“เกษตรจังหวัดสงขลา” ยกนาทวีนำร่องส่งเสริมอาชีพการเกษตรตามอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่น พร้อมกำหนดแนวทางการพัฒนาสู่ทุเรียนต้นแบบคุณภาพ 100% เผยอำเภอนาทวี สะบ้าย้อยรัตภูมิ เป็นแหล่งปลูกที่ให้ผลผลิตมากสุด
10 สิงหาคม 2566 นายกองเอก พุทธ กฤชคงพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานเปิดโครงการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตร อัตลักษณ์พื้นถิ่น กิจกรรมส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรตามอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่น ณ บ้าน นายวิระ วิศพันธุ์ หมู่ที่ 4 ต.สะท้อน อ.นาทวี จ.สงขลา ซึ่งจัดโดยสำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลา ร่วมกับ สำนักงานเกษตรอำเภอนาทวี และชมรมคนกินกาแฟแลสวนเรียนสะท้อนนาทวีสงขลา เพื่อร่วมกำหนดแนวทางการพัฒนาทุเรียนจังหวัดสงขลา สู่ทุเรียนต้นแบบคุณภาพ 100%
มี นายวุฒิศักดิ์ เพชรมีศรี เกษตรจังหวัดสงขลา นางปิยรัตน์ ลัภกิตโร เกษตรและสหกรณ์จังหวัดสงขลา นางสาวธัญพร น้อยเสงี่ยม ประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา นางชนัญชิดา หนูสีคง เกษตรอำเภอนาทวี พร้อมผู้แทนนายอำเภอนาทวี ผู้แทนพาณิชย์จังหวัดสงขลา และเกษตรกร เข้าร่วมโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา มอบใบรับรองมาตรฐาน GAP แก่เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนอำเภอนาทวี จำนวน 10 ราย
จากนั้น รองผู้ว่าฯ สงขลา พร้อมส่วนราชการ ร่วมตัดทุเรียนมีดแรก และเยี่ยมชมการตรวจเปอร์เซ็นต์แป้งในทุเรียน โดยผลตรวจแป้งทุเรียนพันธุ์หมอนทองของนายวิระ วิศพันธุ์ พบมีค่า 37% ซึ่งค่ามาตรฐาน 32% ถือเป็นทุเรียนที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน GAP โดยสวนทุเรียนนายวิระฯ พื้นที่ 12 ไร่ มีทุเรียน 263 ต้น ปีนี้เก็บเกี่ยวเป็นปีที่ 2 มีผลผลิตกว่า 10 ตัน
นายบุญชอบ เต็มรัตน์ ประธานชมรมกินกาแฟและสวนเรียนสะท้อนนาทวีสงขลา เผยว่า ในช่วงแรก
เริ่มการตั้งชมรมกินกาแฟแลสวนเรียนสะท้อนนาทวีสงขลา มีสมาชิก 5-6 คน ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 100 ราย
มีต้นทุเรียนรวมกันกว่า 20,000 ต้น ถือว่าชมรมได้พัฒนาขึ้นเป็นอย่างมาก
ทางชมรมได้มีการพัฒนาโดยมุ่งให้ทุเรียนของอำเภอนาทวี ติดอันดับ 1 ของจังหวัดสงขลาด้วยคำขวัญ “ไม่เสียสละ ชัยชนะไม่เกิด” พร้อมกำหนดวัตถุประสงค์ของชมรม 3 ประการ คือ (1) ชมรมมีความรัก ความสามัคคี ซึ่งตอนนี้
ประสบความสำเร็จเพราะสมาชิกทุกคนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี (2) แลกเปลี่ยนเรียนรู้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน (3) ทำให้ทุเรียนยืนต้นอย่างสวยงาม อุดมสมบูรณ์จังหวัดสงขลา มีพื้นที่ปลูกทุเรียน 22,900 ไร่ ใน 12 อำเภอ พื้นที่ที่ให้ผลผลิตแล้ว 18,229 ไร่ โดย อำเภอที่มีพื้นที่ให้ผลผลิตทุเรียนมากที่สุด ได้แก่ นาทวี 6,231 ไร่ สะบ้าย้อย 4,442 ไร่ รัตภูมิ 2,158 ไร่ สะเดา
1,405 ไร่ และจะนะ 1,360 ไร่ รวม 15,596 ไร่ คิดเป็น ร้อยละ 85.56 จังหวัดสงขลามีการพัฒนาทุเรียน ดังนี้
1. ส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ทุเรียน
2. ยกระดับคุณภาพมาตรฐาน GAP ครอบคลุมทุกแปลง (ทุเรียน)ในปี 2569
3. ควบคุมการซื้อขายทุเรียนป้องกันทุเรียนอ่อน ตามมาตรการจังหวัดสงขลา ปี 2566
4. จัดการความรู้การผลิตทุเรียนคุณภาพเชิงพื้นที่ และ 5. ตั้งสมาคมหรือสมาพันธ์ เพื่อให้การบริหารจัดการด้านการผลิตและการตลาดมีความคล่องตัวขึ้น