ม.อ.ปัตตานี พร้อมลงพื้นที่ส่งมอบถุงยังชีพช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม 9-11 ธ.ค.นี้
.
ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี เดินหน้าภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในจังหวัดปัตตานี โดยวางแผนลงพื้นที่ส่งมอบถุงยังชีพระหว่างวันที่ 9-11 ธันวาคม 2567 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย
.
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรุณีวรรณ บัวเนี่ยว รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพันธกิจสังคม วิทยาเขตปัตตานี เผยว่า ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ม.อ. วิทยาเขตปัตตานี ได้กำหนดแผนการลงพื้นที่เพื่อแจกจ่ายถุงยังชีพให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยในระหว่างวันที่ 9 – 11 ธันวาคมนี้
โดยมุ่งเน้นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง อาทิ ตำบลปะการัง อำเภอเมือง พื้นที่น้ำท่วมสูงในอำเภอหนองจิก และอำเภอสายบุรี
การดำเนินงานดังกล่าว เป็นผลมาจากการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดของศูนย์ฯ ร่วมกับข้อมูลที่ได้รับจากโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน ม.อ. วิทยาเขตปัตตานี โดยมหาวิทยาลัยฯ มีทีมบัณฑิตอาสาปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประสานงานหลักในพื้นที่ทั้ง 12 อำเภอ เพื่อรายงานสถานการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่มาตั้งแต่ช่วงที่สถานการณ์น้ำท่วมรุนแรง ข้อมูลจากทีมบัณฑิตอาสาเหล่านี้ถูกส่งต่อมายังศูนย์แก้ไขปัญหาความยากจนฯ เพื่อประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นในชุมชนอย่างละเอียด และนำไปสู่การกำหนดแผนการส่งมอบถุงยังชีพในพื้นที่เป้าหมายตามวันที่กำหนดไว้
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนผู้ประสบภัยให้ได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพสูงสุด
.
ดร.ไอนีย์ แอดะสง หัวหน้าศูนย์ประสานงานการวิจัยแก้ไขปัญหาความยากจน ฯ กล่าวว่า การดำเนินการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดปัตตานี เบื้องต้นเป็นข้อมูลที่ได้รับการสื่อสารประสานงานผ่านเครือข่ายนักพัฒนาเชิงพื้นที่ area research management หรือ ADM ซึ่งเป็นทีมนักจัดการข้อมูลเชิงพื้นที่ให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ความเสียหายที่เกิดขึ้นจำนวนครัวเรือนและประชากรที่ได้รับผลกระทบความต้องการในการช่วยเหลือและทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานกับมหาวิทยาลัยเป็นหลัก
.
โดยกลุ่มเป้าหมายที่จะส่งต่อความช่วยเหลือจะเป็นครัวเรือนเป้าหมายในระบบข้อมูลของศูนย์แก้จน เช่น ครัวเรือนที่มีผู้พิการผู้สูงอายุกลุ่มเปราะบางและกลุ่มยากจน ซึ่งปัจจุบันนี้สามารถสรุปข้อมูลผู้ที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วม ว่ามี จำนวนครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ 34,202 ครัวเรือน ครอบคลุม 12 อำเภอ 36 ตำบล 106 หมู่บ้าน (ข้อมูล: วันที่ 6 ธันวาคม67)
“ทีมงานคาดหวังว่าอย่างน้อยที่สุด เราจะสามารถช่วยเหลือได้ประมาณ 3,000 ชุดหรือเป็นจำนวน 10% ของข้อมูลที่ได้รับการประสานงานมา“ ดร.ไอนีย์ กล่าว และว่า
.
แผนการส่งต่อความช่วยเหลือจะมีระยะเวลา 3 วัน คือ ช่วงเช้า วันที่ 9 ธันวาคม ส่งมอบถุงยังชีพแก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วม พื้นที่ อ.เมือง ได้แก่ ต.ปะกาฮะรัง ชุมชนโรงอ่าง ชุมชนปากน้ำ ต.ตะลุโบะ ต.ท่ากำชำ และพื้นที่ อ.หนองจิกได้แก่ ต.ตุยง ต.เกาะเปาะ ต.ลิปะสะโง และช่วงบ่าย ส่งมอบถุงยังชีพแก่ผู้ประสบภัย พื้นที่ ต.น้ำบ่อ อ.ปะนาเระ ต.ม่วงเตี้ย อ.แม่ลาน ต.ประจัน อ.ยะรัง และ ต.ท่าเรือ อ.โคกโพธิ์ โดยผู้ประสบภัยจะมารับด้วยตนเอง
ช่วงเช้า วันที่ 10 ธันวาคม ลงพื้นที่ส่งมอบถุงยังชีพโดยรถหกล้อมหาวิทยาลัย ณ ที่ว่าการอำเภอสายบุรี ที่ว่าการอำเภอไม้แก่น ช่วงบ่าย ส่งมอบถึงยังชีพที่ อ.กะพ้อ ณ โรงเรียนบ้านปล่องหอย อบต.ตะโละดือรามัน และ ศาลาอเนกประสงค์ อ.ปะนาเระ ตามลำดับ
และช่วงเช้า วันที่ 11 ธันวาคม ลงพื้นที่ เทศบาล ต.มายอ อ.มายอ อบต.น้ำดำ อ.ทุ่งยางแดง และช่วงบ่าย ลงพื้นที่ต.ปุลากง ต.ตาลีอายร์ ต.มะนังยง และ อบต.แหลมโพธิ์ อ.ยะหริ่ง
.
ดร.ไอนีย์ กล่าวต่อว่า แม้ว่าเราดำเนินการหรือทำงานภายใต้ข้อจำกัดของระยะเวลาและมีจำนวนถุงยังชีพเพื่อให้การช่วยเหลือแต่อย่างไรก็ตามก็มีความพร้อมในเรื่องของอาสาสมัครนักศึกษาบุคลากรที่ทุ่มเทในการช่วยประสานงานบริหารจัดการและร่วมส่งมอบเพื่อให้ถุงย้งชีพและความช่วยเหลือเหล่านี้สามารถเข้าถึงชุมชนให้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากที่สุด
.
”สถานการณ์ภัยธรรมชาติน้ำท่วมครั้งนี้ เป็นสิ่งที่ไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดอยู่ในสถานการณ์แล้วก็ขอให้ทุกคนเข้มแข็งมีสติในการรับมือ มั่นใจเสมอว่าน้ำใจและความช่วยเหลือของคนในสังคมจะสามารถช่วยให้ทุกคนผ่านวิกฤติเหล่านี้ไปได้ ขอให้ทุกคนเข้มแข็งและผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้“ ดร.ไอนีย์ กล่าว
#มอพันธกิจเพื่อสังคม
#ประโยชน์เพื่อมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง