Home » ข่าว » ตำนานหัวนายแรง นิทานประจำถิ่นสู่หินบูชาสักการะ

ตำนานหัวนายแรง นิทานประจำถิ่นสู่หินบูชาสักการะ

นายแรง จัดเป็นเรื่องเล่าประเภทนิทานประจำถิ่น ถูกเล่าขานกันมาอย่างลักษณะพิเศษ เชื่อมโยงเรื่องราวกับชื่อนามของเมืองหรือสถานที่ในแต่ละจังหวัด เริ่มจากจังหวัดพัทลุงเรื่อยไปจนถึงจังหวัดสงขลา แสดงให้เห็นถึงการแพร่กระจายของนิทานจะมีอยู่ในพื้นที่รอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ยกตัวอย่างส่วนหนึ่งจากนิทานที่มีเนื้อหาว่า
วันหนึ่งนายแรงจับโจรที่เข้ามาปล้นวัวควายในหมู่บ้านได้ถึง 4 คน ทำให้โจรกลุ่มอื่นๆ หวาดกลัวไม่กล้าเข้ามาปล้นในหมู่บ้านนี้อีก นายแรงจึงเป็นที่รักของชาวบ้านทั่วไป ได้นำวัวควายมาให้นายแรเลี้ยง

นายแรงนำวัวไปเลี้ยงไว้ที่เชิงเขาลูกหนึ่ง ปัจจุบันเรียกว่า “เขาหลักโค” ปัจจุบันอำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง
นำไก่ไปเลี้ยงไว้ที่เขาอีกลูกหนึ่ง เรียกว่า “เขาหลักไก่” ปัจจุบันอำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง
นำควายไปเลี้ยงไว้ที่เกาะใหญ่ เรียกสถานที่นั้นว่า “คอกควายนายแรง” ปัจจุบันตำบลนาโหนด อำเภอเมืองพัทลุง

วันหนึ่งหมู่บ้านที่นายแรงอยู่มักมีช้างป่าออกมาอาละวาดทำลายเรือกสวนไร่นาชาวบ้าน มีจ่าโขลงตัวหนึ่งมีความดุร้ายมาก ออกมาถอนต้นไม้ พังบ้านเรือนราษฎรอยู่เสมอ นายแรงรับอาสาจับช้างตัวนั้นแล้วโยนไปตกที่จังหวัดสงขลากลายเป็นเขาลูกหนึ่ง เรียกว่า “เขาลูกช้าง” ปัจจุบันเรียกคือตำบลเขารูปช้าง จังหวัดสงขลา


นิทานเรื่องนี้กลายเป็นตำนานความเชื่อที่เคารพนับถือ ชาวบ้านเรียกกันในภาษาพื้นถิ่นว่า ตำนานเขาหัวนายแรง อันมีสถานที่สักการะขอพร อยู่ตรงวัดเขาเก้าเส้ง อำเภอเมืองสงขลา
เขาเก้าเส้ง เป็นเขาหินที่แตกต่างจากภูเขาริมทะเลอื่นๆของสงขลา ในบริเวณทีก้อนหินใหญ่รูปร่างแปลกตาหลายอัน จุดเด่นที่สุด คือ หินหัวนายแรง เป็นหินยักษ์ที่ตั้งอยู่ตรงบริเวณริมหน้าผา เชื่อกันว่ามีสมบัติเงินทองมากมายของนายแรงถูกฝังอยู่ใต้หินก้อนหินก้อนนี้


เรื่องมีอยุ่ว่าได้มีช่วงเวลาที่เมืองขึ้นของไทยทางมลายูเกิดแข็งเมือง นายแรงจึงอาสาไปรบศึกครั้งนี้ เป็นกองหน้าบุกตะลุยข้าศึกจนได้รับชัยชนะ นายทัพฝ่ายไทยเห็นว่านายแรงมีฝีมือยอดเยี่ยมมีกำลังมาก จึงแต่งตั้งให้เป็นเจ้าของเมืองหนึ่ง ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของนครศรีธรรมราช


วันหนึ่งเมืองนครศรีธรรมราชกำหนดบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในเจดีย์ และจัดงานเฉลิมฉลองใหญ่โต บรรดา 12 หัวเมืองปักษ์ใต้ต่างก็นำเงินทองไปบรรจุในพระบรมธาตุ นายแรงที่มีความศรัทธาในพุทธศาสนา จึงขนเงินทองเป็นจำนวนมากถึงเก้าแสนบรรทุกเรือสำเภา พร้อมด้วยไพร่พลออกเดินทางไปเมืองนครศรีธรรมราช หมายนำไปบรรจุในพระบรมธาตุเช่นกัน ขณะกำลังเดินทางเรือสำเภาที่นายแรงโดยสารมาถูกคลื่นลมชำรุด จึงเข้าจอดเรือที่ชายฝั่งหาดทรายแห่งหนึ่งเพื่อซ่อมแซมเรือ พอได้ทราบข่าวว่าทางเมืองนครศรีธรรมราชได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุเสร็จแล้ว นายแรงเสียใจมาก จึงให้ไพร่พลขนเงินทองบรรจุไว้บนยอดเขาลูกหนึ่ง สั่งให้ลูกเรือตัดหัวของตนไปวางไว้ที่ยอดเขา นายแรงกลั้นใจตาย ลูกเรือต้องจำใจตัดหัวเจ้านายไปวางไว้บนยอดเขาตามคำสั่ง เขาลูกนี้ภายหลังเรียกว่า “เขาแก้วแสน” เสียงเพี้ยนไปเป็น “เก้าเส้ง” ก้อนหินที่ปิดทับอยู่บนยอดเขาเรียกว่า “หัวนายแรง” ชาวบ้านเชื่อว่าดวงวิญญาณของนายแรงยังเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์อยู่ที่เขาเก้าเส้ง อำเภอเมืองสงขลา มาจนทุกวันนี้

บนเขาเก้าเส้งยังเป็นที่ตั้งของวัดเขาเก้าแสน ภายในวัดมี “วิหารพระพุทธมารดา” ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางประสูติ และกลางลานวัดประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ใหญ่นามว่า “พระพุทธเมตตา” จากตัววัดมีบันไดหินเดินขึ้นไปสู่เนินเขาใกล้ ๆ กัน บนยอดเนินประดิษฐาน “พระเจดีย์ยอดเขาเก้าเส้ง” เป็นเจดีย์ทรงลังกาก่ออิฐถือปูน ศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้น

 facebook : สงขลาโฟกัส – SongkhlaFocus

 Website : www.สงขลาโฟกัส.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *