Home » ข่าว » ชี้มูลอดีตรองนายก อบจ.สงขลาทำสมุดคัดกรองโรคสูงเกินจริง 36 ล.

ชี้มูลอดีตรองนายก อบจ.สงขลาทำสมุดคัดกรองโรคสูงเกินจริง 36 ล.

มติป.ป.ช. เอกฉันท์ 5 เสียง ชี้มูล “รองโอ้เล้“ ยุทธพงศ์ มุณีสิทธิ์ เมื่อครั้งตำแหน่งรองนายก อบจ.สงขลา
กับพวกรวม 13 ราย จัดซื้อจัดจ้างมิชอบ ยื่นอัยการสูงสุดสางฟ้องศาลต้อไป

วันที่ 27 กันยายน 2567 คณะกรรมการป้องกันและปราบปราม การทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้พิจารณาในการประชุม ครั้งที่ 45/2567 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2567 วาระที่ 3.4 ที่ประชุมพิจารณามีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนน 5 เสียง กล่าวหานายยุทธพงศ์ มุณีสิทธิ์ (รองฯโอเล้) อดีตรองนายกอบจ.สงขลา กับพวกอีก 13 ราย ในข้อกล่าวหา จัดทำสมุดบันทึกการคัดกรองโรคขั้นพื้นฐานสำหรับครัวเรือนของอบจ.สงขลา ปีงบประมาณ 2556 ตามสัญญาจ้างเลขที่ ๑๖๕/๒๕๕๖ ลงวันที่ 28 มิถุนายน 2556 โดยมีราคา
สูงเกินสมควรเป็นไปโดยมิชอบ

โดยมีพฤติการณ์ในการกระทำความผิด เมื่อปีงบประมาณ 2556 อบจ.สงขลา ได้จัดทำโครงการส่งเสริมการคัดกรองโรคขั้นพื้นฐานสำหรับครัวเรือน งบประมาณ 36,000,000 บาท โดยดำเนินการจัดจ้างจัดทำสมุดบันทึกการคัดกรองโรคขั้นพื้นฐานสำหรับครัวเรือน ในพื้นที่จังหวัดสงขลา 16 อำเภอ จำนวน 450,000 เล่ม

ซึ่งในขั้นตอนการกำหนดรายละเอียดและประมาณการราคาของโครงการดังกล่าว คณะกรรมการกำหนดรายละเอียดและประมาณการราคา ได้ร่วมกันกำหนดราคาสมุดบันทึกฯ โดยใช้ข้อมูลของห้างหุ้นส่วนจำกัด ปานปั้น พาณิชย์ เซ็นเตอร์ ซึ่งไม่มีลักษณะของห้างร้านที่รับจ้างจัดทำสมุดบันทึกฯ

และไม่ได้ประกอบกิจการโรงพิมพ์หรือประกอบอาชีพเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์ และกำหนดประมาณราคาให้สูงกว่าราคาที่ควรจะเป็น เป็นเงิน 19,993,500 บาท เป็นผลให้อบจ.สงขลาต้องจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด ปานปั้น พาณิชย์ เซ็นเตอร์ สูงกว่าราคาที่ควรจะเป็น ทำให้ทางราชการเสียหายเป็นเงิน 19,903,500 บาท

โดยข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนแสดงให้เห็นว่า เมื่อปีงบประมาณ 2556 อบจ.สงขลา โดยนายยุทธพงศ์ มุณีสิทธิ์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ได้อนุมัติให้จัดทำโครงการส่งเสริมการคัดกรองโรคขั้นพื้นฐานครัวเรือน โดยจัดทำสมุดบันทึกคัดกรองโรคขั้นพื้นฐานสำหรับครัวเรือน 450,000 เล่ม งบประมาณ 36,000,000 บาท
ปรากฏว่า คณะกรรมการกำหนดรายละเอียดและประมาณการราคา (ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 3 – 10) ร่วมกันสืบราคาโดยนำข้อมูลของห้างหุ้นส่วนจำกัด ปานปั้น พาณิชย์ เซ็นเตอร์ เสนอราคา เล่มละ 80 บาท ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดสงขลา ไปเทียบเคียงกับราคาของผู้มีอาชีพรับจ้างในพื้นที่จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี และกรุงเทพมหานคร ทั้งที่ทราบดีอยู่แล้วว่าการเสนอราคาของผู้มีอาชีพรับจ้างในพื้นที่จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี และกรุงเทพมหานคร จะต้องรวมค่าขนส่งและค่าดำเนินการอื่น ๆ ซึ่งทำให้มีราคาสูงกว่าราคาของห้างหุ้นส่วนจำกัด ปานปั้น พาณิชย์ เซ็นเตอร์

และปรากฏหลักฐานสำคัญจากการสืบราคาในการจัดพิมพ์สมุดฯ ซึ่งรวมค่าภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว โดยมีการกำหนดรูปแบบรายละเอียดในการจัดพิมพ์สมุดฯ แบบเดียวกัน และช่วงเวลาใกล้เคียงกันกับโครงการดังกล่าว จากผู้ประกอบกิจการโรงพิมพ์หรือประกอบอาชีพเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์ในจังหวัดสงขลา 3 ร้าน เสนอราคาเฉลี่ย ราคา 36.56 บาท หากอบจ.สงขลาจัดจ้างในราคาเฉลี่ยเล่มละ 36.56 บาท จะใช้เงินจัดจ้าง 16,452,000 บาท และประหยัดงบประมาณไปได้ 19,458,000 บาท

ดังนั้น การที่คณะกรรมการกำหนดรายละเอียดและประมาณการราคาไม่ได้สืบราคาจากโรงพิมพ์ในพื้นที่จังหวัดสงขลา ทำให้การจัดทำราคากลางไม่สอดคล้องใกล้เคียงกับราคาตลาด ส่งผลให้จัดจ้างในราคาสูงเกินสมควร ซึ่งทำให้อบจ.สงขลา และทางราชการได้รับความเสียหาย

พิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อได้ความว่าการสืบราคาของคณะกรรมการกำหนดรายละเอียดและประมาณการราคา ไม่ชอบด้วยระเบียบหลักเกณฑ์ของทางราชการ เป็นเหตุให้อบจ.สงขลา ต้องจ้างแพงกว่าความเป็นจริง ส่อให้เห็นถึงความไม่สุจริตของคณะกรรมการฯ แม้ไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการฯ กระทำการโดยทุจริต แต่การกระทำของคณะการการฯ บ่งชี้ว่ามีเจตนากระทำโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการและอบจ.สงขลา อันมีมูลเป็นความผิดทางอาญา

จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 5 เสียงกล่าวหา แต่ละราย ดังนี้

การกระทำของนายยุทธพงศ์ มุณีสิทธิ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 และมีมูลความผิด ตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 77

ส่วนการกระทำของ นายอัฐชัย พรหมมณี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 นางปิยะพร โยธี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 และนางภคพร บุญมา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามประกาศคณะกรรมการข้าราชการองค์การบริหาร
ส่วนจังหวัดสงขลา เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวน การลงโทษทางวินัย การให้ออกจากราชการ การอุทธรณ์และการร้องทุกข์ ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2544 ข้อ 3 วรรคสาม และข้อ 6 วรรคสอง

ขณะที่การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 จากการไต่สวนเบื้องต้น ไม่ปรากฏพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟัง
ได้ว่า ได้กระทำการอันมีมูลความผิดอาญาตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาในทางอาญาไม่มีมูลให้ข้อกล่าวหาตกไป แต่มีมูลความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรงตามประกาศคณะกรรมการข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวน การลงโทษทางวินัย การให้ออกจากราชการ การอุทธรณ์และการร้องทุกข์ ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2544 ข้อ 6 วรรคหนึ่ง
ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 – 13 จากการไต่สวนเบื้องต้น ไม่ปรากฏพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่า ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป และให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีกับนายยุทธพงศ์ มุณีสิทธิ์นายอัฐชัย พรหมมณี นางปิยะพร โยธี และนางภคพร บุญมา และส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐานและคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัยกับนายยุทธพงศ์ มุณีสิทธิ์ นายอัฐชัย พรหมมณี นางปิยะพร โยธี นางภคพร บุญมา และผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 ตามฐานความผิดดังกล่าว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *