นักวิชาการ สื่อมวลชน และภาคประชาสังคมชายแดนใต้ ร่วมสะท้อนมุมมองการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านการประชาสัมพันธ์เชิงรุก ของ ศอ.บต
โดยเน้นการสื่อสารในมิติด้านการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ..แก่เครือข่ายสู่ความเข้าใจ โดยประชาชนสามารถนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์
ผู้เข้าร่วมจากกิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็นในการจัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนงานประชาสัมพันธ์เชิงรุกของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ระยะ 4 ปี (2567-2570) โดยกลุ่มงานประชาสัมพันธ์ ดึงสื่อมวลชนภาครัฐภาคเอกชน นักวิชาการด้านสื่อมวลชน ผู้แทนจากภาคประชาสังคม ผู้แทนจากสำนัก/กอง ศอ.บต. มาร่วมระดมความคิดเห็นนำเสนอแผนการประชาสัมพันธ์ที่จะขับเคลื่อนร่วมกันในอีก 4 ปีข้างหน้า ระหว่างวันที่ 6-8 กันยายน 566 ณ โรงแรมรอยัล ฮิลล์ อ.ละงู จ.สตูล เพื่อให้เป็นไปในทิศทางที่เป็นรูปธรรมและมีความชัดเจนมากขึ้น
โดยมีการระดมสมองอย่างเข้มข้น และการแบ่งกลุ่มนำเสนอแผนการสื่อสารที่จะทำในอีก 4 ปีข้างหน้า จากสถานีความคิดในด้านการสร้างเครือข่าย..ให้มีความเข้มแข็ง โดยมีศอ.บต.ร่วมบูรณาการร่วมกับสื่อมวลชนทุกแขนง นักวิชาการ และภาคประชาสังคมขับเคลื่อนงานสื่อสารในพื้นที่ 5 จังหวัดอย่างมีจรรยาบรรณและมีความรับผิดชอบในสารที่สื่อออกไปถึงประชาชนและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
รวมถึงสร้างช่องทางการสื่อสารเป็นของ ศอ.บต.เอง ในทุกแพลตฟอร์มตามยุคสมัย โดยพัฒนาบุคลากรให้เชี่ยวชาญขึ้นมาดูแลรับผิดขชอบและต่อยอดเครือข่ายด้วยการดูแลอย่างมีมาตรฐาน
ด้านกลยุทธ์การสื่อสาร สร้างคลังข้อมูลข่าวสารกลางที่ทุกภาคส่วนเข้าไปค้นหาข้อเท็จจริงได้สามารถรับรู้ข้อมูลที่ตรงกัน มีการจัดงบประมาณการสื่อสารในช่องทางสื่อใหม่ นำเสนอเนื้อหาข่าวด้วยผลลัพธ์ที่ประชาชนได้รับเป็นหลัก ตรงตามกระบวนการทำงานของศอ.บต. และสามารถบูรณาการงานด้านการพัฒนาและความมั่นคงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้านรูปแบบ/ช่องทางการสื่อสาร สร้างแพลตฟอร์ม ที่เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มวัยตามยุคสมัย และสามารถสื่อสารได้หลากหลายภาษาที่เหมาะสม เช่น ไทย มลายู อังกฤษ อาหรับ จีน พัฒนาศักยภาพสื่อบุคคล เช่น บัณฑิตอาสา ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการสื่อสารเพื่อพัฒนาความมั่นคงในพื้นที่ และมีTiktokerขับเคลื่อนงานสื่อสารใน 5 จังหวัดด้วย
นายตูแวดานียา มือรีงิง ผู้สื่อข่าวช่อง 3 ประเทศมาเลเซีย ประจำภาคใต้ ได้สะท้อนมุมมองแนวทางการประชาสัมพันธ์ในระยะ 4 ปี ว่า กิจกรรมที่จัดขึ้นถือเป็นการเปิดช่องทางในมิติใหม่เพื่อสร้างเครือข่ายการสื่อสาร ให้สามารถสื่อสารไปถึงระบบข้อมูลตรงตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ดังนั้น อนาคตข้างหน้ร อยากให้มีการประชาสัมพันธ์เชิงรุก เน้นการใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ประชาชนรากหญ้าเข้าถึงได้ เช่น การสื่อสารด้วยภาษาถิ่น ภาษามลายู หรือภาษาที่ประเทศเพื่อนบ้านสามารถเข้าใจได้ เนื่องจากในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่หลากหลายเชื้อชาติ ศาสนา รวมถึงเป็นพื้นที่ที่อยู่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน
“การใช้ภาษามาเป็นตัวสื่อสารถือเป็นเรื่องที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจตลอดจนสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาในพื้นที่ได้ แต่ทั้งนี้จะต้องไม่มีข้อจำกัดของการใช้ภาษา” นายตูแวตานีนา กล่าว
ขณะที่ นายศุภฤกษ์ เวศยาสิรินทร์ อาจารย์ประจำหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา กล่าวว่า ปัจจุบันบทบาทขององค์กรในการสื่อสารที่จะต้องรับเปลี่ยนวิธีคิด รูปแบบเครื่องมือต่างๆ ตั้งแต่ระดับผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติการ ตลอดจนเครือข่ายการสื่อสารของ ศอ.บต.ในพื้นที่ หากไม่มีการปรับรูปแบบการสื่อสารเหล่านี้ อาจจะทำให้การสื่อสารไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ตามที่ตั้งไว้
โดยเฉพาะภาพลักษณ์ของพื้นที่ที่จะต้องยอมรับถึงสถานการณ์ความไม่สงบฯที่เกิดขึ้น อาจจะนำหลักทฤษฎี 8 ลู่ 365 วัน ซึ่งได้แก่ 1.การสื่อสารภาวะวิกฤต 2.การสื่อสารผ่านสื่อหลัก 3.การสื่อสารผ่านสื่อใหม่ 4. Marketing (การตลาด) 5.การสร้างเครือข่าย(บัณฑิตอาสา) 6.ส่วนงานประชาสัมพันธ์ ศอ.บต. 7.การพัฒนาศักยภาพทีม ศอ.บต. และ 8. การสร้างความเข้าใจเพื่อนำไปสู่การพัฒนา เป็นต้น
“นำมาปรับใช้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และให้บุคลากรปรับเปลี่ยนการสื่อสารจากเดิมที่ใช้สื่อหลักให้เปลี่ยนเป็นการสื่อสารมิติใหม่เข้ามาเป็นตัวช่วยในกระบวนการ เพื่อให้การสื่อสารสามารถไปถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
อีกทั้ง เครือข่ายบุคคลจะต้องมีการพัฒนาสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านการรับรู้ เข้าใจกับผู้รับสารทั้งภายในและภายนอกต่อไปด้วย
ด้าน นางสาววรรณกนก เปาะอิแตดาโอะ นายกสมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ มองว่า การทำงานใน 4 ปี ข้างหน้าของศอ.บต. อยากจะเห็นความร่วมมือของทุกภาคส่วนบูรณาการทำงานร่วมกันสร้างความเข้าใจให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับรู้ถึงนโยบาย และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างถูกต้อง ชัดเจน
ที่ผ่านมา ภาคประชาสังคมหลายกลุ่มได้เข้ามาขับเคลื่อนงานร่วมกับภาครัฐอย่างต่อเนื่องเติมเต็มการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
อีกทั้ง ประชาชนจะได้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมไม้ร่วมมือในการขับเคลื่อนงานของศอ.บต.ไปด้วยกัน และสื่อสารเรื่องราวต่าง ๆ จนเกิดความรู้สึกสำนึกในความเป็นพลเมืองไทยต่อไป