บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “การจัดการภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ในกรณีอุบัติภัยหมู่ ฐานสนับสนุนการพัฒนาปิโตรเลียม สงขลาของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)” วันที่ 8-9 พฤศจิกายน 2566
เวลา 09.00 น. วันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 ณ โรงแรม ลากูน่า แกรนด์ โฮเทล แอนด์ สปา สงขลา อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา เรืออากาศเอก นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง
“การจัดการภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ในกรณีอุบัติภัยหมู่ ฐานสนับสนุนการพัฒนาปิโตรเลียม สงขลาของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)” วันที่ 8-9 พฤศจิกายน 2566
เรืออากาศเอก นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ดังที่ทราบกันดีแล้วว่า อุบัติภัยส่งผลกระทบต่อชีวิต และสุขภาพ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้ว อุบัติภัยหมู่ ซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้าง และเมื่อเกิดเหตุแล้ว ไม่ได้เป็นเพียงความรับผิดชอบของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เป็นภารกิจที่ทุกภาคส่วนต้องบูรณาการ เพื่อตอบสนอง บรรเทา และฟื้นฟูภัยที่เกิดขึ้น
การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ในครั้งนี้ จึงได้จัดขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ในการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ในพื้นที่ฐานสนับสนุนการพัฒนาปิโตรเลียม สงขลา ของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)
เพื่อให้บุคลากรในแต่ละหน่วยงาน มีความเข้าใจบทบาทหน้าที่ ประสานงานอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ในการปฏิบัติงานเมื่อเกิดอุบัติภัยหมู่ และเป็นประโยชน์ในการพัฒนา ปรับปรุงแนวทางให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เข้าร่วมประชุม
พญ.อาทิตยา จงไพบูลย์กิจ ผู้จัดการแผนกการแพทย์และอาชีวอนามัย บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การจัดการภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ในกรณีที่อาจเกิดอุบัติภัยหมู่ในพื้นที่ปฏิบัติการ จังหวัดสงขลาของบริษัทฯ ประจำปี 2566 ในวันนี้
ปตท.สผ. ตระหนักดีว่าธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเป็นธุรกิจที่ต้องรักษาความมั่นคงในการสรรหาปิโตรเลียมและตอบสนองความต้องการใช้พลังงานของประเทศอย่างต่อเนื่องไม่ให้มีการหยุดชะงัก จึงมีแนวทางให้แผนการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจเพื่อให้ ปตท.สผ. สามารถดำเนินงานได้ในสถานการณ์ฉุกเฉินและภาวะวิกฤต ภายใต้ข้อกำหนดของระบบการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย มั่นคง อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินและภาวะวิกฤต โดยให้ความสำคัญและคำนึงถึงการปกป้องชีวิตของพนักงานและบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งด้าน สิ่งแวดล้อม ทรัพย์สิน ตลอดจนชื่อเสียงขององค์กร
ปตท.สผ. ได้จัดทำแผนการตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินในหลายระดับและทำการปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จึงกำหนดให้มีการทบทวนแผนและฝึกซ้อม เพื่อเตรียมพร้อมในการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินหรือสถานการณ์วิกฤติอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่า สามารถปฏิบัติเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินและสภาวะวิกฤตได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพสูงสุด และองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉิน คือ การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ทั้งภายในและภายนอกหน่วยงาน เพื่อตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ในเขตพื้นที่ปฏิบัติการ
การจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ในครั้งนี้ ได้จัดเตรียมเนื้อหาไว้ หลายด้าน ได้แก่ 1) การตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ในประเทศไทย 2) ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน และการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับอุบัติภัยหมู่ในจังหวัดสงขลา 3) ระบบการเตรียมความพร้อมในการรองรับอุบัติภัยหมู่ในพื้นที่ปฏิบัติการของ ปตท.สผ.4) การฝึกซ้อมแผนและอุปกรณ์รองรับอุบัติภัยหมู่ในระบบ ThaiSim โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ
การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ มีผู้เข้าร่วมประชุมจากหลากหลายหน่วยงาน ประกอบด้วย หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องด้านการรองรับอุบัติภัย โรงพยาบาล และบุคลากรด้านการรองรับอุบัติภัย รวมทั้งสิ้นประมาณ 100 คน
นายบัญชา ฉิมตระกูล ผู้จัดการฐานสนับสนุนการพัฒนาปิโตรเลียม สงขลา กล่าวว่า โครงการฐานสนับสนุนการพัฒนาปิโตรเลียม สงขลา ตั้งอยู่ที่อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เป็นฐานสนับสนุนและส่งกำลังบำรุงให้แก่กิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่อ่าวไทยและพื้นที่ร่วมพัฒนาไทยมาเลเซีย มีส่วนในการช่วยสร้างงาน ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดสงขลา ทั้งให้ความสำคัญกับการพัฒนาชุมชนและสังคม และพร้อมที่จะร่วมมือและประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความช่วยเหลือชุมชนหากเกิดวิกฤติการณ์ต่างๆ ด้วย
การประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ นับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ได้แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของบริษัทฯ และแสดงให้เห็นความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆที่ได้มาเข้าร่วมประชุมและฝึกปฏิบัติในช่วงสองวันนี้ ทั้งจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องด้านการรองรับอุบัติภัย โรงพยาบาล และบุคลากรด้านการรองรับอุบัติภัย ซึ่งครอบคลุมในจังหวัดสงขลา
/////////////////////
สำนักข่าวโฟกัส