เมื่อ 16 กรกฎาคม 2566 จากเหตุการณ์ที่กลุ่มผู้แสวงบุญชาวไทย ที่เดินทางไปประกอบ พิธีฮัจญ์ ที่เมืองมักกะห์ ประเทศซาอุดีอาระเบียจำนวน 21 คนจากผู้เสียหายกว่า 500 คน ร้องเรียนไปยังเจ้าหน้าที่กรณีผู้ประกอบการเป็นบริษัททัวร์ประกอบการฮัจญ์แห่งหนึ่งในพื้นที่จังหวัดยะลา กรณีผิดสัญญากับฮุจญาจ หรือผู้แสวงบุญฮัจญ์ ถูกลอยแพ ส่งผลต่อสภาพความเป็นอยู่และอาหารการกินระหว่างพำนักที่ค่อนข้างแย่จนเป็นอุปสรรคต่อการประกอบพิธี
ในส่วนของเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบข้อมูลแล้ว พบว่าเป็นบริษัทเดียวกัน พร้อมพยายามหาแนวทางและเจรจากับบริษัท แต่ล่าสุดทางคณะที่เดือดร้อนยืนยันว่า ปัญหายังไม่มีใครมาช่วยเหลือใดๆ มีแต่เจ้าหน้าที่ขอข้อมูลเพิ่มเติมเท่านั้น จึงอยากเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความเป็นธรรมจากกรณีดังกล่าวอย่างจริงจัง และไม่ต้องการให้มีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นอีก
ด้านทนายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ อีด ได้มีการโพสต์เฟซบุ๊ค ระบุว่า
เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2566 ผมได้รับหนังสือร้องขอความเป็นธรรมจากตัวแทนฮุจญาจ ที่อยู่มักกะห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย มีฮุจญาจที่เป็นผู้เสียหายร่วม 280 คน โดยแจ้งว่าได้รับการปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมจาก หจก..ผู้ประกอบการฮัจย์แห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่จังหวัดยะลา โดยไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญา โดยฮุจญาจต้องเสียค่าใช้จ่ายในการประกอบพิธีฮัจย์ครั้งนี้ คนละ 270,000-279,000 บาท ซึ่งราคานี้ควรจะได้รับ การเป็นอยู่ ที่พัก อาหาร และ ตารางการประกอบอาม้าลอิบาดะห์ที่ดี แต่ผู้ประกอบการ ไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นตามสัญญาที่ให้ไว้กับฮุจญาจก่อนเดินทาง
‘เบื้องต้นผมได้โทรศัพท์ประสานงาน กับอะมีรุ้ลฮัจย์ นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล และนายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขา ศอ.บต. เบื้องต้นทราบว่าได้มีตัวแทนกงศุลไปสอบถามฮุจญาจ และมีตัวแทนจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ไปสอบถามและเก็บข้อมูลเบื้องต้นจากตัวแทนฮุจญาจ และได้มีคำสั่งให้พิจารณาให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน’
ความต้องการของฮุจญาจ ไม่ได้ต้องการเงินคืนจากผู้ประกอบการ แต่ฮุจญาจทุกคนต้องการที่จะประกอบพิธีฮัจย์ ทำอาม้าลอิบาดะห์ให้สมบูรณ์เป็นไปตามเงื่อนไขที่ผู้ประกอบการให้ไว้กับฮุจญาจก่อนเดินทาง
ผมและทีมงานจะติดตามความคืบหน้าเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป
นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ผมในฐานะที่เป็นหัวหน้าคณะฮัจญ์ไทย หรือ อะมีรุลฮัจญ์ ได้ติดตามมาตั้งแต่ต้น ปัญหาที่พบเจอคือสัญญาที่บริษัทให้กับฮุจญาตนั้นไม่เป็นไปตามข้อตกลง และเป็นเงินจำนวนมาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่สามารถเข้าไปรับผิดชอบได้ จึงต้องเป็นการดำเนินการทางกฎหมายในแง่ของการผิดสัญญา
ปัญหาเรื่องที่พักที่เมืองมาดีนะฮฺ ซึ่งทางบริษัทสัญญาไว้ว่าจะให้ฮุจญาตเข้าพัก 8-9 วัน แต่ทางบริษัทลงทะเบียบไว้แค่ 3 วัน ทำให้มีความเสียหายหลักล้าน ตรงนี้หน่วยงานก็คงไม่สามารถเข้ามาแก้ไขได้ แแต่ผมได้ทราบจาก อดีต ส.ส. อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ว่าคงมีการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ประกอบการ ตรงนี้กเป็นกระบวนการทางกฎหมายที่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการต่อไป และคงมีมาตรการของกรมการปกครองในฐานะที่เป็นเลขาธิการกิจการฮัจญ์แห่งประเทศไทย
เบื้องต้นที่ได้ให้ความช่วยเหลือโดยการระดมเงินจากหน่วยงานหลาย ๆ ส่วน เช่น คณะกรรมการกลางอิสลลามแห่งประเทศไทย โดยท่านเลขาฯ สุรินทร์ ปาลาเร่ และคณะกรรการอิสลามประจำจังหวัดอีก 5 จังหวัด เป็นจำนวนเงิน 2 แสนกว่าบาท ช่วยค่าอาหาร เป็นการเบื้องต้น เพราะไม่มีงบประมาณมากมายที่จะไปช่วยเหลือทั้งหมด และปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นความบกพร่องของบริษัทด้วย ลำดับต่อมาผมจะส่งเงินไปสมทบทุนอีกประมาณจำนวนหนึ่ง ช่วยเหลือค่าอาหารก่อน เพราะทราบมาว่าผู้นำกลุ่มหรือแซะห์ ไม่มีค่าใช้จ่ายที่จะดำเนินการดูแลฮุญาต
ทั้งนี้ผมได้ทราบจาก อธิบดีกรมการปกครองว่า มันยังมีเงินประกันที่ใช้ประกันในเหตุฉุกเฉิน ที่จะส่งไปช่วยเหลือก่อน แล้วมาหักกับเงินประกันที่บริษัทวางไว้กับกรมการปกครองอีกครั้งหนึ่ง
ส่วนของเที่ยวบินจะไม่มีปัญหา เนื่องจากในการลงทะเบียน กรมการปกครองได้วางมาตรการไว้ 2 อย่าง คือ ที่พักและเที่ยวบินอยู่แล้ว หากไม่มีทั้งสองอย่างก็ไม่สามารถเดินทางได้
บริษัทที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ มีบริษัทเดียว เป็นบริษัทใหญ่ที่ทำงานมานาน แต่มีปัญหา จนเคยปิดบริษัทไปครั้งหนึ่ง และกลับมาตั้งใหม่ ตรงเป็นช่องว่างทางกฎหมายเหมือนกัน เนื่องจากการจดทะเบียนบริษัท หน้าที่ของหน่วยงานราชการคือต้องอำนวยความสะดวก ทำให้เจอปัญหาว่าบริษัทที่เคยทำความผิด ถูกลงโทษหรือใช้วิธีปิดบริษัท สามารถเปิดบริษัทใหม่โดยมีนอมินีมาเปิด แต่ยังเป็นเจ้าของคนหรือกลุ่มเดิม บอร์ดบริหารของกิจการหัจญ์ต้องไปทบทวนอีกครั้งหนึ่งว่าจะวางมาตรการเพิ่มเติมอย่างไร