“กรมฝนหลวงและการบินเกษตร” จัดตั้ง “สถานีเรดาร์ฝนหลวง” บนเขาคอหงส์ ความถี่ S Band แบบติดตั้งประจำที่ พร้อมอุปกรณ์ และอาคารประกอบ ใช้ตรวจวัดกลุ่มฝน หนุนปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ให้มีประสิทธิภาพและแม่นยำ
กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำโดย นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ลงพื้นที่สำรวจสถานที่ก่อสร้าง “สถานีเรดาร์ฝนหลวงจังหวัดสงขลา” บริเวณเขาคอหงส์ ในพื้นที่สวนสาธารณะเทศบาลนครหาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อใช้ในการ ก่อสร้างสถานีเรดาร์ฝนหลวง จังหวัดสงขลาต่อไป
ปัจจุบัน กรมฝนหลวงฯ มีระบบเรดาร์ตรวจกลุ่มฝน 11 สถานี เพื่อใช้ในการปฏิบัติการฝนหลวงแบ่งออกเป็น สถานีเรดาร์แบบประจำที่ 6 สถานี และสถานีเรดาร์แบบเคลื่อนที่ 5 สถานี ได้แก่
สถานีเรดาร์แบบประจำที่ ชนิด S Band ความถี่ 2.8 GHz มี 6 สถานี ได้แก่ 1. สถานีเรดาร์ฝนหลวงอมก๋อย ต.ยางเปียง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ภารกิจตรวจวัดกลุ่มฝนและสภาพอากาศทั่วไป ในเขตพื้นที่ภาคเหนือฝั่งตะวันตก ตรวจวัดการเกิดกลุ่มฝน/กลุ่มเมฆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนการวางแผนปฏิบัติการฝนหลวง ติดตามประเมินผลการปฏิบัติการฝนหลวง การยับยั้งลูกเห็บและการเตือนภัยให้อากาศยานขณะปฏิบัติการฝนหลวง
2. สถานีเรดาร์ฝนหลวงร้องกวาง ต.ทุ่งศรี อ.ร้องกวาง จ.แพร่ ภารกิจตรวจวัดกลุ่มฝนและสภาพอากาศทั่วไป ในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบน เพื่อใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนการวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงติดตามประเมินผลการปฏิบัติการฝนหลวง บริเวณภาคเหนือ และการเตือนภัยให้อากาศยานขณะปฏิบัติการฝนหลวง
3. สถานีเรดาร์ฝนหลวงตาคลี ต.ตาคลี อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ภารกิจตรวจวัดกลุ่มฝนและสภาพอากาศทั่วไป ในเขตพื้นที่ภาคกลาง เพื่อใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนการวางแผนปฏิบัติการฝนหลวง ติดตามประเมินผลการปฏิบัติการฝนหลวง บริเวณภาคกลาง
และภาคเหนือตอนล่าง และการเตือนภัยให้อากาศยานขณะปฏิบัติการฝนหลวง
4. สถานีเรดาร์ฝนหลวงพิมาย ต.รังกาใหญ่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ภารกิจตรวจวัดกลุ่มฝนและสภาพอากาศทั่วไป ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เพื่อใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนการวางแผนปฏิบัติการฝนหลวง ติดตามประเมินผลการปฏิบัติการฝนหลวงและการเตือนภัยให้อากาศยานขณะปฏิบัติการฝนหลวง
5. สถานีเรดาร์ฝนหลวงสัตหีบ ต.แสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ภารกิจตรวจวัดกลุ่มฝนและสภาพอากาศทั่วไป ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออก เพื่อใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนการวางแผนปฏิบัติการฝนหลวง
ติดตามประเมินผลการปฏิบัติการฝนหลวงบริเวณภาคตะวันออก และการเตือนภัยให้อากาศยานขณะปฏิบัติการฝนหลวง
และ 6. สถานีเรดาร์ฝนหลวงพนม ต.พนม อ.พนม จ.สุราษฎร์ธานี ภารกิจตรวจวัดกลุ่มฝนและสภาพอากาศทั่วไป ในเขตพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันตก เพื่อใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนการวางแผนปฏิบัติการฝนหลวง ติดตามประเมินผลการปฏิบัติการฝนหลวงบริเวณภาคใต้ และการเตือนภัยให้อากาศยานขณะปฏิบัติการฝนหลวง
สำหรับสถานีเรดาร์แบบเคลื่อนที่ ชนิด C Band ความถี่ 5.6 GHz มี 5 สถานี ซึ่งเป็นสถานีเรดาร์แบบเคลื่อนที่ สามารถย้ายไปปฏิบัติงานตามสถานที่ต่างๆ ได้ ตามความเหมาะสม โดยมีแผนการปฏิบัติงานเพื่อสนับสนุนหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงประจำภูมิภาคต่าง ๆ ดังนี้
1. สถานีเรดาร์ฝนหลวงอินทร์บุรี อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี ภารกิจตรวจวัดกลุ่มฝนและสภาพอากาศทั่วไป ในเขตพื้นที่ภาคกลาง เพื่อใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนการวางแผนปฏิบัติการฝนหลวง ติดตามประเมินผลการปฏิบัติการฝนหลวงและการเตือนภัยให้อากาศยานขณะปฏิบัติการฝนหลวง
2. สถานีเรดาร์ฝนหลวงบ้านผือ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ภารกิจตรวจวัดกลุ่มฝนและสภาพอากาศทั่วไป ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เพื่อใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนการวางแผนปฏิบัติการฝนหลวง ติดตามประเมินผลการปฏิบัติการฝนหลวง
และการเตือนภัยให้อากาศยานขณะปฏิบัติการฝนหลวง
3. สถานีเรดาร์ฝนหลวงราษีไศล อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ภารกิจตรวจวัดกลุ่มฝนและสภาพอากาศทั่วไป ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เพื่อใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนการวางแผนปฏิบัติการฝนหลวง ติดตามประเมินผลการปฏิบัติการฝนหลวง และการเตือนภัยให้อากาศยานขณะปฏิบัติการฝนหลวง
4. สถานีเรดาร์ฝนหลวงปะทิว อ.ปะทิว จ.ชุมพร ภารกิจตรวจวัดกลุ่มฝนและสภาพอากาศทั่วไปในเขตพื้นที่ภาคภาคใต้ตอนบน เพื่อใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนการวางแผนปฏิบัติการฝนหลวง ติดตามประเมินผลการปฏิบัติการ ฝนหลวงและการเตือนภัยให้อากาศยานขณะปฏิบัติการฝนหลวง
และ 5. สถานีเรดาร์ฝนหลวงสิงหนคร อ.สิงหนคร จ.สงขลา ภารกิจตรวจวัดกลุ่มฝนและสภาพอากาศทั่วไป ในเขตพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง เพื่อใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนการวางแผนปฏิบัติการฝนหลวง ติดตามประเมินผลการปฏิบัติการฝนหลวง และการเตือนภัยให้อากาศยานขณะปฏิบัติการฝนหลวง
ระบบเรดาร์ตรวจอากาศที่กรมฝนหลวงฯ ใช้งานอยู่มี 2 ชนิดคือ ระบบเรดาร์ตรวจอากาศแบบ S Band ใช้สำหรับการใช้งานแบบติดตั้งประจำที่เนื่องจากมีขนาดใหญ่ เหมาะสำหรับการตรวจฝนกำลังแรงถึงกำลังแรงมาก และสามารถตรวจฝนกำลังอ่อนถึงฝนกำลังปานกลางได้ด้วย
และระบบเรดาร์ตรวจอากาศ แบบ C Band ใช้สำหรับการใช้งานแบบติดตั้งเคลื่อนที่ หรือแบบประจำที่ก็ได้ เนื่องจากมีขนาดเล็กกว่าระบบเรดาร์ตรวจอากาศ แบบ S Band เหมาะสำหรับการตรวจฝนกำลังปานกลางถึงกำลังแรง และสามารถตรวจฝนกำลังอ่อนถึงฝนกำลังปานกลางได้ด้วย
นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ดำเนินการก่อสร้างสถานีเรดาร์ฝนหลวงจังหวัดสงขลา ในพื้นที่บริเวณเขาคอหงส์ ภายในสวนสาธารณะเทศบาลนครหาดใหญ่ เพื่อพัฒนาปฏิบัติการฝนหลวงในภาคใต้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
โดยได้รับการอนุญาตในการขอใช้พื้นที่ก่อสร้างสถานีเรดาร์ฝนหลวงจากเทศบาลนครหาดใหญ่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการปรับพื้นที่ใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 1 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2568
สำหรับ“การจัดตั้งสถานีเรดาห์ฝนหลวง เป็นเรดาห์ความถี่ S Band แบบ Dual Polarization ติดตั้งประจำที่ เนื่องจากมีขนาดใหญ่ ใช้ในการตรวจวัดกลุ่มฝน พร้อมอุปกรณ์ และอาคารประกอบ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวงครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีประสิทธิภาพและมีความแม่นยำในการตรวจสภาพอากาศมากยิ่งขึ้น”
นายสุพิศ กล่าวต่อว่า เรดาร์ฝนหลวง เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ได้ข้อมูลในการติดตามตรวจกลุ่มเมฆฝนได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ สำหรับใช้ในการวางแผน และการทำฝนหลวง การประเมินผล และการเตือนภัยการบินทำฝนหลวง ซึ่งจะเป็นการพัฒนาการทำฝนหลวงให้ดียิ่งขึ้น ทำให้เราสามารถทราบว่ากลุ่มเมฆฝนอยู่บริเวณใด มีความเข้มหรือปริมาณฝนเท่าใด รวมทั้ง สามารถติดตามการเคลื่อนที่ และทิศทางของพายุฝนฟ้าคะนองได้
ทั้งยังมีประโยชน์ในการวิจัยและการพัฒนากรรมวิธีทำฝน รวมทั้งสามารถใช้แจ้งเตือนภัยฝนฟ้าคะนองแก่อากาศยาน และการแจ้งเตือนฝนตกหนัก
ข้อมูลเรดาร์ฝนหลวง ยังจะเป็นประโยชน์ต่อกิจกรรมต่าง ๆ ของการทำฝนหลวง เช่น ข้อมูลเชิงปริมาตร ข้อมูลสภาพอากาศสามมิติ การเตือนภัยจากพายุฝนฟ้าคะนอง โดยการนำเทคโนโลยีเรดาร์มาประยุกต์ใช้กับการทำฝนหลวงนั้น จะเป็นการเสริมสร้างให้ภารกิจการทำฝนหลวงมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น