หลังจากเกิดเหตุระเบิด 2 ครั้งที่พักคนงานก่อสร้างเจ้าแม่กวนอิม บ้านปากบาง หมู่ที่ 1 ตำบลสะกอม อำเภอเทพาจังหวัดสงขลา พิกัด QH 032692 เวลา 06.00 น. วันที่ 20 พฤศจิกายน 2567
นายเสกสัน ซาหีมซา นายกอบต.สะกอม อ.เทพา จ.สงขลา เปิดใจกับ“สงขลาโฟกัส”ว่า เมื่อเวลาประมาณ06.00 น.วันที่ 20 พฤศจิกายน 2567
ระหว่างเดินทางออกจากบ้านพักเพื่อเดินทางไปขึ้นรถบัสที่โรงแยกก๊าซฯไทย-มาเลเซีย เพื่อเดินทางไปดูงานที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ของบริษัท ทรานส์ ไทย-มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด
ได้ยินเสียงดังเกิดขึ้น แต่เข้าใจว่าเป็นเสียงฟ้าลั่น เนื่องจากช่วงนี้มีการแจ้งเตือนว่าตั้งแต่วันที่ 20-23 พฤศจิกายน 2567 จะมีฝนตกหนักในพื้นที่ แต่เมื่อมองไปบนท้องฟ้าต้นเสียงที่ดังพบว่ามีกลุ่มควันสีดำ ก็ยังเข้าใจว่าหรือเป็นเมฆฝน
ต่อมาเมื่อเดินทางมาถึงอำเภอจะนะ ก็ได้รับแจ้งจากกจ้าหน้าที่ว่าเสียงที่ดังเมื่อตอน 06.00 น.พื้นที่ หมู่ 1 นั้นเป็นเสียงระเบิดที่เกิดขึ้นในที่พักคนงานก่อสร้างเจ้าแม่กวนอิม
“ก็รู้สึกตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะไม่คิดว่าจะเกิดเหตุระเบิดขึ้นในพื้นที่การก่อสร้างเจ้าแม่กวนอิม เพราะเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา เพิ่งเข้าร่วมพิธีลงเสาเอกเจ้าแม่กวนอิมองค์ใหญ่ที่สุดในโลก”
โดยนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) เดินทางมาเป็นประธานพิธี พร้อมด้วยนายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
นายสมยศ พลายด้วง สส.พรรคประชาธิปัตย์ จ.สงขลา รวมถึงนายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการ เข้าร่วมพิธีดังกล่าว ซึ่งการก่อสร้างเจ้าแม่กวนอิมมีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ (โครงสร้าง)
ทำให้บริษัทรับเหมาก่อสร้างในส่วนของตัวโครงสร้างเริ่มทยอยเคลียร์พื้นที่และคนงานออกจากพื้นที่ เนื่องจากจะมีบริษัทที่มารับช่วงในการดำเนินการหล่อองค์เจ้าแม่กวนอิม ซึ่งจะเป็นอีกบริษัท
สำหรับการก่อสร้างเจ้าแม่กวนอิมเริ่มก่อสร้างมาแล้วประมาณ 2 ปีกว่า และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2568 ซึ่งก่อนหน้าที่เกิดเหตุระเบิดก็ไม่พบความผิดปกติอะไรในพื้นที่
แต่ก็ต้องยอมรับว่านับตั้งแต่มีข่าวว่าจะมีการก่อสร้างเจ้าแม่กวนอิม ก็มีเสียงคัดค้านจากประชาชนในพื้นทีค่อนข้างรุนแรง จนทำให้ในวงเสวนาชาวบ้านมีการพูดว่ากลัวระเบิดหากโครงการสร้างเสร็จ