รองผู้ว่าฯ สงขลา ฝากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3 ภารกิจหลัก ทำหน้าที่เจ้าพนักงานรับเรื่องราวร้องทุกข์จากคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เร่งการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบ เชื่อจะช่วยแก้ปัญหาข้อพิพาทให้จบในพื้นที่
24 สิงหาคม 2566 ณ ห้องประชุมอ๊อกฟอร์ด ชั้น 1 โรงแรมคริสตัล อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา สำนักงานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัดสงขลา จัดประชุมสัมมนา “โครงการยกระดับการดำเนินการด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นประจำจังหวัดสงขลา” โดยมีตัวแทนเทศบาลนคร/เทศบาลเมืองทุกแห่ง เทศบาลตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบล ในพื้นที่ทุกแห่งรวมจำนวน 140 คน เข้าร่วม โดย นายวรณัฎฐ์ หนูรอต
รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานเปิด พร้อมด้วย นายอุฬาร จิ๋วเจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และ นายรุ่งโรจน์ และสุบ ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสงขลา กล่าวรายงาน
นายวรณัฎฐ์ หนูรอต กล่าวว่า ภารกิจที่สำนักงานผู้บริโภคหลักให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยหลัก ๆ น่าจะเป็น 3 ประการคือ การประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนได้รู้ว่าตอนนี้ภาระหน้าที่บางประการ ที่สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคมอบภารกิจให้กับพวกเรา เพราะจะได้มีเรื่องมีราวที่พี่น้องประชาชนได้รับความเป็นธรรมในการที่ผู้ขาย
สินค้า หรือผู้ให้บริการ ทำให้ผู้ซื้อรู้สึกว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม “ผู้ให้บริการและผู้รับบริการหรือพี่น้องประชาชนรู้สึกว่าไม่ได้เป็นไปตามสิ่งที่คุยกัน ไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานที่พึงกระทำให้กับพวกเรา นี่คือ
อย่างแรกที่เราต้องประชาสัมพันธ์” ประการที่สอง หน้าที่หลักของพวกเรา และคิดว่าตรงกับใจของผู้บริหารท้องถิ่นคือ ภาระหน้าที่ในการรับเรื่องราวร้องทุกข์ เชื่อว่ากรณีมีความไม่สบายใจ กรณีรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรม
“มีความรู้สึกว่า ตัวเองไม่ได้รับการบริการคุ้มกับสิ่งที่สมควรได้รับ ไม่คุ้มกับเม็ดเงินที่อยู่ในกระเป๋า ความรู้สึกว่า ตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรม”
ถ้าเกิดมีหน่วยงานที่อยู่ใกล้บ้านที่สุด คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถรับเรื่องได้ แล้วก็สามารถดำเนินการให้จบได้ที่บ้านเรา และสามารถไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อ มานั่งคุยกันไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับบริการมาพูดคุยกัน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งสองด้าน จากที่ดูมาตรการดำเนินการ สามารถมอบอำนาจให้กับพวกเรา โดยเฉพาะผู้บริหารท้องถิ่นก็เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พอเป็นเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ อำนาจและหน้าที่ ๆ จะต้องตามมาก็คือ พวกเราท้องถิ่นสามารถดำเนินการตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคได้ เช่น เรียนเชิญผู้ประกอบการ ผู้ขายสินค้ามาพบ สามารถที่จะเรียนเชิญผู้ที่คิดว่าตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรมเข้ามาพบ มาพูดคุยกัน
“บางกรณีเราก็สามารถเปรียบเทียบความผิดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ นี่คือเรื่องที่สองที่เป็นเรื่องของการรับเรื่องราวร้องทุกข์” รองผู้ว่าฯ สงขลา กล่าว และว่า
ภารกิจที่สาม ที่เป็นภารกิจของท้องถิ่นเช่นกัน ก็คือ ตรวจตราหาข้อมูลข่าวสารว่าผู้ขาย ผู้บริการได้กระทำตามธรรมาภิบาลที่เขาทำหรือไม่ เช่น โฆษณาขายของ แต่ว่าของที่เขาขายมันเป็นแบบนี้หรือไม่ บางกรณีไม่จำเป็นต้องมีผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนชัด ๆ เพียงแต่มีเบาะแส เป็นภาระหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สามารถเข้าไปสอบถาม เข้าไปตรวจตรา ตามอำนาจหน้าที่ ๆ พวกเรากระทำได้
“นี่คือภารกิจหลักสามอย่างที่พวกเราองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะได้ทำ และเชื่อว่าหน้าที่ของผู้บริหารท้องถิ่น หน้าที่ของพนักงานส่วนท้องถิ่น” ซึ่งมีความใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชนมากที่สุด และที่สำคัญยิ่ง คนที่จะเป็นนายกองค์การบริหารส่วนบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ล้วนแต่มาจากความตั้งใจ ล้วนมาจากความต้องการของพี่น้องประชาชนทั้งสิ้น
“ปลัดกระทรวง ท่านอธิบดี ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และท่านนายกรัฐมนตรีไม่ได้ส่งนายกเทศมนตรี มาให้ท่าน ไม่ได้ส่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล มาให้ท่าน ตำแหน่งที่กล่าวถึงไม่มีอำนาจในการโยกย้ายและแต่งตั้งผู้บริหารท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่นเป็นตามกฎหมายที่ให้พี่น้องประชาชนเลือกคนที่จะมาดูแลทุกข์สุขให้กับพี่น้องประชาชน ถ้าเกิดคนที่เราเลือกมาดูแลทุกข์สุขของเรา มีโอกาสที่จะดูแลความเดือดร้อนของเรา ในวันที่เราไม่ได้รับความเป็นธรรม”
จึงมั่นใจความสุขที่เกิดจากการพูดคุย การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเกิดขึ้นโดยสวยงามและง่าย ในทางกลับกันถ้าเกิดพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจไม่ได้กำหนดในเรื่องที่พี่น้องประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่ได้มอบอำนาจ
ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เวลาที่พี่น้องในตำบลในหมู่บ้าน ก็ต้องผ่านอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคระดับจังหวัด สอบสวน แจ้งให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องชี้แจงถ้าเกิดไม่จบ ก็ต้องส่งไปยังคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคส่วนกลาง แต่สุดท้ายเรื่องก็ต้องย้อนกลับมาหาพื้นที่อยู่ดี แทนที่จะจบในพื้นที่ก็ต้องย้อนไปข้างบนแล้วก็ลงมาข้างล่าง
“การรอคอยมันทรมาน อะไรก็ตามถ้าเกิดเป็นความทุกข์ แล้วเรารอ และไม่ได้รับการแก้ไข ไม่ได้รับการเยียวยา มันนาน เขาบอกว่าอะไรก็ตามถ้าเป็นเรื่องของความทุกข์เวลามันจะเดินช้า” นายวรณัฏฐ์ กล่าว
ขณะเดียวกัน วันที่ 17 สิงหาคม 2566 นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้มีคำสั่งจังหวัดสงขลา จำนวน 3 คำสั่งด้วยกัน ประกอบด้วย
- คำสั่งจังหวัดสงขลา ที่ 4088/2566 เรื่อง แต่งตั้ง
คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัดสงขลา, 2. คำสั่งจังหวัดสงขลา ที่ 4089/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้บริโภคประจังหวัดสงขลา แลเะ 3. คำสั่ง
จังหวัดสงขลาที่ 4090/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการผู้มีอำนาจเปรียบเทียบความผิดที่เกิดขึ้นในจังหวัดสงขลาและมอบหมายให้ดำเนินการเปรียบเทียบความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522