รองประธานสภาวิทยาลัยชุมชนสงขลา “นายชัยวุฒิ บุญวิวัฒนาการ” ในฐานะที่ทำงานกับวิทยาลัยชุมชนสงขลามาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง กล่าวถึง ระบบที่ยังเป็นจุดอ่อนจากโครงสร้างที่รวมศูนย์อำนาจบริหาร และจุดแข็งการทำงานของวิทยาลัยชุมชนสงขลา รวมทั้งจุดยืนและแนวทางการจัดการหลักสูตรใหม่ ๆ ของวิทยาลัยแห่งนี้ว่า
แต่เดิมการก่อตั้งของวิทยาลัยชุมชนเกิดจากท่านองคมนตรี เกษม วัฒนชัย ซึ่งขณะนั้นท่านเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ท่านเป็นผู้เริ่มก่อตั้ง ซึ่งถือเป็นการกระจายอำนาจที่แท้จริง
เพราะแต่เดิมอำนาจจะอยู่ที่สภาวิทยาลัยของแต่ละจังหวัด แต่เมื่อมีการออกพระราชบัญญัติปี 2558 ขึ้นมา อำนาจจึงรวมศูนย์ที่ส่วนกลาง
ข้อแตกต่างคือ โดยสถานศึกษาทั่วไปเป็นนิติบุคคล แต่วิทยาลัยชุมชนไม่เป็นนิติบุคคลเหมือนโรงเรียนต่าง ๆ เมื่อมีพระราชบัญญัติขึ้นมา โดยรูปแบบจึงเป็นการรวบอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ย่อมไม่สามารถเข้าใจบริบทความเป็นพื้นที่ได้
“ในช่วงแรก ๆ ของการก่อตั้ง เป็นการกระจายอำนาจ ในแต่ละพื้นที่มีอำนาจในการตัดสินใจดำเนินงานต่าง ๆ ได้ในพื้นที่เลย นอกจากเรื่องหลักสูตรในระยะยาวหรือหลักสูตรระดับอนุปริญญา แต่เรื่องอื่น ๆ อนุมัติในพื้นที่ทั้งหมด แต่เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารของวิทยาลัยชุมชนหลังมีพระราชบัญญัติขึ้นมา เมื่อทุกอย่างถูกรวบไปไว้ที่ส่วนกลางก็เหมือนการตัดเสื้อที่ถูกตัดมาให้จากส่วนกลาง ไม่พอเหมาะหรือเหมาะเจาะกับเรา ซึ่งเมื่อก่อนเราเคยทำได้เอง” รองประธานสภาวชช.สงขลา กล่าว และว่า
ก่อนหน้านี้ งบประมาณรายได้ของวิทยาลัยชุมชนอยู่ที่การพิจารณาของสภาวิทยาลัย แต่ตอนนี้ขึ้นอยู่กับส่วนกลางทั้งหมด ดังนั้น จุดอ่อนของการทำงานจึงอยู่ที่โครงสร้าง ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทั้ง ๆ ที่โดยความเป็นจริง ทุกวันนี้ในแทบทุกมิติในการบริหารราชการ เราต่างเรียกร้องเรื่องการกระจายอำนาจ แต่เพราะความคิดของส่วนกลางที่ว่าต่างจังหวัดอาจไม่มีความรู้ความเข้าใจ จึงได้ใช้วิธีบริหารแบบสั่งการลงมา จุดอ่อนของเราจึงอยู่ที่การรวบอำนาจ
“จุดแข็งของวิทยาลัยชุมชน คือการทำงานที่มีความอดทน มีความอึด ถึกทน มีความพยายามที่สูงมากในการพัฒนาทั้งด้านการจัดการศึกษาและพัฒนาชุมชน เพราะนับตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์คณาจารย์ต่าง ๆ ก็จะลงพื้นที่ในชุมชนแสวงหาความต้องการของชุมชน พอเสาร์อาทิตย์ก็ทำการสอนนักศึกษา คือทำงานทั้ง 7 วันในหนึ่งสัปดาห์ ไม่มีวันหยุดเลย ไม่มีหน่วยราชการไหนทำงานได้ขนาดนี้”
นายชัยวุฒิ กล่าวถึงการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ สร้างเศรษฐกิจชุมชน และแนวทางในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพว่า ทางสภาวิทยาลัยฯ ได้พยายามให้ความคิดเห็นไป แต่ด้วยข้อจำกัดของการทำงานแบบราชการ บวกกับการทำงานที่มากคือ 7 วันต่อสัปดาห์ ทำให้จิตวิญญาณของการเป็นผู้ประกอบการเป็นไปได้ยาก
เพราะฉะนั้น การจะแปลงผลิตภัณฑ์ให้ขึ้นมาในระดับ Commercial หรือการค้าขายที่จริงจังเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก ด้วยเงื่อนไขเวลาการทำงานและความเป็นราชการ
“ยกตัวอย่าง ผมเคยเสนอให้มีการจ้างผู้จัดการมูลนิธิวิทยาลัยชุมชน แต่ก็ติดขัดกันว่าจะเสียเงินไม่คุ้มค่าจ้างหรือไม่ ทั้ง ๆ ที่นี่เป็นวิธีการทำงานที่จะทำให้งานเกิดประสิทธิผล เป็นการลงทุนที่มุ่งความสำเร็จ ซึ่งย่อมหวังผลที่ได้รับมากกว่าการลงทุน เป็นแนวคิดของความเป็นผู้ประกอบการ แต่ในความคิดแบบราชการมีความลังเลไม่มั่นใจ นี่เป็นข้ออ่อนของ
ความเป็นราชการไทยอยู่”
ในแง่การทำงานชุมชน ถือว่าวิทยาลัยชุมชนสงขลาตอบโจทย์การพัฒนาอย่างมากและเห็นได้ชัด ยกตัวอย่าง ผ้าทอบ้านสะพานพลา อ.นาทวี จากที่เขาไม่มีความรู้เลย แต่หลังจากที่วิทยาลัยชุมชนสงขลาเข้าไปส่งเสริมผลักดัน จนวันนี้สามารถพัฒนาการทอผ้าไปไกลมาก จนลูกสาวตัดสินใจลาออกจากราชการมาทำผ้าทอ ถือเป็นความสำเร็จหนึ่งจากหลาย ๆ พื้นที่ นั่นคือมีความเข้มแข็งจากการสนับสนุนของวิทยาลัยชุมชนฯ
ส่วน ผ้าทอบ้านล่องมุด อ.เทพา ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วประเทศ หรือกาแฟโรบัสต้าสะบ้าย้อยที่วิทยาลัยฯ เข้าไปเริ่มต้น จนวันนี้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง
นี่เป็นความสำเร็จในความเห็นของผม คือ ชุมชนมีความเข้มแข็งสามารถยืนหยัดด้วยตัวเองได้”
ในปีการศึกษาหน้า (2567) เราพยายามเน้น
ทำเรื่องหลักสูตรเกี่ยวกับสหกรณ์ นำร่องโดยการ
เห็นชอบของกรมส่งเสริมสหกรณ์ เราคิดว่าจังหวัดสงขลาเป็น “เมืองแห่งสหกรณ์” มีสหกรณ์ใหญ่หลายแห่งมีเงินทุนของสหกรณ์จำนวนมาก เราจึงเริ่ม
พัฒนาหลักสูตรนี้ขึ้นมาและทดสอบเปิดสอนรุ่นแรกไปแล้ว
ในความเป็น ดีเอ็นเอ ของวิทยาลัยชุมชนที่เริ่มต้นมาจากความคิดของท่านองคมนตรี เกษม วัฒนชัย
ที่สร้างขึ้นมานั้น ท่านได้ประกาศแล้วว่าวิทยาลัยชุมชนจะเป็นสถาบันการศึกษาระดับอนุปริญญา เพื่อเติมช่องว่างการศึกษาในพื้นที่ ๆ ขาดโอกาส
“เราจะเห็นได้ว่าในปัจจุบันเรามีมหาวิทยาลัยอยู่จำนวนมาก และการศึกษาในอนาคตก็มีแนวโน้มที่มหาวิทยาลัยจะเล็กลงด้วยซ้ำ”
ในขณะที่ความเป็นวิทยาลัยชุมชนมีความคล่องตัว การดึงศักยภาพในการพัฒนาจากหน่วยงาน
ต่าง ๆ เข้ามา เป็นสิ่งที่วิทยาลัยทำได้ดี ในขณะที่ตัว
วิทยาลัยฯ มีคนทำงานไม่มาก เป็นสถาบันเล็ก ๆ แต่เรา
มีสถานะเป็นผู้ประสานความร่วมมือจากส่วนต่าง ๆ จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มาได้เกือบทั้งหมด
เพราะฉะนั้น หากเราเป็นนักจัดการที่ดี เข้าไปยืมพลังจากส่วนต่าง ๆ ประสานทุกหน่วยงานให้มาช่วยขับเคลื่อนงานพัฒนาของจังหวัดสงขลา นี่เป็นจุดยืนที่ถูกต้องที่สุดอย่างที่ท่านองคมนตรี เกษม ได้วางไว้ตั้งแต่เริ่มต้น” รองประธานสภา วชช.สงขลา กล่าว