เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งใน 5 จังหวัดภาคใต้ ร่วมจัดตั้ง “เครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทยพัฒนาเพื่อความยั่งยืน” พร้อมยื่นข้อเรียกร้องรัฐบาล ยุติการนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศทันที และให้พัฒนาการเลี้ยงกุ้งไทยหลังราคาตกต่ำรุนแรง หวังลดต้นทุน โดยใช้เวลา 1 เดือน ก่อนขับเคลื่อน
กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งใน 5 จังหวัดภาคใต้ได้แก่ ตรัง พัทลุง สงขลา ปัตตานี และสตูล รวมตัวกันจัดตั้ง “เครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทยพัฒนาเพื่อความยั่งยืน” ขึ้น โดยรวบรวมปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาเสนอต่อรัฐบาล เพื่อสร้างเครือข่ายขับเคลื่อนอุตสาหกรรมกุ้งให้พัฒนาอย่างถูกต้อง และยั่งยืน รวมถึงเผยแพร่ความรู้ ทางวิชาการ รวมรวมแนวทางการเลี้ยงกุ้งที่ถูกต้อง
โดยได้ร่วมประชุมวาระเร่งด่วน เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล หลังประสบปัญหาราคากุ้งตกต่ำอย่างรุนแรงและยาวนาน ใน 5 ประเด็น ได้แก่ ยกเลิกมาตรการนำเข้ากุ้งจากต่างชาติทันที ลดปัญหาราคากุ้งตกต่ำ /วางแนวทางการลดต้นทุนการผลิต ด้วยการให้รัฐบาลสนับสนุนแก้ไขปัญหาทุกมิติ เช่น ลดราคาพลังงาน ไฟฟ้า น้ำมัน แก๊ส / สร้างฟาร์มต้นแบบที่เกษตรกรสามารถเรียนรู้ได้ เพิ่มช่องทางการให้ความรู้กับเกษตรกร / เพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับเกษตรกร และ ตั้งกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทย
นายอักษร ขจรกาญจ์กุล ประธานเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทยพัฒนาเพื่อความยั่งยืน เผยว่า เตรียมที่จะยื่นข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาลผ่านระบบอิเลคทรอนิคส์ แล้วจะดูท่าทีในการดำเนินการ แต่หากไม่ได้มีแนวทางที่ชัดเจนในการแก้ปัญหา ก็คงจะต้องร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อยกระดับการเคลื่อนไหว โดยจะให้เวลาในการแก้ปัญหาไม่เกิน 1 เดือน เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนจากราคาที่ตกต่ำมานานกว่า 1 ปี ในขณะที่ต้นทุนการผลิตก็สูงขึ้น แบกภาระขาดทุนมานาน
“ปัญหาหลักมาจากการที่บอร์ดกุ้ง นำเข้ากุ้งจากเอกวาดอร์และอินเดียในปีที่ผ่านมาถึง 3 หมื่นตัน” นายอักษร กล่าว และว่า
หากไม่มีหยุดการนำเข้ากุ้งทีนที ในอนาคตอันใกล้เชื่อว่าอาชีพการเลี้ยงกุ้งจะล่มสลายไปอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 1 ปีหลังจากที่มีการนำเข้ากุ้ง พบว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งที่สายป่านสั้นได้หยุดการเลี้ยงไปแล้วไม่น้อยกว่าครึ่ง แม้แต่เกษตรกรที่สายป่านยาว บางรายก็ชะลอการตัดสินใจเลี้ยงออกไป เนื่องจากไม่มั่นใจในเรื่องราคา