Home » ข่าว » ฟื้น”สงขลาควาเรียม” ปรับเป็นศูนย์การเรียนรู้

ฟื้น”สงขลาควาเรียม” ปรับเป็นศูนย์การเรียนรู้

สงขลา- เทศบาลนครสงขลา เตรียมฟื้น “สงขลาควาเรียม” ปรับเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้เข้าชมฟรี ตั้งคณะทำงานดำเนินการเชิญบริษัทเอกชนวางแผนปรับปรุงพัฒนาใช้งบประมาณ 15 ล้านบาท คาดเปิดให้เข้าชมฟรีปลายปี 2567 เผยยังมีสัตว์น้ำเหลืออยู่ 30 เปอร์เซ็นต์

นายดนุพล สุนทรัตน์ รองนายกเทศมนตรีนครสงขลา เปิดเผย “ผู้สื่อข่าว” ปัจจุบัน “สงขลาควาเรียม” ยังมีสัตว์น้ำเหลืออยู่ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ทางผู้บริหาร นายกเทศมนตรีนครสงขลา นายวันชัย ปริญญาศิริ มีนโยบายในการตั้งงบประมาณมาดูแล การจ้างบุคลากร รวมถึงค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ แต่ก็ยังไม่สามารถเปิดใช้บริการได้จึงเป็นลักษณะของการลงทุนที่สูญเปล่า ทั้งเงินลงทุนและเงินที่จะมาดูแล ควาเรียม

“ท่านนายกเทศมนตรีมีนโยบายฟื้นฟูสงขลาควาเรียมให้เป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อที่จะให้บงริการกับเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป”

บวกกับพื้นที่ของ “สงขลาควาเรียม” ด้านหน้าเป็นอาคารของสำนักการศึกษา ซึ่งสำนักการศึกษาเทศบาลนครสงขลา ทำโครงการอุทยานการเรียนรู้ดิจิทัล และได้เข้าแผนในปีงบประมาณ 2567 จะมีงบประมาณ 5 ล้านบาทในการปรับปรุงตัวอาคารและภูมิทัศน์ พร้อมทั้งความร่วมมือทางสถาบันอุทยานการเรียนรู้ในการเข้ามาขับเคลื่อนกิจกรรมในช่วงต้น

“สอดครับกับตัวของสงขลาควาเรียมด้านใน ที่ท่านนายกฯ อยากปรับปรุงอยู่แล้ว จึงได้มอบหมายให้สำนักศึกษาดูแลและเชิญหน่วยงานที่มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถและเชี่ยวชาญ”

เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) และศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง โดยนางสาวราตรี สุขสุวรรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง

ขณะเดียวกัน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง เคยดูแล “ภูเก็ตควาเรียม” มาก่อน มีความรู้ความเข้าใจและมีเครือข่ายของบริษัทที่มีมืออาชีพ

เพื่อเข้ามาดูแล “สงขลาควาเรียม” จึงเชิญเข้ามาประชุมและลงพื้นที่ดู “สงขลาควาเรียม” กันหลายครั้ง ก็ได้เชิญบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญมาช่วยให้คำปรึกษา

“ครั้งแรกท่านนายกฯ ตั้งงบประมาณไว้ 4.6 ล้านบาท ซ่อมแซมโครงสร้างของสงขลาควาเรียม เช่นหลังคารั่ว ไฟ น้ำ ซึ่งมีปัญหาต้องซ่อมแซมปรับปรุง”

โดยได้ทีมและตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อศึกษากับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและบริษัทที่ปรึกษา ต่อมา ท่านนายกฯ ได้เติมงบประมาณในปีงบประมาณ 2566 โดยการโยกงบอีก 10 ล้านบาท

และให้บริษัทที่ปรึกษามาจัดและวางแผนให้ว่าลำดับความสำคัญในการที่จะต้องใช้งบประมาณในการขับเคลื่อนโครงการฟื้นฟู “สงขลาควาเรียม” อะไรคือความสำคัญก่อนหลัง

ซึ่งได้ข้อสรุปว่าสิ่งที่สำคัญคือ การดูแลเรื่องคุณภาพชีวิตสัตว์น้ำก่อน เนื่องจากยังมีปลาตัวใหญ่ เต่าตัวใหญ่ ยังอยู่ รวมถึงคุณภาพที่มีการวัดน้ำมีความเข้ามาค่อนข้างสูง รวมถึงค่าอื่นๆที่ไม่ได้มาตรฐาน จึงเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการเมื่อเร็ว ๆ นี้ ในส่วนน้ำ ระบบเครื่องกรอง ที่จะทำให้น้ำที่เข้ามาสามารถกำจัดสิ่งสกปรกและสามารถเติมโอโซนเพื่อเพิ่มความใสของน้ำ จะทำให้น้ำในตู้ปลาใส และเกิดความสวยงาม

“อันดับแรกคือ การทำคุณภาพน้ำก่อน”

ส่วนเรื่องที่นำเสนอมาพร้อมกับระบบกรองน้ำคือ การวางท่อในทะเล เพื่อนำน้ำทะเลเข้ามา ปัจจุบันที่ต้องบรรทุกน้ำจากศูนย์เพาะเลี้ยงชายฝั่งมาใช้

เนื่องจากระบบท่อปัจจุบันได้รับความเสียหายไปหมดแล้ว รวมทั้งเครื่องปั้มน้ำด้วย จึงวางระบบท่อไว้ด้วยประมาณ 800 เมตร จาก “สงขลาควาเรียม” ลงไปในทะเล และจากทะเลเราจะต้องวางลึกลงไปต้องไม่ต่ำกว่า 5 -10 เมตร เพื่อให้ได้คุณภาพน้ำที่ดี เนื่องจากน้ำบริเวณริมหาดน้ำจะมีการปนเปื้อนค่อนข้างมาก

เพราะฉะนั้นในงบประมาณ 10 ล้านบาท พอมาดู ก็น่าจะไม่พอ เขาบอกว่าน่าจะประมาณ 15 ล้านบาท จึงให้เขาเสนอมาในขอบเขตเต็มรูปแบบก่อน เพื่อนำมาพิจารณากับงบประมาณที่มีอยู่ก่อนว่าอะไรที่ควรจะทำก่อนและหลัง ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่คาดว่าน่าจะทำระบบภายในของ “สงขลาควาเรียม” ก่อน เช่น เรื่องระบบกรอง

ซึ่งจะสอดรับกันกับตัวอุทยานการเรียนรู้ของสำนักการศึกษา ถ้าเปิดใช้พร้อมกัน และสามารถเปิดใช้ “สงขลาควาเรียม”ได้โดยที่ไม่ต้องเก็บค่าใช้จ่าย

“ในเบื้องต้นมันไม่สามารถที่จะเก็บค่าใช้ได้ แต่ถ้าเทศบาลนครสงขลาเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งไม่คิดถึงเรื่องการหารายได้หรือแสวงหากำไร โดยทำเป็นแหล่งเรียนรู้เปิดให้เข้าชมฟรี”

ซึ่งจะสามารถเอื้อกันทั้งสองส่วนคืออุทยานการเรียนรู้และ”สงขลาควาเรียม” โดยในเบื้องต้นปี 2567 หรือช้าสุดไม่เกินปีงบประมาณ 2568 ก็คือปลายปีหน้า (2567) สามารถเปิดให้ประชาชน นักเรียน นักศึกษา เข้าชม “สงขลาควาเรียม” พร้อมทั้งอุทยานการเรียนรู้ดิจิทัลของเทศบาลนครสงขลา ที่จะเปิดให้บริการในส่วนแรกได้เลย โดยทางเทศบาลนครสงขลาเป็นผู้บริหารจากเดิมที่เอกชนดำเนินการ

“บริษัทเอกชนเราตั้งเขาเป็นคณะทำงานแล้วมาช่วยพัฒนาระบบ ส่วนเรื่องของการบริหารจัดการ และเรื่องของการดำเนินการ เป็นเทศบาลนครสงขลา เพราะเราไม่แสวงหารายได้หรือแสวงหากำไร” นายดนุพล กล่าว

สำนักข่าวโฟกัส

สมชาย สามารถ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *