คอลัมน์ PSU Alumni Talk โดยสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ฉบับนี้ มาสัมผัสเส้นทางความสำเร็จในชีวิต “เฮียจั๊ว” สมศักดิ์ ทิพยรัตน์พรทวี” ศิษย์เก่าดีเด่น จากคณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาฟิสิกส์ ที่เกษียณการทำงานตั้งแต่อายุ 50 ปี และกว่า 30 ปีที่ก้าวออกจากรั้วม.อ. เขาไม่เคยห่างหายไปไหน
“ผมเกิดที่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เป็นลูกคนสุดท้อง คนที่ 12 หลังจากผมเกิดได้ไม่นาน คุณพ่อก็เสียชีวิต ทำให้ครอบครัวมีปัญหาหลายอย่าง แม่จึงเซ้งกิจการทั้งหมดและย้ายมาตั้งต้นใหม่ที่จังหวัดนครสวรรค์”
คุณสมศักดิ์ ทิพยรัตน์พรทวี เล่าว่า มาเรียนชั้น ประถม5 ประถม6 ที่ รร.โชติรวี นครสวรรค์ ต่อ ม.1 จนถึง ม.6 ที่ โรงเรียนลาดยาววิทยาคม อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์
ทอฝันวัยเยาว์สู่ธุรกิจรีไซเคิลระดับประเทศ
“สมัยเรียนผมเป็นจ่าฝูง เป็นประธานนักเรียน ฝันอยากเป็นหมอ จึงสอบเข้ามหาวิทยาลัยอันดับ 1-5เลือกแพทย์ทั้งหมด อันดับสุดท้ายเลือกคณะวิทยาศาสตร์ สงขลานครินทร์”
จนเมื่อได้ทราบว่า สอบติด ม.อ. จึงได้นั่่งรถไฟกว่า 20 ชั่วโมง ลงใต้ครั้งแรกในชีวิต มาเรียนที่คณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. ในปี พ.ศ.2530 รหัส 30-20-146 รุ่นที่ 19 ภาควิชาฟิสิกส์ หรือ Sci 19
“ครั้งแรกที่เดินทางมา ม.อ.รู้สึกใจหาย เพราะเป็นการจากบ้านด้วยระยะทางกว่า 1,200 กิโลเมตร จากสภาพดินฟ้าอากาศ แดด 9 ฝน 3 ที่ นครสวรรค์ มาเจอ ฝน 9 แดด 3 ที่หาดใหญ่ จนเป็นโรคโฮมซิก ผลการเรียนก็ตกต่ำเพราะปรับตัวไม่ได้ กว่าจะเรียกตัวเองกลับมาเข้าฟอร์มเดิมได้ ก็เกือบจะปี 3 แล้ว”
ชีวิตในมหาวิทยาลัย ใน 2 ปีแรกเป็นช่วงของการเรียนรู้ ปรับตัวอย่างมาก จากที่คิดว่าตัวเองเก่งที่สุดในอำเภอ แต่มาอยู่ที่ม.อ. เจอเพื่อนโครงการ พสวท. ตัดเกรด ร่วมกับ คณะแพทย์ คณะวิศวะ ทำให้รู้ว่า ตัวเองนี่ แค่คนขยัน ไม่ใช่หัวดีเด่นอะไร จึงต้องกลับมาโฟกัสตัวเองมากขึ้น ในปี 3 ปี 4 ทำให้ผลการเรียนดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เกรดเฉลี่ยเริ่มคืนสู่ระดับ เกรด 3.00 -3.75 ได้ นอกจากเรียน ก็ยังทำกิจกรรม อยู่ชมรมพุทธศาสนา อยู่ชมรมแบดมินตัน เพราะเป็นกีฬาที่รัก โดยเป็นนักกีฬาตั้งแต่ปี 1 จนถึงเรียนจบ
“ช่วงวัยรุ่น ม.6 ตอนเป็นประธานนักเรียน ผมเคยเก็บขยะโชว์สาว แต่เมื่อเอาไปขายได้เงินมากกว่าที่แม่ให้ไปโรงเรียน เป็น 100 เท่า ในเวลาเพียง 1สัปดาห์ ก็ภูมิใจ ฝังใจ และเสพติดความคิดที่จะหวลกลับมาทำเงิน จากสิ่งนี้
เมื่อได้มาเรียน ภาควิชาวัสดุศาสตร์ ฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยสงขลา จึงมีเป้าหมายจะไปสานต่อธุรกิจรีไซเคิล ที่พี่ชายริเริ่มทำมา”
หลังจากเรียนจบ ป.ตรี (2530-2334) ก็เรียนต่อปริญญาโท วัสดุศาสตร์ ฟิสิกส์ รุ่นแรก คนแรกของ คณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. ในปี 2535-2536 ด้วยเกรดคาบเส้น 3.08 เนื่องจากอยากทำโปรเจกต์ที่เกี่ยวเนื่องกับการรีไซเคิล และเรียนจบภายใน 2 ปี โดยได้เข้าทำงานบริษัท กะรัต สุขภัณฑ์ อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เพื่อสร้างเครือข่ายที่ปรึกษา ทั้งด้าน ขนส่ง วิศวกรรม ฝ่ายบัญชีและการบริหารงานบุคคล เป็นเวลา 3ปี
จนปี 2540 เกิดวิกฤติฟองสบู่แตก ตนเองก็พร้อมสำหรับการออกมาลุยธุรกิจรีไซเคิล บริษัท ทวีทรัพย์ (จิวแจ๊ะเฮง) จำกัด จังหวัดอ่างทอง ซึ่งเป็นบริษัท ผู้ป้อนวัตถุดิบ และตัวแทนค้าวัตถุดิบ ในอุตสาหกรรมรีไซเคิลเศษแก้ว เหล็ก และกระดาษ ร่วมกับพี่ชาย ที่เป็นผู้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2537
โดยตนดูแลด้านการตลาด การผลิต และบริหารควบคุมภายในโรงงาน ขยายงานจากพื้นที่ 7 ไร่ ดินลูกรัง ลูกค้า 2 อำเภอ จนกลายมาเป็นพื้นคอนกรีต มีอาณาเขตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเป็น 54 ไร่ ลูกค้า 67จังหวัด ในปัจจุบัน
เรียกได้ว่า “ทวีทรัพย์ อ่างทอง” เป็นแก้มลิงของวัสดุรีไซเคิล เศษเหล็ก เศษแก้ว และเศษกระดาษ รองรับลูกค้าภาคเหนือทั้งภาค รวมถึงลูกค้าอีสานใต้
“เรารับซื้อในราคาสมเหตุสมผล ลูกค้าก็เลือกเรา และเติบโตมาถึงปัจจุบัน ถือว่าติด 1 ใน 5 ของประเทศ ”
โดย สินค้ารีไซเคิล อันดับ 1 ของบริษัท หลัก ๆ คือ เศษแก้ว รองลงมาเป็นเหล็ก และกระดาษ
“ผมเข้ามาบริหารงานตั้งแต่ปี 2540-2562 และเกษียณตัวเองออกมาขณะอายุครบ 50 ปี ส่งต่อธุรกิจให้หลานชายบริหาร โดยผมรับตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาของบริษัท มาจนถึงปัจจุบัน”
ความภูมิใจ “หนอนน้อยรีไซเคิล อ่างทอง กม.58 ”
หลังเกษียณ ผมใช้เวลาในปีแรกได้เดินทางพบปะครูบาอาจารย์ เพื่อนฝูง ผู้คนมากมาย พอเข้าปีที่ 2 ก็เริ่มเบื่อกับความว่าง จึงลองเริ่มเข้าสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ศึกษาชีวิตผู้คนในตลาดหลักทรัพย์ ในระยะเวลา 1 ปี แล้วผันตัวมาเป็น “นักลงทุนอิสระ” ในปี 2563 จนถึงทุกวันนี้
“หลักคิดของการเรียนรู้ของผมคือ สิ่งไหนที่รู้แล้วไม่ทำเงิน ไม่ให้ความสุข และไม่ได้สติปัญญา ขอไม่ต้องรู้เลยดีกว่า”
แต่ถ้าสิ่งไหนที่รู้แล้ว ให้กำไร ให้ความสุข และได้สติปัญญา ให้เพียรหารู้สิ่งนั้นมาก ๆ
เฮียจั๊ว บอกว่า ความรู้และประสบการณ์ที่ได้จาก ม.อ. นำมาใช้ได้เต็มที่ เพราะผ่านการวางแผนมาแล้ว วัสดุศาสตร์ตรงกับสายงานที่ตนจะทำธุรกิจในอนาคต อย่างเช่น งานเศษแก้ว การที่เรามีความรู้ที่จะพูดคุยกับวิศวกรรมเตาหลอมแก้วได้ ในการประหยัดค่าไฟฟ้า จากการหลอม เพื่อนำมาพัฒนา และเติม Innovation ในงานวัสดุศาสตร์เข้าไปในการคัดเกรดเชิงคุณภาพ
“ผมภาคภูมิใจมากๆ ที่ได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่น ม.อ. ถึง 2 ครั้งคือ ครั้งแรกศิษย์เก่าดีเด่น ด้านส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรม ปี2552 กับครั้งที่สอง ศิษย์เก่าดีเด่น ด้านการสร้างประโยชน์สาธารณะ ปี 2562 ซึ่งเกินกว่าความคาดหมาย เป็นความเมตตาของทางคณะวิทยาศาสตร์ รวมถึงพี่ๆ ในสมาคมศิษย์เก่าฯ ที่เสนอชื่อผมให้รับรางวัลถึงสองครั้ง”
ตนทำงานจิตอาสาเรื่องการจัดการขยะ ให้กับสมาคมสื่อสร้างสรรค์ไทย (อะ อ๊ะ ตาวิเศษ เห็นนะ) และเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องการจัดการขยะ รวมถึงรับเป็นวิทยากรพิเศษ บรรยาย แนวคิดในการสร้างธุรกิจให้กับหน่วยงานต่าง ๆ เป็นเครดิตติดตัว
อีกทั้ง ยังได้เขียนบทความเผยแพร่ความรู้และประสบการณ์ผ่านช่องทางออนไลน์ เกี่ยวกับความรู้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ในการแยกขยะ อาทิ การแยกเศษแก้วอย่างไรบ้าง โดยใช้นามปากกาว่า “หนอนน้อยรีไซเคิล” เพราะตอนที่เริ่มเข้ามา บริหารกิจการ มองว่าตนเองเป็นคนตัวเล็กๆ เป็นกิจการที่เล็กมากๆในระดับตำบลหรืออำเภอ ยังไม่เติบโตถึงปัจจุบัน เป็นนามปากกาที่ใช้มายาวนาน จนกลายเป็นโลโก้ติดตัวมาตลอด
“ไม่ว่าทำธุรกิจหรือกิจการใดๆ การที่จะเติบโตได้ มาจาก 3 ส่วน คือ 1.ส่วนต่างกำไร คูณด้วย 2.จำนวนงานที่ทำ และคูณด้วย 3.อายุไขหรือระยะเวลาที่จะทำกำไรอย่างนั้นได้นานเพียงใด ถ้านำสามส่วนนี้มาบริหารจัดการดีๆ ก็ย่อมก่อให้เกิดความต่อเนื่องเติบโตได้อย่างความยั่งยืนในที่สุด”
“ผมรับใช้ ม.สงขลานครินทร์ มาตั้งแต่ในรั้วมหาวิทยาลัย ในปี 2530 จน ปัจจุบัน กว่า 37 ปี ไม่มีปีไหนที่ว่างเว้นเลย ถือเป็นคนที่เข้าร่วมกิจกรรมอันดับต้นๆ เลยทีเดียว และเพิ่งพ้นตำแหน่งกรรมการฝ่ายนายทะเบียน ของสมาคมศิษย์เก่าฯ ในสมัยที่ผ่านมา”
DNA จ่าฝูง ที่ถ่ายทอดถึงลูก ๆ
ด้านชีวิตครอบครัว เฮียจั๊ว มีความสุขและความภาคภูมิใจกับความสำเร็จทางด้านการศึกษาของลูกสาวทั้ง 4 คน โดยคนโต น้องภัทราพร เรียนจบคณะบัญชี จาก ม.โอ๊คแลนด์ นิวซีแลนด์ และเข้าทำงานกับบริษัท ดีลอยส์ คนที่ 2 น้องพาย สอบติดแพทย์หลักสูตรอินเตอร์ กำลังศึกษาชั้นปีที่ 2 ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คนที่ 3 น้องแพ เรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 สาธิต ม.รังสิต เพิ่งจะสอบได้ Top Thailand Business ของหลักสูตรเคมบริดจ์ ในปีนี้ และ ฝันจะไปเรียน Economic ที่ประเทศอังกฤษ และคนที่ 4 น้องพอ มัธยมศึกษาปีที่ 5 สาธิต ม.รังสิต อยากจะเรียนสถาปัตยกรรม ซึ่งทั้งสี่คนมีความโดดเด่นคนละแนวกัน มีอัตลักษณ์และความเป็นแนวหน้าในสาขาของแต่ละคนเอง
สิ่งที่อยากจะฝาก ถึงศิษย์เก่า ม.อ.
“ผมอยากให้น้อง ๆ และศิษย์เก่า ม.อ.ทุกท่านอย่าดูถูกตัวเอง ผมพบว่าศิษย์เก่าสงขลานครินทร์ จบการศึกษาไปแล้วร่วม 3 แสนคน แต่คนที่กลับมาช่วยมหาวิทยาลัยหรือรุ่นน้องค่อนข้างน้อย เมื่อพูดคุยพบว่า หลายคนอยากมั่งมีก่อนแล้วจึงค่อยกลับมาช่วยเพราะคิดแต่ว่าตัวเองยังไม่พร้อม มีเหตุผลมากมายที่ไม่กลับมาร่วมงานคณะหรือกิจกรรมมหาวิทยาลัย
ผมสรุปว่าความคิดเหล่านี้เกิดจากความรู้สึก ยังไม่พอใจในตัวเอง บางคนดูถูกดูแคลนตัวเอง หรือดูถูก ดูแคลนพลังของการช่วยกันคนละเล็กละน้อย ถ้าทุกคนมาร่วมมือกันจะเป็นพลังอันยิ่งใหญ่” เก่งเองคนเดียว เหมือนทำกินด้วยรากแก้ว แต่ถ้าช่วยกันแบ่งปัน เกื้อกูลกัน เราจะหากินได้ด้วยรากบุญ ที่เคยเกื้อกูลกันมาก่อน โดยไม่รีบร้อนทวงบุญคุณ ซึ่งผมเชื่อเป็นอย่างมากว่า รากบุญนั้น หากินได้ไกล และสบายกว่าหากินด้วยรากแก้วของตนเองโดยลำพัง
สำหรับเป้าหมายการใช้ชีวิตในวัยเกษียณก่อนคนทั่วไปจำนวนมากของเฮียจั๊วคือ การเข้าหาพระธรรม เพราะช่วงที่อยู่ในวัยฉกรรจ์ อายุ 25-45 ปี พบว่าตัวเองมีปากเสียงทั้งกับลูกน้อง คู่ค้า คู่แข่ง และคนอื่นๆ เพื่อให้ได้ความเป็นเลิศและความเป็นใหญ่ในอาชีพมามาก มีทั้งที่ทำไปด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอิจฉา ความมักใหญ่ใฝ่สูง ความทนงตน อาจจะทิ้งร่อยรอยบาดแผลไว้ให้คนอื่นพอประมาณ
แม้จะเป็นความปรารถนาดีของเราที่อยากให้กิจการมีกำไรด้วยความอยากสำเร็จเร็ว เราอาจจะสร้างความทุกข์ให้กับลูกน้องมากมาย เมื่อมีเวลาทบทวนย้อนกลับไปดูตัวเอง ตนควรเป็นคนรวยที่น่ารักกว่าเดิม และเข้าสู่วัยสุขกันเถอะเราได้แล้ว
“ผมสอนลูกๆ ผมว่า ถ้าพวกเอ็งทำได้แค่เป็นคนรวย ป๋าว่ามันห่วยเกินไป ป๋าอยากให้ลูกๆ หลานๆ เป็นคนมั่งมีศรีสุข คือมีทั้งเงิน มีทั้งเกียรติ มีทั้งความสุข มีเวลาได้ใช้กับคนที่รัก และได้ทิ้งสิ่งดี ๆ ไว้บนโลก อย่าเป็นแค่คนรวย”
โดยความภูมิใจที่สุดในชีวิตสำหรับเฮียจั๊วคือ การได้เป็นจ่าฝูง ได้เป็นตัวของตัวเอง คิดเอง ทำเอง เลือกเองได้ ตั้งแต่วัยเรียนที่มาจาก DNA ตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบัน สามารถแสดงให้พ่อแม่ บรรพชน ได้เห็นว่าสายเลือด แซ่จิว นามสกุล ทิพยรัตน์พรทวี มี DNA เป็นต้นโพธิ์ต้นไทร ไม่ใช่ต้นถั่วที่เอาแต่ล้มลุกคลุกคลาน แต่อดทนเหมือนต้นโพธิ์ต้นไทรที่ สามารถแทรกตัว ในชะง่อนหิน อดทน รอแดด รอฝน ทนความลำบาก เพื่อแทงราก ยืนหยัด เติบโตขึ้นมา ให้ร่มให้เงา ให้ความร่มเย็นกับสรรพสัตว์ได้
“แน่นอนว่า ความคิด ความประพฤติหลาย ๆ อย่าง ได้มาจากพระปณิธานของพระราชบิดา ที่เราเป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดังคำว่า “ขอให้ยึดประโยชน์เพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง” รวมถึง ครูบา อาจารย์ คณะวิทยาศาสตร์ ที่ให้ความรัก ความสนับสนุนช่วยเหลือมาอย่างดีเยี่ยม”