หลังงาน 27 ปีสงขลาโฟกัส แหลง ขับ เล่าโชว์“สงขลาสู่มรดกโลก” 5 พ.ย. 2567 ณ หอเปรมดนตรีม.ทักษิณ “เก่ง ธชย” ศิลปินรับเชิญเผยความรู้สึกต่อบ้านเกิด แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์“ศิลปร่วมสมัย” ที่ได้รับการยอมรับ สร้างชื่อเสียงให้จังหวัดในระดับประเทศ และเวทีนานาชาติ
ความรู้สึกที่ได้ร่วมงาน 27 ปีสงขลาโฟกัส ?
รู้สึกดีใจและเป็นเกียรติมากเพราะว่า เก่ง เองเกิดที่สงขลาและมีความภาคภูมิใจมาก ด้วยความที่เราถูกปลูกฝังมา ตอนเรียนที่ร.ร.มหาวชิราวุธในเรื่องการรักบ้านเกิด
“เก่ง เองเป็นคนอินกับตรงนี้อยู่แล้ว ดังนั้น การร่วมงานครั้งนี้ค่อนข้างประทับใจและดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งกับงานครั้งนี้”
มุมมองต่อการขึ้นทะเบียนสงขลาสู่มรดกโลก ?
หากดูงานของเก่ง จากต้นทางสู่ปลายทางตรงนี้ เก่ง เดินสายงานวัฒธรรมร่วมสมัยอยู่แล้วครับ ดังนั้นเก่ง คิดและรู้สึกมาตั้งนานแล้วว่าสงขลามีความเป็นมรดกทางวัฒนธรรม เพราะมันเกิดจากการที่เราเติบโต เรากินอาหาร เราใช้ชีวิตอยู่ มันก็ออกมาในงานของเก่ง
“ความทรงจำตอนที่อยู่ที่สงขลา มีอิทธิพลกับการทำงานของผม และมันตอบโจทย์อย่างเห็นได้ชัดว่ามันประสบความสำเร็จในปัจจุบัน ประจักษ์ต่อคนทั้งประเทศและคนทั้งโลกในเวทีประกวดต่าง ๆ”
จึงอยากจะร่วมผลักดันและเห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะให้สงขลาเป็นมรดกโลก มรดกทางวัฒนธรรม ตัวเก่งเกิดที่สงขลาและสัมผัสกับสงขลาจริงๆ เอาความเป็นมรดกนั้นไปใช้งานจริงๆ
อะไรที่นำไปประยุกต์ใช้กับการแสดง ?
ถ้าเป็นพื้นบ้าน ก็เป็นมโนราห์ที่จะใช้บ้างในการรำ คนชอบคิดว่าความเป็นจังหวัดมันคือความพื้นบ้าน แต่เก่งว่าไม่ใช่ทั้งหมด การที่เก่งขับเสภาได้ เล่นดนตรีไทยได้ มันเป็นวัฒนธรรมของประเทศไทย หลายคนเข้าใจว่า ศูนย์กลางอยู่ที่กรุงเทพอย่างเดียวแต่สงขลาก็มีคัลเจอร์ของความเป็นไทย เพราะเก่งเรียนดนตรีไทยที่สงขลา มันก็ออกมาในงานของเก่ง เลยมองว่า ถ้าเป็นพื้นบ้านเก่งก็ได้จากมโนราห์ แต่ถ้าเป็นวัฒนธรรมไทย สงขลาก็สามารถเป็นเซ็นเตอร์ได้อย่างที่คนชอบกล่าวกันว่าต้องเป็นพื้นบ้านเท่านั้นจึงจะเป็นของจังหวัด
“บางทีเราลืมว่าความเข้มแข็งของสงขลาคือเราสามารถ จัดการวัฒนธรรมส่วนกลางเป็นของเราได้ เชื่อมั้ยครับว่า คนเขากลัวมากวงดนตรีของมหาวชิราวุธ เป็นที่เกรงขามของวงดนตรีอื่นๆ มาก เพราะมีส่วนร่วมกับวัฒนธรรมส่วนรวมได้อย่างมีอัตลักษณ์ โหดมาก ทำให้คู่ต่อสู้ที่มาจากภาคกลางยังกลัว”
เราอาจเข้าใจไปเองว่า เสภาคือวัฒนธรรมภาคกลาง ดนตรีไทยคือวัฒนธรรมภาคกลาง แต่ไม่ใช่ เพราะมันคือ วัฒนธรรมของไทย และสงขลาก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าส่วนกลางหรือกรุงเทพ เราสามารถแข่งกับเขาได้ เราก็เป็นเจ้าของวัฒนธรรมได้อีกเรื่องเช่น “ไข่ครอบ” เป็นวัฒนธรรมด้านการกิน เก่งเกิดที่อ.ควนเนียง คุณย่าเปิดตลาด สิ่งนี้ผมใช้ในปัจจุบัน ผมเปิดร้านไข่ครอบก็จริง ไข่ครอบเป็นสินค้าจีไอ คือมีแค่ที่สงขลา การทำไข่ครอบเป็นมายังไง เกิดจากชาวประมงยังไง ผมก็จะเล่าว่าวัฒนธรรมนี้ความเป็นมายังไงและคนที่ติดตามงานไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่คนที่อยู่ที่อื่นก็ได้ซึมซับมรดกทางวัฒนธรรมอาหารนี้ของเราด้วย
“คำว่า มรดก ไม่ใช่มีแต่ดนตรี การร่ายรำ อาหารก็เป็นส่วนหนึ่งของมรดกด้วย” ในฐานะลูกสงขลา “เก่ง ธชย” จะร่วมรณรงค์
สงขลาสู่มรดกโลก ได้อย่างไรบ้าง ?
ตามช่องทางของเก่ง ๆ ก็พยายามผลักดันเสมอผ่านโซเชียลฯ การประชาสัมพันธ์ที่เหมาะกับยุคสมัย
“เก่งเองไม่ได้แบกสงขลาทั้งจังหวัด แต่ทำอย่างดีที่สุดในฐานะคนสงขลาคนหนึ่ง แต่การไปสู่มรดกโลกได้ ทุกคนที่เป็นคนสงขลาต้องช่วยกัน เสียงผมไม่ได้ดังที่สุด มันดังเท่ากับทุกคนนั่นล่ะ ผมอาจเป็นคนมีชื่อเสียง แต่ผมก็มีแค่เสียงเดียว ดังนั้น การที่สงขลาไปสู่มรดกโลกอย่างภาคภูมิใจ คนสงขลาทุกคนต้องช่วยกัน”
เมื่อพูดถึงสงขลา ความรู้สึกของเก่งคืออะไร ?
สงขลาเป็นเมือง “ฟิวชั่น” สำหรับผม ในความเก่าแก่เป็นมรดก แต่มีความร่วมสมัย ผมว่าอิทธิพลรอบๆ มันส่งผลต่อเรา เพราะเราไม่ตึง บางพื้นที่หากมีความเป็นมรดกมากๆ มีความเป็นวัฒนธรรมมากๆเขาจะไม่ปรับ แต่สงขลาพร้อมจะเรียนรู้ปรับตัว แต่ก็ไม่ลืมรากของตัวเองมลายูเข้ามาเราก็ปรับ นั่นนี่เข้ามา เราก็ปรับทุกอย่าง ปรับอยู่เรื่อยๆ
จะแนะนำ คนยังไม่รู้จักสงขลา ว่ายังไง ?
อยากให้มาเที่ยวสงขลา สงขลามีวัฒนธรรมหลากหลาย มากมายทั้งจากที่เห็นในสื่อและไม่เห็นในสื่อ เพราะว่าเราร่ำรวยมรดกทางวัฒนธรรม เช่น นาฏศิลป์ บทเพลง เสื้อผ้า อาหาร เรามีครบมากๆ ก็อยากให้มาเที่ยวกัน
ความเป็นศิลปินระดับประเทศและสร้างชื่อเสียงระดับโลก อะไรคือสิ่งสำคัญ ?
นี่เลยครับ คำของ “ป๋า” เกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ผมพูดเรื่องจริงแบบไม่โกหกเลยนะยกตัวอย่าง ที่ผมทำน่ะ ผมยกความดีความชอบให้กับรุ่นพี่ ครูบาอาจารย์ คนรุ่นหลังและได้ใส่ข้อมูลนี้ขณะผมยังเด็ก พอเราเติบโตมาจากคำนี้เกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ในวันที่ผมประสบความสำเร็จประมาณนึงตอนนั้น
“ที่จริงจังหวะที่คนเราประสบความสำเร็จมีหลายครั้งมาก แต่ในวันที่ผมมีชื่อเสียง คำนี้เป็นคำที่ทำให้ผมอยากไปต่อ”
เพราะว่าตอนแรกผมมีชื่อเสียงในประเทศและผมรู้สึกว่าอยากจะไปนอกประเทศ ผมรู้สึกว่าผมเบื่อการจะเป็นแค่ดารา เพราะสิ่งที่เราเรียนศิลปวัฒนธรรมต่างๆ มันสามารถช่วยประเทศชาติสามารถตอบแทนบุญคุณแผ่นดินได้มากกว่านี้
“ผมภูมิใจที่เกิดมาแผ่นดินนี้”คำๆ นี้ ทำให้ผมไปแข่งระดับโลก เชื่อมั้ยครับมีหลายคนบอกผมว่า พอแล้ว เก่งประสบความสำเร็จ
แล้ว แต่ผมบอก ผมไม่พอ ผมรู้สึกว่าในชีวิตมันสามารถทำอะไรได้มากกว่านั้น และคำๆ นี้แหละที่ทำให้ผม “บ้าพอ” (หัวเราะ) ที่จะไปต่อ ทั้งๆ ไม่มีใครเห็นด้วยกับผมสักคน แต่ผมก็ว่า แม้ว่ามีเราแค่คนเดียว ผมก็จะไป และก็ไม่มีใครรู้มาก่อนว่า การที่ไปวันนั้น มันได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติและกลับมาอย่างภาคภูมิใจ
“14 เหรียญทองนะครับ ที่ผมได้ระดับโลก มันยากมากในความเป็นไปได้ แต่เพราะเรามีแพชชั่นจึงเป็นไปได้”
ทำไมมี Passion แบบนี้ ?
มันเกิดจากการเติบโต พ่อแม่ที่เลี้ยงดู สภาพแวดล้อม มีปัจจัยมากมายทำให้เรามีแรงบันดาลใจ
กว่าจะไปสู่จุดนั้นเป็นความยาก การอยู่ในจุดนั้นก็คงยากเช่นกัน อยากให้เปรียบเทียบความยาก สองอย่างนี้ ?
หนึ่ง กว่าจะไปสุ่จุดนั้นมันยากมากครับ แต่เมื่อเราขึ้นไปอยู่ตรงนั้นมันก็ยากที่จะรักษาไว้อย่างไรให้มันยังคงอยู่ แต่พูดในสายอาชีพ ผมว่าผมโชคดีที่ได้อยู่และเรียนรู้จาก “ป๋าเปรม” คือ the humble ความอ่อนน้อมถ่อมตน
โดยส่วนตัวที่คิดว่าที่ผมยังอยู่ได้ก็คือ the humble บางทีคนเราผ่านจุดแรกมันยากแล้ว พอมาจุดสอง คนจะตายกับความสำเร็จ เกิดความเลินเล่อ
ซึ่งผมไม่ใช่เลย ผมจำเพื่อนทุกคน ผมจำได้หมดว่าใครแกล้งผม(หัวเราะ) ผมยังเหมือนเดิม จนบางทีในวันที่เราประสบความสำเร็จ เพื่อนเราเปลี่ยน แต่เราไม่เปลี่ยน
สิ่งเหล่านี้เกิดจากที่เราถูกเลี้ยงดูมา จากสังคมของสงขลา มันทำให้เรามีภูมิคุ้มกันบางอย่างที่ยังพยุงได้อยู่ แต่มันก็ไม่ใช่สูตรสำเร็จ เพราะไม่เช่นนั้นเพื่อนผมก็ต้องสำเร็จเหมือนผม แต่คนเรามีความสำเร็จแตกต่างกันดังนั้น ตัวแปรก็มีความสำคัญมากว่าแต่ละคนจะเดินไปทิศทางไหน
การสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนที่จะสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ให้สังคม ?
ผมเพียงแต่ทำงานด้วยความตั้งใจ ผมว่าตรงนั้น มันออกมาในงานของผม ความโชคดีของผม คือเมื่อก่อนผมรู้สึกว่า มันเป็นความแปลกที่มาสายดนตรีไทย ทั้งๆ คนอื่นร้องสากล แต่ในปัจจุบันผมรู้สึกว่าที่เราเคยคิดว่าแปลกมันเป็นความโชคดี เพราะงานของผมทุกอย่างมันสอดแทรกวัฒนธรรมไทย เป็นงานร่วมสมัย
“ทุกครั้งผมทำงานแค่เพียงผมตั้งใจมันก็เป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นได้”
มีอะไรส่งถึงคนสงขลา คนภาคใต้ ?
ขอบคุณสงขลา ขอบคุณแผ่นดินสงขลาที่ผมเกิดมา คุณพ่อคุณแม่และครอบครัวผมที่เลี้ยงดูผมมาอย่างเต็มที่ ขอบคุณครูบาอาจารย์ที่ให้ความรู้ผมเพราะสิ่งเหล่านี้มันทำให้ผมสร้างประโยชน์ให้กับส่วนรวมได้มากจริงๆ สร้างความภาคภูมิใจให้กับคนไทยทั้งประเทศ ดังนั้น ความสำเร็จของเก่ง ไม่ใช่ความสำเร็จของเก่งคนเดียว แต่มันเป็นความสำเร็จของคนสงขลาด้วย
“จึงขอบคุณมากๆ ในฐานะคนสงขลาคนหนึ่งก็ผลักดันและภาคภูมิใจที่จะร่วมต้อนรับสงขลาเข้าสู่มรดกโลก”
- เฟาซ์ เฉมเร๊ะ –