Home » ข่าว » ประวัติมัสยิดกลางจ.สงขลา กุโบว์ฝังศพจุฬาราชมนตรี

ประวัติมัสยิดกลางจ.สงขลา กุโบว์ฝังศพจุฬาราชมนตรี

สำนักข่าวโฟกัส
วันที่ 23 ตุลาคม 2566 ณ.กุโบว์ มัสยิดกลางประจำจังหวัดสงขลา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี เดินทางมาเป็นผู้แทนพระองค์เชิญดินฝังศพพระราชทาน นายอาศิส พิทักษคุมพล อดีตจุฬาราชมนตรี คนที่ 18 ของประเทศไทย
สำหรับประวัติประวัติความเป็นมามัสยิดกลางประจำจังหวัดสงขลาและสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา นั้น ความคิดในเรื่องที่จะจัดสร้างมัสยิดกลางประจำจังหวัดสงขลาและศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามจังหวัดสงขลาได้เริ่มก่อตัวขึ้นเมื่อปี 2534 โดยนายอาศิส พิทักษ์คุมพล ประธานฯและคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลาในยุคก่อนการบังคับใช้พระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม เพราะต้องการที่จะให้มีมัสยิดกลางประจำจังหวัดเฉกเช่นจังหวัดอื่นๆในจังหวัดชายแดนภาคใต้
รวมทั้งเพื่อเป็นที่ทำการของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลาอย่างเป็นเอกเทศ จากแนวคิดดังกล่าวก็ถูกผลักดันไปสู่การปฏิบัติเมื่อประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลาได้นำเสนอโครงการต่อนายนิพนธ์ บุญญภัทโร ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา (ในขณะนั้น) ไปยังกรมการศาสนากระทรวงศึกษาธิการเมื่อปี 2534 แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเพราะไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ
ทว่าความล้มเหลวในครั้งแรก มิได้ทำให้คณะกรรมการฯ เลิกล้มความตั้งใจ ในทางตรงกันข้าม ยิ่งเป็นแรงผลักดันให้พยายามหาทางและโอกาสอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งในปี 2542 ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลาได้รับการแจ้งความจำนงจากกลุ่มบุคคล 5 ท่าน คือนายอรุณ หล้าดัม นายอารีฟีน นิยมเดชา นายหมัดตะเหย็บ บิลหมัด นายภูวดล บิลยีหลี และนายสมนึก สิยะโอ๊ะ ซึ่งมีความประสงค์จะบริจาคที่ดิน จำนวน 5 ไร่ บริเวณถนนลพบุรีราเมศวร์ ต.คลองแห อ.หาดใหญ่ จ.สงขลาเพื่อก่อสร้างมัสยิดกลางประจำจังหวัดสงขลา
จากนั้นคณะกรรมการฯ จึงได้ประสานเป็นการภายในกับท่านพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และคุณชูศักดิ์ มณีชยางกูร ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการส่วนประสานราชการ กรมการปกครอง และขณะเดียวกันดำรงตำแหน่ง ผช.ผอ.ศอ.บต.ด้วยอีกตำแหน่งเพื่อขอให้ผลักดันโครงการนี้เข้าสู่โครงการพัฒนาเฉพาะกิจของจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะรัฐบาลจะให้ความสำคัญ
ปรากฏว่าการเสนอโครงการในครั้งนี้ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงมหาดไทยและผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีจนกระทั่งเวลาล่วงเลยมาจนถึงปี 2543 ก็ยังไม่ปรากฏว่าจะได้รับการจัดสรรงบประมาณตามมติคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด
ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลาจึงได้ปรึกษาหารือกับคุณไพร พัฒโน นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อประสานงานเรื่องโครงการให้เป็นรูปธรรมต่อไป ด้วยความหวังว่านี่จะเป็นหน้าเป็นตาและความภาคภูมิของประชาคมมุสลิมจังหวัดสงขลาต่อไปในอนาคต
นายไพร พัฒโน นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ ก็อาสาจะประสานให้ ในปีต่อมา (2544) ก็ได้รับการจัดสรรงบประมาณจำนวน 38.5 ล้านบาท กระนั้นก็ตาม ขณะที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 38.5 ล้านบาทนั้น ก็ยังไม่มีแบบแปลนที่จะก่อสร้างแต่อย่างใดและด้วยความไม่เข้าใจในกระบวนการดำเนินการใช้งบประมาณจนเวลาล่วงเลยไปจนเกือบสิ้นปีงบประมาณก็ได้รับคำแนะนำจากส่วนประสานราชการ กรมการปกครอง ให้จัดทำแบบแปลน
คณะกรรมการฯจึงได้ติดต่อให้อ.สถาพร ศิริลิมป์ และ อ.มานะ ยืนตระกูล สถาปนิก ช่วยออกแบบ โดยแบบแปลนที่ได้ถูกกำหนดขึ้นเป็นอาคารขนาดใหญ่ 3 ชั้น ประกอบด้วย ชั้นล่างสุดเป็นสถานที่จอดรถจุประมาณ 76 คัน ชั้นที่ 2 เป็นที่ทำการสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา และห้องประชุมอเนกประสงค์จุคนประมาณ 800 คน ชั้นที่3เป็นอาคารมัสยิดจุคนประมาณ 2,500-3,000 คน
และบริเวณมัสยิดจะปรับปรุงภูมิทัศน์ให้มีสวนหย่อม สระน้ำ และมีน้ำตกไหลจากช่วงกลางบันไดลงสู่สระน้ำ เป็นโจทย์ใหญ่ให้ทุกคนช่วยกันคิดว่า จะทำอย่างไรดี ครั้นจะดำเนินการในวงเงิน 38.5 ล้านบาท โดยเขียนแบบขึ้นใหม่ ก็จะได้เพียงมัสยิดหลังเล็ก ๆ ไม่เหมาะกับความเป็นมัสยิดกลาง ครั้นจะไม่สร้าง งบประมาณก็ต้องตกไป แล้วจะต้องทำเรื่องยื่นขอใหม่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย!!! จนในที่สุด…ประธานคณะกรรมการฯได้ประสานหารือกับฯพณฯวันมูหะมัดนอร์ มะทาซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยเล่ารายละเอียดทั้งหมด
พร้อมทั้งขอคำแนะนำ ท่านตัดสินใจในทันทีว่าได้งบประมาณมาตั้ง 38.5 ล้านบาท มิใช่เรื่องง่ายเลยจะปล่อยให้ตกไปได้อย่างไร? การแก้ปัญหาในเบื้องต้นก็คือ….จัดสร้างตามแบบแปลนที่ออกแบบไว้ครั้งแรก เมื่อเงินหมดก็ค่อยหาทางดำเนินการกันใหม่ต่อไป ผมอยู่ในคณะรัฐบาลจะหาทางช่วยเหลือ ขอให้ประธานฯประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดโยธาธิการจังหวัด วิศวกร และสถาปนิกผู้ออกแบบ ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมาหารือกันที่ห้องวีไอพีสนามบินหาดใหญ่ก่อนที่ผมจะเดินทางกลับยะลา นี่คือคำพูดที่ท่านอาจารย์วันมูหะมัดนอร์ มะทา พูดกับประธานฯอาศิส
ผลการหารือทุกคนเห็นด้วยกับคำแนะนำของฯพณฯรองนายกรัฐมนตรี(นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา) โดยตกลงจะดำเนินการก่อสร้างโดยแก้ไขปรับปรุง แบบแปลนให้ลงตัวในวงเงินงบประมาณ 38.5ล้านไปก่อน แล้วค่อยหางบเพิ่มเติมในส่วนที่ยังต้องปรับปรุงก่อสร้างต่อไปปัญหาก็จบลง
เมื่อปัญหาดังกล่าวจบลง ปัญหาใหม่ก็เข้ามาแทนที่ เนื่องจาก อ.มานะ ยืนตระกูล แจ้งว่าหากจะสร้างในที่ดิน 5 ไร่ที่ได้รับบริจาคนั้น ก็จะคับแคบไม่สามารถจัดภูมิทัศน์ให้สง่างามดังที่กำหนดไว้ได้ จะต้องใช้ที่ดินเพิ่มอีกอย่างน้อย 5 ไร่รวมเป็น 10 ไร่ เพื่อภูมิทัศน์ที่สวยงามในอนาคต ซึ่งฯพณฯรองนายกรัฐมนตรี (นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา) ก็เห็นด้วยและขอให้ประธานฯและคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยอมเป็นหนี้จัดซื้อที่ดินเพิ่มอีก จำนวน 6 ไร่ครึ่งพร้อมทั้งซื้อขยายถนนทางเข้ามัสยิดด้วย รวมเป็น 7 ไร่ครึ่ง สนนราคาประมาณ 7 ล้านบาทเศษ

      กล่าวสำหรับสถานะทางการเงินของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลาแต่ละคนนั้นล้วนแล้วแต่เป็นชาวบ้านที่หาเช้ากินค่ำไม่มีใครมีฐานะร่ำรวย ทุกคนในชีวิตไม่เคยเห็นเงินจำนวนล้านมาก่อน หากต้องแบกหนี้ จำนวน 7 ล้านบาทเศษ ย่อมถือเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดในชีวิตอย่างแน่นอน ทว่าด้วยคำยืนยันจาก อ.วันมูหะมัดนอร์ มะทา และด้วยกำลังใจที่ได้รับจากท่านประธานฯ อาศิส คณะกรรมการฯ จึงยอมแบกรับภาระหนี้สินด้วยความเต็มใจ
      ในที่สุด...จึงได้เริ่มการก่อสร้างขึ้นเมื่อปลายปี 2545 จะบอกว่า...นี่เป็นการนับหนึ่งของการก่อสร้าง ศูนย์รวมใจพี่น้องมุสลิมชาวจังหวัดสงขลา อย่างเป็นทางการ ก็คงจะไม่ผิดนักโดยมัสยิดกลางประจำจังหวัดสงขลา ได้เริ่มตอกเสาเข็มต้นแรกเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2545 มีความยาว 17  เมตร จำนวน 433 ต้น ซึ่งการก่อสร้างได้ดำเนินการในระยะที่ 1ตั้งแต่ปี 2544-2548 งานก่อสร้างโครงสร้างอาคารมัสยิดได้แล้วเสร็จเมื่อปี 2548 ต่อมาเมื่อ อ.วันมูหะมัดนอร์ มะทา ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็ยังมีบทบาทสำคัญอีกครั้งเมื่อช่วยประสานและสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมอีก 5.2 ล้านบาท สำหรับปรับปรุงห้องสำนักงาน, ห้องประชุม และระบบไฟฟ้า-สุขาภิบาลบางส่วน
       กระทั่งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2546 นายสมพร ใช้บางยาง ได้ย้ายมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ซึ่งต่อมาในปี 2548 ก็ได้อนุมัติงบประมาณ CEO จำนวน 15.98 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ พร้อมกับถนนบริเวณทางเข้ามัสยิดกลางฯและถนนรอบ ๆอาคาร รวมทั้งได้รับงบประมาณผ่าน อบจ.สงขลา จำนวน 1.5 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงลานจอดรถและงบประมาณจากกรมส่งเสริมปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 5 ล้านบาทเพื่อก่อสร้างห้องน้ำ จากนั้นการก่อสร้างก็หยุดชะงักเพราะปัญหาเดิม คือ เงินไม่พอ
       จนกระทั่งการมาของพ่อเมืองสงขลาที่ชื่อ นายสนธิ เตชานันท์ เมื่อ 15 พฤศจิกายน 2549 เป็นจุดเปลี่ยนแห่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นในวันนี้ ประโยคแรกที่ท่านกล่าวกับคณะกรรมการฯที่ไปร่วมต้อนรับหลังจากทักทายและขอบคุณต่อกัน นั่นคือ.. มาอยู่สงขลา ผมรู้แล้วว่าสิ่งแรกที่ผมต้องทำคืออะไร? ท่านบอกว่า...มัสยิดกลางประจำจังหวัดสงขลาจะต้องสร้างให้เสร็จมิใช่แค่ความสง่างาม แต่เป็นหน้าเป็นตา เป็นความภาคภูมิใจให้พี่น้องมุสลิมทั่วทั้งภาคใต้ นี่คือ...เจตนารมณ์ของท่านที่บอกกับประธานอาศิส ในวันนั้น
      ในเบื้องต้น.ท่านผู้ว่าฯ สนธิ เตชานันท์ ได้ประสานกับนายอำเภอทุกพื้นที่เพื่อรวบรวมเงินจากมัสยิดทุกอำเภอในจังหวัดสงขลา ซึ่งได้มากบ้าง น้อยบ้าง แต่รวมทั้งหมดแล้วได้ 3 ล้านกว่าบาท ขณะเดียวกัน กรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา 30 ท่าน ก็ได้สมทบคนละ 1 แสนบาท ได้มาอีก 3 ล้านบาท ก่อนที่ท่านผู้ว่าฯสนธิ ได้ประสานหางบประมาณจากทุกภาคส่วน ปรากฏว่าในปี 2550 ได้รับงบเพิ่มเติมจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อตกแต่งภายใน ก่อสร้างหออาซาน สระน้ำพุ และปรับปรุงภูมิทัศน์ ดังนี้
           ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) 30 ล้านบาท เทศบาลนครหาดใหญ่ 10 ล้านบาท เทศบาลนครสงขลา 10 ล้านบาท  องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา 10 ล้านบาท บริษัท ป.ต.ท. จำกัด (มหาชน) 5 ล้านบาท การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 5 ล้านบาท  สมาคมจีน 15 สมาคม ในหาดใหญ่ 5 ล้านบาท สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา 3 ล้านบาท มัสยิดต่าง ๆ ในจังหวัดสงขลา 3,805,117 บาท (รวมงบในการก่อสร้าง ณ ปัจจุบัน รวมเป็นเงินทิ้งสิ้น 77,305,117บาท)

//////////////////////

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *