Home » ข่าว » พระมหากษัตริย์ ราชวงศ์จักรี๕ พระองค์ ที่เคยเสด็จเมืองสงขลา

พระมหากษัตริย์ ราชวงศ์จักรี๕ พระองค์ ที่เคยเสด็จเมืองสงขลา

สงขลา ถือเป็นหนึ่งหัวเมืองสำคัญของประเทศไทย ที่คณะรัฐมนตรีได้ประกาศให้เมืองสงขลา เป็นหนึ่งหัวเมืองในการประกาศให้เป็นเมืองเก่าที่ต้องอนุรักษ์ ให้เป็นหนึ่งในเมืองสำคัญในการสร้างชาติไทยโดยเฉพาะเรื่องราวความสวยงามในเรื่องความหลากหลายวัฒนธรรม ของสงขลา ที่เปรียบได้กับ “เมืองจำลอง” ของการอยู่ร่วมโลกเดียวกัน ร่วมสัมพันธุ์ต่างวัฒนธรรม จำลองอยู่ร่วมกันด้วยเสรีภาพและประชาธิปไตย อย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรีในความเท่าเที่ยมกันของทุกวัฒนธรรม ที่ล้วนได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ ให้เป็นผู้ดูแลเป็นเจ้าเมืองในแต่ละช่วงเวลา

และถือเป็นเมืองที่พระมหากษัตริย์ได้ให้ความสำคัญและเสด็จพระราชดำเนินมายังสงขลากันหลายพระองค์โดยเฉพาะพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักกรี ที่เสด็จมายังสงขลา เป็นพระองค์แรก คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ซึ่งทรงเสด็จเป็นพระองค์แรก ติดต่อกันถึง ๒ ครั้ง ในครั้งแรก เสด็จถึงมายังสงขลา เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๐๒ มาถึงสงขลาในเวลาประมาณ ๑๗ นาฬิกา ครั้นมาถึงสงขลาแล้ว โปรด ให้เจ้าพระยาวิเชียรคีรี เข้าเฝ้า เมื่อเจ้าพระยาวิเชียรคีรีมาอยู่ตรงหน้า พระองค์ทรงตรัสถึงการที่จัดทำที่ประทับไว้รับรองว่า “มาแล้วฤๅ เค้าบอกข้าว่าทำแข็งแรงนักหนา ลงทุนใช้เงินทองมากมาย” “ครั้นทำหนักหนา ดังนี้ จะมาเรียกวังสงขลาเสียเถิด” พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเมืองสงขลาในครั้งแรกทรงประทับอยู่ที่เมืองสงขลาถึง ๘ วัน ๙ คืน คือระหว่างวันที่ ๒๐-๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๐๒ และ ในโอกาสต่อมายังทรงตรัสว่า “มาถึงเมืองนี้เมืองเค้าสนุกสนาน ผู้คนมั่งคั่งมาก มีแต่จำเริญขึ้นไป เมืองอื่นขยับจะสู้เขาไม่ได้” และยังได้สร้างหอไตรพระจอมไว้ให้เป็นต้นแบบในการสร้างอาคารสำคัญของวัดว่า จะต้องยกพื้นให้สูงประมาณไหน ขึ้นที่วัดมัชฌิมาวาส หรือวัดกลางของเมืองสงขลา ต่อมา ได้เสด็จสงขลาเป็นครั้งที่ ๒ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๖ และได้สร้างเจดีย์ไว้เป็นอนุสรณ์ที่บนเขาตังกวน

ส่วน พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ทรงเสด็จสงขลาเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๓ และ จะเสด็จมาประทับที่สงขลาในทุกครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินมาเยือนประเทศในแหลมมลายู รวมการเสด็จเมืองสงขลาถึงกว่า ๑๐ ครั้ง อาทิปี พ.ศ. ๒๔๑๔ กลับจากเยือน
ประเทศอินเดีย ทางถนนไทรบุรีมาลงเรือที่สงขลา ทรงวินิจฉัยในเรื่องราวของชื่อเมืองสงขลาว่า “สงขลานี้เดิมชื่อ สิงหนคร อ่านว่า สิง-หะ-นะ-คะ-ระ เสียงสะระอะอยู่ท้าย มลายูไม่ชอบ จึงเปลี่ยนเป็น อา และ ชาวมลายูพูดลิ้นรัว เร็วกว่าเรามาก ตัด หะ และ นะ ออก คงเหลือ สิงคะรา แต่เค้าออกเสียงเป็น ซิงโครา จนฝรั่งเรียกตามเป็น ซิงกอรา Singora”

ส่วน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงเสด็จสงขลา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๘ ทรงเสด็จมาซ้อมรบเสือป่า ที่บริเวณคลองสำโรง ถึงข้ามคืน และทรงเป็นประธานในพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา “เสือป่ามณฑลนครศรีธรรมราช” ที่สงขลา

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ หลังเกิดเหตุการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ จาก
ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยคณะราษฏร์ ซึ่งพระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยให้แก่ประชาชนอยู่แล้ว ต่อมาเมื่อมีเหตุการณ์ไม่สงบในพระนคร พระองค์ทรงตัดสินใจเสด็จพระราชดำเนินมาประทับที่เมืองสงขลา มาถึงเมืองสงขลาในวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ และทรงประทับอยู่ที่เมืองสงขลา ถึง ๔๘ วัน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ทรงเสด็จสงขลา มากที่สุด ถึง ๔๗ ครั้ง โดยเสด็จครั้งแรกในวันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๐๒ และประทับที่ตำหนักเขาน้อย จนถึงวันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๐๒

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในความภูมิใจของจังหวัดสงขลา ที่ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาของความสุข.. และความวุ่นวายในพระนครส่วนกลาง สงขลาคือเมืองที่อยู่ในความสำคัญ ของพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี ที่ พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้เปรียบเมืองสงขลาเหมือนหนึ่งรัตนะที่อยู่ในพระมหาพิชัยมงกุฎของพระองค์ ของพระมหากษัตริย์ราชวงจักรี.. ที่จะเป็นความภูมิใจสูงสุดของสงขลาตราบนิรันดร์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *