Home » ข่าว » อบจ.สงขลาลุย23โครงการหนุนเกษตรพ้นความยากจน

อบจ.สงขลาลุย23โครงการหนุนเกษตรพ้นความยากจน


เปิดแผนงานปีงบประมาณ 2567 “กองส่งเสริมการเกษตร” อบจ.สงขลา 23 โครงการ “นายกไพเจน” เผยเป้าหมายสนับสนุนเกษตรกรให้มีรายได้พ้นขีดความยากจน

นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เปิดเผย “ผู้สื่อข่าว” แผนงานปี 2567 กองส่งเสริมการเกษตร องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา จำนวน 23 โครงการ ว่า
หลังจากที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาตั้งกองส่งเสริมการเกษตรขึ้นมา เพราะว่าจังหวัดสงขลาเป็นจังหวัดที่มีพี่น้องประชาชนมีอาชีพการเกษตรในขณะที่ท้องถิ่นต่าง ๆ ยังไม่มีหน่วยงานที่มา
ดูแลเรื่องการเกษตร โดยทางอบจ.สงขลามีความคิดเพื่อที่จะช่วยทางราชการส่วนกลาง โดยเฉพาะกรม
ส่งเสริมการเกษตร ให้มีหน่วยงานท้องถิ่นที่เป็นหน่วยงานใกล้ชิดพี่น้องประชาชนได้เข้ามาเติมเต็มในภาคเกษตร จึงตั้ง “กองส่งเสริมการเกษตร” ขึ้นมา ซึ่งเพิ่งจะเป็นรูปเป็นร่าง


โดยในปี 2567 มีงบประมาณส่วนหนึ่งทำโครงการหลักประมาณ 23 โครงการ ที่จะเข้าไปเป็นตัวเสริมให้กับพี่น้องเกษตรกรในเรื่องของการส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ สร้างงานให้กับเกษตรกร สร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร
“วัตถุประสงค์ก็คือ อยากจะให้อาชีพเกษตรเป็นอาชีพที่มีความมั่นคง เกษตรกรมีรายได้พ้นขีดความยากจน และไม่มีหนี้สิน ซึ่งเป็นประเด็นหลักของเกษตรกรไทย ที่ยังไม่หมดเสียทีสำหรับหนี้สิน”
ซึ่งการที่เกษตรกรยังมีหนี้สิน หรือหนี้สินยังไม่หมด เนื่องจากว่า รายได้ไม่เพียงพอ ทำมาแล้ว ผลผลิตที่ได้นำไปขายกับการลงทุนไม่คุ้ม ทำให้เป็นหนี้ เป็นสิน จึงอยากจะส่งเสริมให้เกษตรกรเป็นเกษตรกรแบบทันสมัย สมาร์ทฟาร์มเมอร์ ผลผลิตที่ได้เป็นผลผลิตที่มีคุณภาพ ขายได้ราคา เป็นที่ต้องการของตลาด
“ตรงนี้ อบจ.สงขลาจะต้องเข้ามาส่งเสริม ให้ความรู้แก่เกษตรกรด้านวิชาการ ทั้งเรื่องดิน เรื่องน้ำ
เรื่องพืช เรื่องโรค และเรื่องปุ๋ย รวมถึงในปัจจุบันที่ต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาในการทำการเกษตร”
ซึ่งวิสัยทัศน์ของอบจ.สงขลา เกี่ยวกับการเกษตรกรคือ เป็นองค์กรนำในการพัฒนาการเกษตรแบบบูรณาการ เป็นองค์รวม และครบวงจร เพื่อนำไปสู่ความพอเพียง มั่นคง ยั่งยืน ทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมของจังหวัดสงขลา และพันธกิจก็มีอย่างเช่น การพัฒนาและส่งเสริมการผลิตพืช ปศุสัตว์ประมง แบบครบวงจร


อย่างที่สองคือ การพัฒนาและส่งเสริมความเข้มแข็งของเกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุวเกษตร หรือผู้นำเกษตร กลุ่มเกษตรกร ชุมชนเกษตร ตลอดจนเครือข่ายต่าง ๆ ที่ต้องส่งเสริม ต้องพัฒนา ให้มีความเข้มแข็ง
และอีกประการหนึ่งคือ การพัฒนาและส่งเสริมการเชื่อมโยงการเกษตรกับภาคส่วนต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น การท่องเที่ยวเชิงเกษตร การตลาด การบริการ การแปรรูปเชิงอุตสาหกรรม รวมถึงภาควิชาการ ร่วมกับมหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่จะต้องเชื่อมโยงกัน

“คือพันธกิจขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาที่จะต้องทำให้ได้” นายไพเจน กล่าว และว่าสำหรับ 23 โครงการในปี 2567 ก็แยกเป็นกลุ่ม ๆ ไป เช่น กลุ่มส่งเสริมอาชีพ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 11 โครงการ เป็นการฝึกอบรมส่งเสริมอาชีพให้กับประชาชนในเรื่องการเลี้ยงปลา การเลี้ยงชันโรง การเลี้ยงไก่ไข่ หรือว่าการเพาะเห็ดต่าง ๆ หลายชนิด โครงการพัฒนาพืชเศรษฐกิจโดยเป้าหมายที่จะส่งเสริมก่อนคือ เรื่องมะพร้าวน้ำหอม กาแฟโรบัสต้า ทุเรียนบ้าน ต่อไปก็จะมีมะม่วงเบา ซึ่งเป็นพืชจีไอ ของอำเภอสิงหนคร ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด โครงการส่งเสริมผลิต
ข้าวแบบอินทรีย์ ซึ่งเป็นต้องการของตลาด และซัพพลายยังมีน้อย
การผลิตข้าวเป็นอาหารนก ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด ขายได้ราคา เนื่องจากจังหวัดสงขลาการเลี้ยงนกกันค่อนข้างมาก โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอจะนะ


“จะส่งเสริมการปลูกผักปลอดภัย ส่งเสริมเมือง
สงขลาเป็นเมืองเกษตรอินทรีย์ ตั้งศูนย์ผลิตจุลินทรีย์เพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การบูรณการผลิตกุ้งก้าม
กรามปล่อยสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งทำมาทุกปี”
โครงการฟาร์มทะเล ส่งเสริมเคหกิจเกษตรในครัวเรือนสำหรับเกษตรสูงวัย โครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งสมาร์ทฟาร์เมอร์ โครงการพัฒนาระบบเกษตรอัจฉริยะหรือสมาร์ทฟาร์มเมอร์
“สมาร์ทฟาร์มเมอร์ก็จะเป็นอีกโครงการหนึ่งที่เราจะส่งเสริม และหนึ่งอำเภอหนึ่งสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ก็เป็นการนำร่องทุกอำเภอ”


โครงการส่งเสริมการตลาดและการท่องเที่ยว ก็เป็นอีกโครงการที่จะไปในเรื่องเกษตรแฟร์ที่เราจัดเป็นประจำทุกปี ซึ่งจัดมาแล้ว 2 ปี คือโครงการเกษตรแฟร์และโอทอป
โครงการตลาดนัดเกษตรอบจ.ที่จะจัด “หนึ่งอำเภอหนึ่งตลาดนัดเกษตร” เพื่อให้ผู้ผลิตกับผู้บริโภคมาพบกัน เพื่อที่จะให้ผู้ผลิตมีพื้นที่มาค้าขาย
โครงการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร และก็จัดอัตลักษณ์สงขลาใต้คือ แถวเทพา นาทวี สะบ้าย้อย จะนะ
โครงการส่งเสริมศักยภาพวิสาหกิจชุมชนและเครือข่าย เช่น การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรต่าง ๆ โครงการส่งเสริมปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นสินค้าจีไอ
“กลุ่มพัฒนาเกษตรกรชุมชนและเครือข่าย เป็น
การพัฒนาเครือข่ายด้านการเกษตร มีอาสาสมัครเกษตรของอบจ. มียุวเกษตร โครงการหมอพืชชุมชน
อบจ.สงขลา
โครงการพัฒนาเครือข่ายประมงท้องถิ่น โครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายภาคประชาชน และอาจจะไปศึกษาดูงานด้านเศรษฐกิจพอเพียงโครงการที่ประสบความสำเร็จ และโครงการพัฒนาชุมชนต้นแบบเกษตรตามศาสตร์พระราชา
“ทั้งหมด 23 โครงการที่จะดำเนินการในพื้นที่ทั้ง 16 อำเภอของจังหวัดสงขลาในปีงบประมาณ 2567” นายกไพเจน กล่าว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *