วิกฤติทรัพยากรทางทะเลตลอดหลายปี เครือข่ายภาคประชาสังคมที่ทำงานอนุรักษ์เพื่อความยั่งยืนของวิถีประมงพื้นบ้านถูกจัดตั้งและทำงานอย่างยาวนาน ในงาน สมัชชาชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 10 ประจำปี 2567 เมื่อ 27-29
พ.ย. 2567 ณ ห้องประชุมอานนท์ กรมประมงกรุงเทพมหานคร “นายหัวจง” บรรจง นะแส ในฐานะที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทย ย้อนประวัติบางช่วงตอน ชี้จุดมุ่งหมายและความหวังต่อผู้เข้าร่วมประชุมว่า
“เวลากว่า 30- 40 ปีที่เราช่วยกันสร้างสมาพันธ์กันขึ้นมา หลายคนที่ร่วมต่อสู้กันมาตั้งแต่ยุคแรกๆ บางคนเข้ามาช่วงต่อสู้รณรงค์เรื่องเรือปั่นไฟ เรายึดท่าเรือน้ำลึกสงขลา 1 อาทิตย์ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจลากจับไปขังไว้ที่โรงเรียน มีตำรวจประมาณ 50 นายล้อมกรอบ ชาวบ้านประมาณ 300 คน ก็ช่วยกันเข้ามาล้อมตำรวจอีกทีนึง ตำรวจก็ออกไม่ได้เราก็ไปไม่ได้ สุดท้ายก็ปล่อยพวกเรา”
จากนั้น เมื่อยังไม่เลิกเรือปั่นไฟ เรายกขบวนกันขึ้นมาที่กรุงเทพด้วยรถยนต์ร้อยกว่าคัน สมัยนายชวน หลีกภัย ท่านเป็นนายกฯ “เรือปั่นไฟเคยถูกยกเลิกจากรัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อปี 2524 เพราะได้ถูกพิสูจน์แล้วทั่วโลกว่าทำลายสัตว์น้ำตั้งแต่พันธุ์ลูกปลาขนาดเล็ก
ต่อมาปี 2526 สมัยรัฐบาลพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ์ มีรัฐมนตรีฯ มลฑล ไกรวัตนุสสรณ์ ออกประกาศอนุญาตให้มีเรือปั่นไฟได้อีก ลูกปลาทู ลูกปลาหลังเขียว ฯลฯ จึงออกมาเกลื่่อนตลาดอีกครั้ง
กรณีอวนลาก เรามีการนิรโทษกรรมอวนลากมาแล้วสี่ครั้ง จากการวิจัยทั่วโลก อวนลากทำลายพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อนและอาชีพประมงพื้นบ้านมาแล้วทั่วโลก มีการออกประกาศห้ามเรืออวนลากออกมาว่าเรืออวนลากที่มีอยู่เดิมให้จำกัดจำนวนแค่นั้นห้ามทำต่อ แต่เมื่อมีการเลือกตั้งนักการเมืองเข้ามาก็ประกาศนิรโทษ เรืออวนลากจึงมีอีกและมีต่อไปได้อีก ซึ่งหากยึดคำสั่งประกาศเดิมที่ห้ามทำต่อ ป่านนี้ทะเลไทยไม่มีอวนลากอีกเลย
“เราพบว่า ปัญหามาจากนักการเมืองที่ไม่อยู่ข้างประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ”
นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมา เราเองไม่มีโอกาสรู้เลยจนมารู้อีกทีว่า รัฐมนตรีเซ็นต์อนุมัติตอนที่เห็นเรือปั่นไฟ เรืออวนลาก เต็มทะเลตั้งแต่ภาคตะวันออกลงมาถึงภาคใต้
หลายปีก่อน ผมไปซื้อปลาทูตากแห้งมาหนึ่งกิโลฯ ที่จันทรบุรี ราคา 100 บาท เอามานั่งนับได้จำนวนลูกปลา 8,000 กว่าตัว พวกเราชาวประมงรู้กันดี ปลาทูหากปล่อยให้โตในเวลาหนึ่งปี จำนวน12-14 ตัวจะได้หนึ่งกิโลฯ ทีนี้เอามาคำนวณดู จากที่ซื้อหนึ่งกิโลฯ 100 บาท แต่หากเราปล่อยให้ปลาโตมันจะเพิ่มมูลค่าถึง 12,000 บาท
เราปล่อยให้มีการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลลักษณะนี้มาเป็นเวลานาน แล้วมาบอกว่าทะเลวิกฤติ จะแก้ปัญหาอย่างนั้น อย่างนี้ แต่รัฐไม่เคยแก้ที่ต้นเหตุของปัญหา
ครั้นสหภาพยุโรป ซึ่งนำเอาข้อตกลงของ FAO ซึ่งพูดถึงเรื่องของความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งทะเลเป็นพื้นที่สามในสี่ของพื้นที่โลกที่ใช้ผลิตอาหารเลี้ยงชาวโลกเข้ามา สหภาพยุโรปจึงเอาเงื่อนไขของ FAO มาประกาศเป็นเงื่อนไข IUU เช่น ห้ามการทำประมงโดยการใช้แรงงานทาส แรงงานเด็ก การทำประมงแบบล้างผลาญ ฯลฯ ซึ่งหากประเทศใดทำประมงเช่นนี้ก็ห้ามนำสินค้าประมงเข้าประเทศสหภาพยุโรป
คนที่เดือดร้อนเรื่องนี้ไม่ใช่ประมงพื้นบ้าน แต่เป็นบริษัทใหญ่ๆ ที่ส่งสินค้ามูลค่าสามแสนกว่าล้านต่อปีเข้าประเทศสหภาพยุโรป บริษัทก็มากดดันรัฐบาล รัฐบาลก็ออกมาตรการแก้ปัญหา ก็เกิดการเรียกร้องจากประมงพาณิชต่างๆ อีก
ประเด็นก็คือ ประชาชนทั้งชาวประมงและผู้บริโภคไม่เคยมีอำนาจเท่าบริษัทที่ส่งออก รัฐบาลไม่เคยฟังเสียงประชาชน แต่เมื่อถูกประเทศสหภาพยุโรปออกประกาศบังคับ รัฐก็จึงมาบังคับประมงพาณิช นี่คือเหตุการณ์ที่ผ่านมา
ผมอยากให้เรามีความเชื่อมั่นในศักยภาพของเรา เพราะจะพึ่งพานักการเมืองนั้นยาก พึ่งข้าราชการได้บ้าง แต่ก็ไม่มาก
“วันนี้ เรามีเครือข่ายประมง 22 จังหวัด องค์ประกอบที่จะเป็นปึกแผ่นก็ร่วมมือกัน และหาเครือข่ายพี่น้องประมงเพิ่มเข้ามา สื่อมวลชนที่สื่อสารเรื่องราวข้อเท็จจริงแสวงหาความเป็นธรรมมาเป็นเพื่อนนักวิชการซึ่งหลายคนเป็นเพื่อนเรา องค์กรเอกชน กรีนพีช หรืออื่นๆ มาเป็นเพื่อน”
ผมเชื่อว่าหากเราร่วมมือกันและร่วมกับกลุ่มคนที่ไม่แสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจ แต่เห็นผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่เป็นตัวตั้ง
ผมเชื่อมั่นว่าสักวันรัฐบาลจะต้องฟังเสียงของเรา ไม่ต้องรอให้อียูบีบคอแต่ให้คนไทยเราเองให้คนบริโภคปลาบีบคอรัฐบาล ว่าคนที่จะมาเป็นรัฐบาลจะต้องทำเรื่องเหล่านี้
วันนี้ ผมมีกำลังใจ ทุกคนที่นี่พร้อมจะบอกความจริงกับคนอื่น กับรัฐบาลด้วยข้อมูลที่มีในมือจากการทำงานหลายสิบปีที่ผ่านมา มีองค์ความรู้ที่เพียงพอ และที่สำคัญที่เรามีคือ ความกล้าหาญ
“ผมเชื่อว่าอนาคตของการฟื้นฟูทะเลไทยไม่ไกลเกินเอื้อม ลูกหลานชาวประมง อาชีพประมงเป็นอาชีพที่มีเกียรติ และศักดิ์ศรี”