Home » ข่าว » 3ผู้ว่าฯ‘จารุวัฒน์ เจษฎา สมนึก’สานต่อผลักดันสงขลาสู่มรดกโลก

3ผู้ว่าฯ‘จารุวัฒน์ เจษฎา สมนึก’สานต่อผลักดันสงขลาสู่มรดกโลก

เรื่องราวของการนำสงขลาสู่มรดกโลกของเมืองสงขลากับการมาย้อนดูภาพจากความฝันมาสู่ภาพของความเป็นจริง ก็ต้องย้อนไปถึงคำสั่งแรกเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาสงขลาสู่เมืองมรดกโลก ในคำสั่งที่ 184 / 2563 ที่ลงนามในคำสั่งโดยนายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ที่ลงนาม ณ วันที่ 10 มกราคม พ.ศ.2563 ด้วยมีบทนำในคำสั่งว่า สงขลาเป็นเมืองสำคัญของประเทศไทยมาแต่โบราณ จากการมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ที่ปากทะเลสาบสงขลาออกสู่อ่าวไทยเชื่อมต่อกับมหาสมุทรแปซิฟิค เป็นต้น ที่การค้าทางบกข้ามคาบสมุทรมลายูไปยังมหาสมุทรอินเดีย
สงขลาจึงเป็นเมืองท่าการค้านานาชาติที่พ่อค้าและนักเดินเรือต่างแวะพักและซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ามานานนับพันปี ทำให้เกิดการผสมผสานของหลากหลายวัฒนธรรม เป็นเอกลักษณ์เฉพาะเมืองที่ยังคงเหลืออยู่จนถึงปัจจุบัน ประกอบกับเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2553 คณะรัฐมนตรีได้ลงมติเห็นชอบประกาศให้พื้นที่เมืองเก่าสงขลา เป็นเมืองซึ่งบ่งบอกถึงความเป็นมาของชาติไทย มีความมุ่งหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันอนุรักษ์ฟื้นฟูและพัฒนาเมืองเก่าสงขลาตามแบบอย่างสากล


ประกอบกับในปี 2551 เมืองปีนังซึ่งเป็นเมืองเพื่อนบ้านของเมืองสงขลา ได้รับการประกาศให้เป็นเมืองมรดกโลก ทุกภาคส่วนจึงย้อนกลับมาดูเมืองเก่าสงขลา ซึ่งมีประวัติศาสตร์เก่าแก่กว่าเมืองปีนัง ที่มีลักษณะองค์ประกอบของเมืองคล้ายกัน ถ้าสงขลามีการอนุรักษ์พัฒนาอย่างถูกทิศทาง ก็น่าจะมีโอกาสได้รับการพิจารณาในการเป็นเมืองมรดกโลกเช่นเดียวกัน
2 ปีของท่านผู้ว่าจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา จึงได้เดินหน้าในการนำสงขลาสู่เมืองมรดกโลกอย่างจริงจังได้จัดหางบประมาณทั้งภาครัฐและเอกชนลงไปดูแลปรับภูมิทัศน์ของแหล่งโบราณในหลายพื้นที่ และเมื่อท่านเกษียณจากราชการเมื่อปี พ.ศ. 2564 ก็ได้ตั้งใจที่จะสนับสนุนให้สงขลาได้เดินหน้าสู่มรดกโลกให้สำเร็จ โดยการเป็นประธานคณะกรรมการของมูลนิธิสงขลาสู่มรดกโลก เพืี่อสนับสนุนในการจัดหาทุนในการขับเคลื่อนสงขลาให้ได้เดินไปให้ถึงเมืองมรดกโลกต่อไป
ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาที่เดินทางมาเป็นผู้ว่าราชการต่อจากท่านผู้ว่าจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา คือท่านผู้ว่าเจษฎา จิตรัตน์ ได้มีการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนำเสนอสงขลาขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เมืี่อวันที่ 16 ธันวาคม 2565 ในการประชุมครั้งนั้น มติที่ประชุมเสนอให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานด้วยเป็นประกาศจังหวัดสงขลา เรื่องแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการเข้าสู่บัญชีรายชื่อ มรดกโลกเบื้องต้น “Tentative Lish” ในการเข้าสู่เส้นทางเริ่มต้นในการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองมรดกโลก


ซึ่งในที่ประชุมได้มอบให้ ดร.หัถยา สิริพัฒนากุล คณะกรรมการ ICOMOS สากล เป็นหัวหน้าคณะทำงานในฝ่ายวิชาการ โดยให้มีหน้าที่ คัดเลือกหัวข้อคุณค่าความโดดเด่นเป็นสากล (Outstanding Universal Value ) ศึกษาค้นหาหลักฐานสนับสนุน (Attributes) คุณค่าโดดเด่นเป็นสากล (OUV) ของสงขลา ศึกษาเปรียบเทียบกับแหล่งมรดกอื่นที่มีคุณลักษณะที่คล้ายกันในภูมิวัฒนธรรมเดียวกัน ศึกษาพื้นฐานพิสูจน์ความแท้และกำหนดบูรณภาพ (Integrity) ของแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม และจัดทำเอกสารข้อมูลของแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมเพื่อเสนอรายชื่อในบัญชีเบื้องต้น ตามรายละเอียดที่ศูนย์มรดกโลกกำหนดไว้ในคู่มือการปฏิบัติงานด้านมรดกโลก
และต่อมาคณะทำงานก็ได้ทำหน้าที่ได้เสร็จสิ้น โดยได้สรุปเป็นบทคัดย่อจากแบบนำเสนอบัญชีรายชื่อเบื้องต้น เพื่อการบรรจุในบัญชีรายชื่อมรดกโลก โดยใช้ชื่อมรดกโลกว่า : สงขลาที่เกี่ยวเนื่องชุมชนริมทะเลสาบสงขลา Name of Property : Songkhla and its associated lagoon settlements และมีแหล่งพื้นที่ที่เป็นองค์ประกอบ 4 พื้นที่ คือ 1.เมืองโบราณพังยาง เมืองโบราณพะโคะ และเมืองโบราณสีหยัง 2.เมืองโบราณสทิงพระ 3.เมืองป้อมค่ายซิง กอร่า เขาแดงและแหลมสน และ 4.เมืองบ่อยาง


ซึ่งท่านผู้ว่าราชการเจษฎา จิตรัตน์ ก็ได้ลงนามส่งเอกสารเบื้องต้นในการขอขึ้นทะเบียนเป็นเมืองมรดกโลกของสงขลาในนามจังหวัดสงขลาไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบในส่วนกลางแล้วเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 ก่อนที่ท่านจะเดินทางไปรับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นจังหวัดบ้านเกิดของทั้งผู้ว่าราชการจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา และผู้ว่าราชการเจษฎา จิตรัตน์
และมาถึงช่วงเวลาต่อจากนี้ไปของผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ท่านสมนึก พรหมเขียว ถือเป็นผู้ว่าราชการที่ได้มารับตำแหน่งผู้ว่าที่จังหวัดบ้านเกิดคือจังหวัดสงขลา และเป็นศิษย์โรงเรียนมหาวชิราวุธ ที่จะมาสานต่อในเรื่องราวของการนำสงขลาสู่มรดกโลกในขั้นตอนสำคัญ


ต่อจากนี้ไปคือขั้นตอนในการนำเสนอเรื่องขอขึ้นทะเบียนสงขลาสู่มรดกโลกผ่านคณะกรรมการที่รับต่อจากทางจังหวัดสงขลาคือกรมศิลปากร ผ่านกระทรวงวัฒนธรรม จากนั้นก็ส่งต่อไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แล้วนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี


เมื่อผ่านการเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้ว ทางรัฐบาลไทยก็จะส่งเรื่องราวของการขอขึ้นทะเบียนเบื้องต้นในการนำสงขลาเป็นเมืองมรดกโลก ไปยังยูเนสโก้ ให้รับเรื่องและนำไปประกาศในรายชื่อเมืองที่ขอขึ้นทะเบียนเป็นเมืองมรดกโลกต่อไป ซึ่งในกำหนดช่วงเวลาทั้งหมดจากวันนี้ไปกับกำหนดเวลาในขั้นตอนของการรับเรื่องราวของการนำเข้าที่ประชุม
หากสงขลาผ่านทุกขั้นตอนสงขลาก็จะปรากฏชื่อในเอกสารเบื้องต้นของเมืองที่ขอขึ้นทะเบียนเป็นเมืองมรดกโลกไม่เกินเดือน เมษายน-พฤษภาคม 2567 ก็จะเป็นวันที่สงขลาได้จัดฉลองงานใหญ่นี้กันก่อนที่ทางท่านผู้ว่าราชการจังหวัดท่านสมนึก พรหมเขียว ที่จะเกษียณราชการในเดือนกันยายน ปี พ.ศ.2567
คือเรื่องราวที่ขอนำมาบันทึกไว้ให้เป็นประวัติศาสตร์เป็นตำนานของสงขลาในคอลัมน์สงขลาสู่มรดกโลกของโฟกัสรายสัปดาห์ในฉบับนี้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *