Home » ข่าว » SEA สงขลา-ปัตตานี 4 เปิดพื้นที่ต่อรองร่วม รัฐ-ปชช.

SEA สงขลา-ปัตตานี 4 เปิดพื้นที่ต่อรองร่วม รัฐ-ปชช.

คณะทำงานภายใต้โครงการการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์(SEA) สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี ด้านการมีส่วนร่วม ได้จัดประชุมคณะที่ปรึกษาการมีส่วนร่วม จ.สงขลา เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดเวที SEA ครั้งที่ 4 โดย ผศ.ดร.นฤทธิ์ ดวงสุวรรณ์ และ นายอุสมาน หวังสนิ ผู้เชี่ยวชาญด้านการมีส่วนร่วม โดยมีคณะที่ปรึกษาฯ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนภาครัฐ สถาบันการศึกษา องค์กรเครือข่ายภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชนเข้าร่วมประมาณ 20 คน เมื่อ 17 ต.ค.66 ณ ศูนย์อาหารโภชนาการและพัฒนาชนบทภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ผศ.ดร.นฤทธิ์ ดวงสุวรรณ์ กล่าวว่า การประชุม SEA ทั้งหมดกำหนดไว้ 8 ครั้ง และได้จัดไปแล้ว 3 ครั้ง “สืบเนื่องจากการจัด SEA ครั้งที่ 3 เมื่อ 8-9 ก.ค.66 ที่สหกรณ์การเกษตรจะนะ ในส่วนของ จ.สงขลา ได้มีการหารือกันระหว่างผู้เข้าร่วมประชุมและนักวิชาการที่นำเสนอข้อมูล โดยที่ประชุมได้เสนอให้ฝ่ายวิชาการที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ค้นหาข้อมูลอันเป็นปัจจุบันและครบถ้วนรอบด้านเพื่อนำมาพิจารณาอย่างครอบคลุมนั้น ทางสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) จึงได้มอบหมายให้คณะทำงานฝ่ายวิชาการได้ลงพื้นที่เพื่อจัดทำข้อมูลให้มีความครอบคลุม เช่น เป้าหมายยุทธศาสตร์ วัตถุประสงค์ของแต่ละยุทธศาสตร์ ตัวชี้วัด รวมทั้งแหล่งที่มาของข้อมูล และแผนที่แสดง ฯลฯ ทั้งหมดนี้ให้แล้วเสร็จก่อนที่จะมีการประชุมครั้งต่อไป ดังนั้น ในการประชุมครั้งที่ 4 ที่จะมีขึ้นจะเป็นการประชุมในหัวข้อที่ได้เคยประชุมไปแล้วในครั้งที่ 3 แต่จะมีข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนที่ได้รับการศึกษาจากพื้นที่มานำเสนอในที่ประชุม ซึ่งในขณะนี้การลงพื้นที่หาข้อมูลก็ยังทำกันอยู่ทั้งในส่วนของ จ.สงขลาและปัตตานี ทำให้การจัดเวทีครั้งที่ 4 ต้องเลื่อนออกไปกว่า 2 เดือน” ผศ.ดร.นฤทธิ์ กล่าวและว่
จากข้อสรุปการประชุมครั้งที่ 3 ได้รวบรวมได้ 14 ประเด็นซึ่งบางส่วนมีลักษณะที่สามารถรวมไว้ด้วยกันได้ ดังนั้นในการประชุมครั้งที่ 4 จึงได้รวบได้ 6 กลุ่มใหญ่ คือ ด้านการเกษตร ด้านอุตสาหกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการท่องเที่ยว ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และด้านสังคม โดยใช้เวลาประชุม 6 วัน แยกย่อยรวม 6 เวที โดยวันแรก จะประชุมใน 3 ประเด็นคือ ด้านเกษตร ด้านอุตสาหกรรม และด้านสิ่งแวดล้อม วันที่สอง ด้านการท่องเที่ยว ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และด้านสังคม โดยส่วนของจังหวัดสงขลา 2 วัน และปัตตานี 2 วัน รวม 4 วัน
วันที่ห้า จะเป็นการประชุมในส่วนของ โลจิสติกส์ การคมนาคม การค้าชายแดน และวันที่หก จะเป็นการประชุมร่วมกันของสงขลาและปัตตานี


“ในการจัดทำSEA อาจไม่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ มีคำถามจากตัวแทน จ.ปัตตานีว่าหน่วยงานภาครัฐจะนำไปใช้งานจริงหรือไม่ ก็ตอบได้ว่าขณะนี้ทางภาครัฐต้องการข้อมูลเหล่านี้เพื่อนำไปใช้เป็นแม่บทพัฒนาอย่างมาก จากการประชุมทั้งหมดที่มีขึ้นและที่จะเกิดขึ้นต่อไป โดยในการประชุมครั้งที่ 7 จะเป็นการนำเสนอแม่บท และในการจัดทำโครงการของภาครัฐในยุทธศาสตร์ที่วางไว้ หน่วยงานที่จัดทำโครงการใด ๆ ก็ใช้ SEA เพื่อจะทำ EIA อีกครั้ง” ผศ.ดร.นฤทธิ์ กล่าว
นายอุสมาน กล่าวว่า สำหรับผู้ที่เข้าร่วมในการประชุมครั้งที่ 4 นั้นคณะทำงานจะพิจารณาจากตัวแทนกลุ่มองค์กรที่เคยเข้าร่วมประชุมมาแล้วเพื่อความต่อเนื่องในการทำความเข้าใจและจะเป็นการประชุมแบบกลุ่มย่อย โดยกำหนดผู้ร่วมประชุมจากเป้าหมาย 10 กลุ่มองค์กร ประกอบด้วย ภาคประชาชน ประชาสังคม ท้องที่ ท้องถิ่น หน่วยงานราชการ ภาควิชาการ ภาคศาสนา สื่อฯ และหน่วยงานที่ใช้แผนฯ เช่น สภาพัฒน์ฯ และ ศอ.บต. ซึ่งทางคณะจัดการประชุมจะจัดส่งเอกสารการประชุมให้กับตัวแทนกลุ่มก่อนวันประชุมตามที่คณะที่ปรึกษานำเสนอ ซึ่งการประชุมกำหนดขึ้นในต้นเดือนพฤศจิกายน 2566
นางวรรณา เอกกระจาย ตัวแทนจากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พมจ.)จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ถือเป็นโอกาสดีที่ได้เข้าร่วมการประชุม และเห็นว่าปัจจุบันภาคประชาชนได้มีการพัฒนาความรู้ไกลมาก มีการตื่นตัวในการดูแลตนเอง มีการสังเคราะห์องค์ความรู้อย่างน่าชื่นชมอันจะเป็นประโยชน์ในการทำงานของพมจ.สงขลาต่อไป
นายสักริยา อะยามา ตัวแทนเครือข่ายประชาชนจะนะอาสาพัฒนาถิ่น กล่าวว่า การจัดทำ SEA ที่ผ่านมาถือเป็นการปรึกษาหารือร่วมกัน ทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้านโครงการนิคมฯ ได้มานั่งพูดคุยกัน แม้ว่าจะยังไม่สามารถสรุปได้ แต่เกิดความเข้าใจและความรู้สึกที่ดี เพราะเป็นการมองจากหลายมิติการพัฒนาที่สามารถยอมรับได้
นายเจะโส๊ะ หัดเหาะ ตัวแทนจาก ต.ตลิ่งชัน อ.จะนะ กล่าวว่า การจัดเวทีพูดคุยทุกฝ่ายได้มาหารือกัน ได้รับรู้และรับผิดชอบร่วมกัน ถือเป็นเรื่องที่ดีที่แต่ละฝ่ายเคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง
นายวิเชษฐ์ ขะหรีหะสัน ตัวแทนจากต.สะกอม อ.จะนะ กล่าวว่า จากเวทีแรกที่มีการเผชิญหน้ากันสองฝ่าย การจัดเวทีต่อมาได้ประคับประคองจนแต่ละฝ่ายได้นำเสนอความคิดเห็นอย่างเป็นเหตุเป็นผล โดยมองผลประโยชน์ของภาพรวมเป็นสำคัญ
น.ส.วรรณิศา จันทร์หอม ตัวแทนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น กล่าวว่า ในการประชุมตนอยากเสนอให้มีการนำเสนอเอกสารความคืบหน้าของการประชุมในแต่ละครั้งเพื่อผู้เข้าร่วมจะได้รับทราบข้อมูลอย่างต่อเนื่อง
นางรุสณี หวันเด็น ตัวแทนกลุ่มนักรบผ้าถุง กล่าวว่า ทางกลุ่มขอขอบคุณคณาจารย์ของ ม.อ.ที่ลงชุมชนเพื่อค้นหาข้อมูล เวที SEA ทำให้ทุกฝ่ายมีท่าทีที่อ่อนลง ซึ่งอำเภอจะนะได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมกันและหวังว่าจะเป็นแนวทางการพัฒนาต่อไป


นายกิตติภพ สุทธิสว่าง ผู้ประสานงานเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น กล่าวว่า เราได้บทเรียนจากการต่อสู้จากในอดีต ซึ่งในการจัดทำ SEA โดยที่ใช้สถาบันการศึกษาที่ได้รับการยอมรับอย่าง ม.อ.เป็นคนกลาง และลงมาทำข้อมูลทำให้ไม่เกิดความแตกแยก และเป็นบรรยากาศที่ดี ซึ่งได้ขยายไป 2 จังหวัด ซึ่งทิศทางการพัฒนาของโลก องค์การสหประชาชาติเองพูดถึงความสำคัญของประเทศที่ผลิตอาหาร
อ.เทพรัตน์ จันทร์พันธ์ รองผอ.สถาบันทักษิณคดีศึกษา ม.ทักษิณ กล่าวว่า ในกระบวนการจัดการความคิดที่แตกต่างกัน ฐานทรัพยากรที่ต่างกัน ต้องการการออกแบบต่างกันในการจัดความสัมพันธ์ของคนในชุมชน การได้มานั่งพูดคุยผ่านเวที SEA คือ “พื้นที่ต่อรอง” อันจะนำไปสู่ “การจัดการร่วมกัน” ของสังคม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *