตราภาษีไม่เกินร้อยละ 1.2
  4. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพให้มีอัตราภาษีไม่เกินร้อยละ 1.2 (แต่จะปรับเพิ่มอัตรา 0.3 % ทุกสามปีในอัตรารวมไม่เกิน 3%)

สรุป ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม เพดานภาษีสูงสุด 0.15% ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย เพดานภาษีสูงสุด 0.30% ที่ดินเพื่อพาณิชยกรรม เพดานภาษีสูงสุด 1.20% ที่ดินรกร้างว่างเปล่า เพดานภาษีสูงสุด 3.00%

ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพ.ศ. 2564 กำหนดให้ใช้มูลค่าที่ดินเป็นการกำหนดอัตราภาษี เช่น ภาษีที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมูลค่าที่ดิน 0-75 ล้านบาท มีอัตราภาษี 0.01%
มาตรา 40
ในกรณีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของเป็นบุคคลธรรมดา ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมอยู่ภายในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด ให้ได้รับยกเว้นมูลค่าของฐานภาษีของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างภายในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น รวมกันในการคำนวณภาษี ไม่เกิน 50 ล้านบาท

สรุป หากมีที่ดินทำการเกษตรมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาทจะได้รับการยกเว้นภาษีที่ดิน

จากข้อเท็จจริงข้างต้นสรุปได้ว่า

กรณีสวนยางพารา ซึ่งในปัจจุบันเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย การถือครองถัวเฉลี่ยไม่เกิน 12 ไร่ต่อราย สมมติสวนยางมีมูลค่าไร่ละ 200,000 บาท รวม 12 ไร่ มูลค่าประมาณ 2,400,000 บาท ซึ่งมีมูลค่าน้อยกว่า 50 ล้านบาท จึงได้รับการยกเว้นภาษีที่ดินตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพ.ศ. 2562 แต่ผู้ได้รับผลกระทบน่าจะเป็นเกษตรกรชาวสวนยางรายใหญ่ที่มีสวนยาง รวมมูลค่าเกินกว่า 50 ล้านบาท

ข้อเสนอ

1.ประเด็นความผิดพลาดการกำหนดอัตราขั้นต่ำการปลูกยางพารา 80 ต้นต่อไร่ ตามประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย ต้องได้รับการดำเนินการแก้ไข เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2558 นั่นก็คืออัตราขั้นต่ำการปลูกยางพารา 25 ต้นต่อไร่ อันเป็นการป้องกันเพื่อไม่ให้เกษตรกรชาวสวนยางได้รับความเดือดร้อน จากการจ่ายภาษีที่ดินตามสัดส่วนการใช้ประโยชน์ กรณี ทำเกษตรกรรมไม่เต็มพื้นที่ เลวร้ายที่สุด หากมีการตีความว่า การปลูกยางน้อยกว่า 80 ต้นต่อไร่ ไม่ใช่การใช้ที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ประกอบเกษตรกรรม ยุ่งตาย…555
จึงเรียนพี่น้องชาวสวนยางทั่วประเทศว่าไม่ต้องตื่นตระหนกตกใจ หรือกังวลใจจนมากเกินไป #กรณีการจ่ายภาษีที่ดินสวนยาง ซึ่งประเด็นอัตราขั้นต่ำจำนวนต้นยางพาราต่อไร่ ขณะนี้ทราบว่าการยางแห่งประเทศไทย และกระทรวงที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน
2.กรณีเป็นที่ดินของรัฐ เช่น สปก.หรือที่ดินได้มาซึ่งสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐตามกฎหมาย เช่น แปลงรวม คทช.จะไม่ได้รับการยกเว้นภาษีที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ถ้ามูลค่า 0-75 ล้านบาท ต้องจ่ายภาษีที่ดินในอัตรา 0.01% หรือประมาณไร่ละ 100 บาท
กรณีนี้ #เป็นความเหลื่อมล้ำที่รัฐบาลต้องแก้ไข เพื่อให้เกษตรกรที่อยู่ในที่ดินของรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจนหรือผู้ไร้ที่ทำกินมาก่อน ได้รับสิทธิการยกเว้นภาษีที่ดิน เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดาที่ถือครองที่ดินเพื่อเกษตรกรรรม มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ที่ได้รับการยกเว้นภาษีที่ดินตามมาตรา 40

ไม่เสียสละชัยชนะไม่เกิด

สุนทร รักษ์รงค์
เลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย
16 สิงหาคม 2566
//////////

ดราม่าภาษีที่ดินสวนยาง ตอนที่ 2

///////////////
มีข้อกังวลว่า ถ้าตามประกาศของกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย) กำหนดต้องปลูกยางไม่น้อยกว่า 80 ต้นต่อไร่ จึงจะเป็นการใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรรม (ปัจจุบันการปลูกยาง ส่วนใหญ่ 76 ต้นต่อไร่ และ พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย กำหนดให้สวนยางอย่างน้อยต้องมีต้นยางเฉลี่ย 25 ต้นต่อไร่) สรุปคือ อาจไม่ได้รับการยกเว้นภาษีที่ดิน ตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562

ผมมองว่ากังวลเกินเหตุ

เพราะหากการทำสวนยางพาราน้อยกว่า 80 ต้นต่อไร่ มิใช่เป็นการทำเกษตรกรรม (หรือง่ายๆ การทำสวนยางไม่ใช่เกษตรกรรรม) ก็เป็นตลกเศร้าของกะลาแลนด์ ในขณะที่มีการเลี้ยวโค้งเลี่ยงภาษีแพง เพราะไม่ให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า กรณี ปลูกมะนาว กล้วย มะพร้าว ในที่ดินเขตเมืองใหญ่ เพื่อให้เป็นการทำเกษตรกรรม

ตรรกวิบัติ ถ้าเป็นจริง จะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว แค่ราคายางตกต่ำชาวสวนยางก็ลำบากมากพอแล้ว

สุนทร รักษ์รงค์
เลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย
17 สิงหาคม 2566

สำนักข่าวโฟกัส
สมชาย สามารถ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *