Home » ข่าว » “อธิการ ม.ทักษิณ”เสนอปลดล็อคแก้วิกฤติการศึกษาไทย!

“อธิการ ม.ทักษิณ”เสนอปลดล็อคแก้วิกฤติการศึกษาไทย!

อธิบการบดี ม.ทักษิณ เผยการศึกษาไทยปัจจุบันเป็นแบบศูนย์รวมและผูกขาด “แช่แข็งความรู้”แนะก้าวข้ามวิกฤติการศึกษา ด้วยการระดมทุกสรรพกำลังจากทุกภาคส่วน เพื่อสร้างการรับรู้

กรณี นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ อดีตประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) แสดงความห่วงใยถึงวิกฤตการศึกษาไทยที่ตกต่ำในหลายประเด็น ครูขาดทักษะ หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานอาชีวศึกษา และอุดมศึกษา ล้าสมัย ไม่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน และความต้องการของประเทศ ทั้งเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เร่งปฏิรูปการศึกษา กระจายอำนาจให้จังหวัดกำกับดูแลการศึกษามากขึ้น รวมถึงปรับการทำงานของศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) เป็นการจ้างแบบพนักงานราชการ สัญญาจ้าง 4 ปี ให้เงินเดือนเท่า สส.เพื่อยกคุณภาพการศึกษาไทยนั้น

รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ จังหวัดสงขลา มองว่าระบบการศึกษาและการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาของไทยเดินทางมาถึงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ หากยังไม่สามารถสร้างจุดเปลี่ยนไปสู่คุณภาพใหม่
ของการจัดการศึกษา หรือพัฒนาคุณภาพที่สอดคล้องกับพลวัตและการเคลื่อนเปลี่ยนของสังคม ทั้งสังคมไทย และสังคมโลก เราอาจเผชิญกับวิกฤติความรู้

“การสร้างสังคมที่มั่นคง แข็งแกร่ง และยั่งยืนได้อนาคตอันใกล้” อธิการบดี ม.ทักษิณ กล่าว และว่ ที่กล่าวเช่นนี้เพราะ หากมองย้อนกลับไปในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา พบว่า เราไม่สามารถสร้างความมั่นคงเชิงนโยบาย ระบบ ทิศทางของการจัดการศึกษาที่ต่อเนื่อง และเชื่อมโยง-เชื่อมต่อถึงในระดับต่างๆ ตั้งแต่ประถมศึกษาถึงมหาวิทยาลัยได้ ระบบการศึกษาแบบรวมศูนย์และผูกขาด ไม่มีพื้นที่การมีส่วนร่วมเชิงนโยบายและการขับเคลื่อนจากสังคม ชุมชน หากมีก็เพียงแต่ตัวประกอบเท่านั้น ทำให้ขาดความหลากหลาย ไม่มีความยืดหยุ่นและแข็งตัว

“ในท่ามกลางพลวัตของความรู้และการเคลื่อนเปลี่ยนของสังคม เนื้อหา หลักสูตร และการจัดการเรียนการสอนไม่ได้ออกแบบเพื่อรับพลวัตใหม่ เนื้อหา/ ตำรา/ หนังสือ ยังเป็นชุด/ องค์ความรู้แบบเดิม เน้นยัดเยียด ท่องจำแบบนกแก้วนกขุนทอง ทำให้ผู้เรียนขาดชุดความรู้ ขาดทักษะ ความสามารถในการวิเคราะห์ การต่อยอด ยกระดับความความคิด “การแช่แข็งความรู้ เท่ากับกับแช่แข็งสังคมในรูปแบบหนึ่ง ทำให้สังคมไทยกำลังเป็นสังคมแห่งความรู้สึกมากกว่าสังคมปัญญา แสวงหาความจริงมากขึ้น”

อธิการบดี ม.ทักษิณ กล่าวต่อว่า เทคนิคและรูปแบบการสอนอาจจะพัฒนาไปพอสมควร เช่น รูปแบบการสอนแบบเชิงรุก การเรียนรู้ที่มีชุมชนเป็นฐาน การเรียนผสมผสานการปฏิบัติ ทว่าโดยรวมยังเน้นไปที่กิจกรรมเชิงรูปแบบมากกว่าเนื้อหา หรือสาระที่เป็นแก่นแกน หรือแม้จะมีแพลตฟอร์มสนับสนุนการเรียนรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย แต่ทักษะ ความพร้อมของผู้สอน โอกาส และการเข้าถึงของผู้เรียนยังมีขีดจำกัดอยู่มาก

เราต้องมีก้าวที่กล้าที่จะฝ่าข้ามวิกฤติ กับดักทางการศึกษา ด้วยการระดมทุกสรรพกำลังจากทุกภาคส่วน เพื่อสร้างการรับรู้ ตื่นตัว ตระหนักถึงความจำเป็นของการพัฒนาคุณภาพการศึกษาครั้งใหญ่ครั้งใหม่ในสังคมไทย ทั้งในแงมุมเชิงนโยบาย การปฏิบัติการ และการขับเคลื่อนแบบไร้รอยต่อ รับส่งกันได้ในทุกระดับ การปรับปรุงหลักสูตร/ สาระการเรียนรู้ ที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียน การเพิ่มเติมทักษะที่หลากหลาย ปัญญาปฏิบัติ ด้วยการผสมผสาน การเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น ข้ามศาสตร์ เป็นสหวิทยาการ ที่สำคัญคือการสนับสนุนสร้างองค์ความรู้ชุดใหม่ ที่ยึดโยงเชื่อมโยงกับพื้นที่ ชุมชน ท้องถิ่น โลก “รู้ราก รู้โลก” อย่างลงตัวและกลมกลืน รูปธรรม
เช่น หากเราเชื่อกันว่าวันนี้ คมไทยกำลังเข้าสู่สังคมประกอบการและการนวัตกรรมมากยิ่งขึ้น คำถามคือ เราจะสร้างสังคม ระบบนิเวศแบบไหนที่เอื้อต่อการสร้างความรู้เพื่อการประกอบการและนวัตกรรม หรือการนำคุณค่าท้องถิ่นสู่สากล ต้องเชื่อมโยงคุณค่า ภูมิปัญญา และมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับได้อย่างไร ในส่วนนี้อาจเป็นบทบาทของมหาวิทยาลัย หรือสถาบันการศึกษาขั้นสูง เป็นต้น

“มหาวิทยาลัยต้องไม่สนใจไต่บันไดดาราการจัดอันดับโลกมาจนเดินไป แต่ใช้การจัดอันดับโลกเป็นเครื่องมือ กลไก และเป็นสะพานเชื่อมโลก-เชื่อมไทย จะคือคุณูปการอันมหาศาลจากการศึกษาสู่นวัตกรรม-ประกอบการ และการพัฒนาที่ยั่งยืน”

อ.อธิการบดี ม.ทักษิณ ยังกล่าวว่า เฉพาะหน้าที่สุด การปรับเปลี่ยนรูปแบบ วิธีการสอน แพลตฟอร์มการเสริมเติมเรื่องทักษะชีวิต-ดำรงชีพ การสร้างกระบวนการคิด วิเคราะห์ ที่เท่าทัน ทันคน ทันโลกผ่านการพัฒนา เตรียม ครู บุคลากรทางการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญมากในสภาวะนี้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *