สำนักข่าวโฟกัส
สมชาย สามารถ
สงขลา -คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ยกเว้นการยื่นรายการตามแบบรายการของคนต่างด้าวซึ่งเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร (แบบ ตม.6) ณ ด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา จังหวัดสงขลา เป็นการชั่วคราว วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 – 30 เมษายน 2567 มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการออกประกาศให้เป็นไปตามกฎหมายเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติโดยเร็วต่อไป
วันที่ 24 ตุลาคม 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบในหลักการการยกเว้นการยื่นรายการตามแบบรายการของคนต่างด้าว ซึ่งเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร (แบบ ตม.6) ที่บริเวณด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา จังหวัดสงขลา เป็นการชั่วคราว ในช่วงระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 – 30 เมษายน 2567
2. มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการออกประกาศให้เป็นไปตามกฎหมายเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติโดยเร็วต่อไป
สาระสำคัญและข้อเท็จจริง
1. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้รับทราบข้อมูลจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเกี่ยวกับความไม่สะดวกในการเดินทางเข้ามาในประเทศไทย บริเวณด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา จังหวัดสงขลา เช่น ต้องใช้ระยะเวลาในการผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมืองมากกว่า 2 ชั่วโมง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลและวันหยุดต่อเนื่องหลายวัน
2. จากข้อมูลสถิติของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ณ วันที่ 16 ตุลาคม 2566 พบว่า ในเดือนมกราคม – กันยายน 2566 นักท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยมากที่สุด ได้แก่ นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย (จำนวนประมาณ 3.1 ล้านคน) และมีประมาณการรายได้สะสมอยู่ที่ประมาณ 52,755 ล้านบาท (ประมาณการค่าใช้จ่ายต่อคน/ทริป เท่ากับ 16,588 บาท) ประกอบกับตามข้อมูลสถิตินักท่องเที่ยวรายด่านจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง พบว่า ในปี 2566 นักท่องเที่ยวมาเลเซียเดินทางเข้าประเทศไทยผ่านบริเวณด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา จังหวัดสงขลา จำนวนเฉลี่ย 1 แสนคนต่อเดือน ซึ่งจากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่า นักท่องเที่ยวมาเลเซียมีความประสงค์จะขอเดินทางเข้ามายังประเทศไทยจำนวนมาก และเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ รวมทั้งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังมีแผนที่จะเดินทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงทั่วประเทศซึ่งเป็นการกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ด้วย
3. แบบ ตม.6 เป็นเอกสารที่กำหนดขึ้นตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ซึ่งบัญญัติให้บุคคลซึ่งเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรต้องผ่านการตรวจอนุญาตของพนักงานเจ้าหน้าที่ของด่านตรวจคนเข้าเมืองประจำเส้นทางนั้น และถ้าผู้นั้นเป็นคนต่างด้าวต้องยื่นรายการตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยคนไทยได้รับการยกเลิกการกรอกแบบ ตม.6 โดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 42/2560 เรื่อง แก้ไขกฎหมายคนเข้าเมืองเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทางสัญชาติไทย ตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2560 และที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยได้เคยออกประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ โดยได้รับการยกเว้นการยื่นรายการตามแบบรายการของคนต่างด้าวซึ่งเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร (ตม.6) ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2565 เพื่อกำหนดให้คนต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรโดยพาหนะทางอากาศ ได้รับการยกเว้นการยื่นรายการตามแบบรายการของคนต่างด้าวซึ่งเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร (ตม.6) เพื่อเป็นการลดความแออัดและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรบริเวณด่านตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยาน ส่งผลให้ในปัจจุบันการกรอกและยื่นแบบ ตม.6 ยังมีผลใช้บังคับแก่คนต่างด้าวหรือชาวต่างชาติสำหรับการเดินทางทางบกและทางน้ำ เช่น ด่านตรวจคนเข้าเมืองแม่สาย ด่านตรวจคนเข้าเมืองหนองคาย ด่านตรวจคนเข้าเมืองอรัญประเทศ ด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา และด่านตรวจคนเข้าเมืองเบตง
4. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้หารือกับหน่วยงานภายใน เช่น สำนักงาน ปลัดกระทรวง กรมการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว รวมถึงผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหากรณีนักท่องเที่ยวมาเลเซีย ไม่ได้รับความสะดวกบริเวณด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา จังหวัดสงขลา โดยได้มีข้อเสนอในการขอยกเว้นการยื่นรายการตามแบบรายการของคนต่างด้าวซึ่งเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร (แบบ ตม.6) ที่บริเวณด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา จังหวัดสงขลา เป็นการชั่วคราว (ในช่วงระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 – 30 เมษายน 2567) ซึ่งตรงกับช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวมาเลเซีย เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวมาเลเซียที่จะเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองของประเทศไทยจำนวนมากในช่วงฤดูกาลดังกล่าว
ประโยชน์และผลกระทบ
หากสามารถดำเนินขั้นตอนในบริเวณด่านตรวจคนเข้าเมืองให้เป็นไปได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น จะเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย ลดความแออัดบริเวณหน้าด่านตรวจคนเข้าเมือง และช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวตลาดหลักที่มีศักยภาพ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมากยิ่งขึ้น เกิดการกระจายรายได้ไปยังพื้นที่ที่มีการเดินทางท่องเที่ยวในภูมิภาคต่าง ๆ ต่อเนื่องไป รวมทั้งช่วยให้เกิดการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ
////////////