Home » ข่าว » ‘ท่องเที่ยวหาดใหญ่’โต20% มาเลย์ยังเป็นหลัก-อินโดฯมาแรง

‘ท่องเที่ยวหาดใหญ่’โต20% มาเลย์ยังเป็นหลัก-อินโดฯมาแรง

“ผอ.นงเยาว์“ คาดนักท่องเที่ยวหาดใหญ่ปี 67 โต 20% มาเลย์ยังเป็นหลัก รายได้รวมกว่า 48,000 ล้านบาท โรงแรมใหม่และห้องพักรายวันเปิดเพิ่ม พบอินโดฯโตก้าวกระโดด “นายกอัยดา” เผยเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ จากแพ็กเกจ 3 ประเทศ

นางนงเยาว์ จิรันดร ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานหาดใหญ่เผยภาพรวมการท่องเที่ยวหาดใหญ่ปี 2567 และแนวโน้มปี 2568 ว่า ในปี 2567  (ม.ค.-12 ธ.ค.) มีผู้มาเยี่ยมเยือน

ทั้งไทยและต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา ประมาณ 6.7  ล้านคน  เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่ประมาณ5.1 ล้านคน แยกเป็นผู้มาเยือนคนไทยกว่า 2.9 ล้านคน และต่างชาติกว่า 3.7 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขคาดการณ์นักท่องเที่ยวในปี 2567 ทั้งปี 

“ตัวเลขคาดการผู้มาเยือนของจังหวัดสงขลา เพิ่มขึ้นประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ และคาดการณ์รายได้รวมประมาณกว่า 48,000 ล้านบาท” โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติ แบ่งเป็น มาเลเซีย 2.3 ล้านคน อินโดนีเซีย 950,000 คน สิงคโปร์ 730,000 คน สปป.ลาว 20,000 คนและจีนกว่า 18,000 คน

“ปัจจัยหนุนสำคัญของการท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา  เกิดจากการฟื้นตัวหลังจากสถานการณ์โควิด ที่ก่อนหน้านี้ยังไม่มีความมั่นใจ ยังมีความกังวล  แต่ในปี 2567 ทุกอย่างกลับมาฟื้นตัวปกติ” บวกกับการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวปี 2567 ที่มีอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของหน่วยงานต่าง ๆ มีส่วนสำคัญทำให้เกิดสีสันของเมือง รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ ก็มี

ส่วนสำคัญในการดึงนักท่องเที่ยว และกระจายนักท่องเที่ยวไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ได้กว้างมากยิ่งขึ้น มีกลุ่มนักท่องเที่ยวใหม่ ๆ เข้ามาในขณะที่จำนวนห้องพักที่เพิ่มขึ้น จากการเปิดตัวโรงแรมประมาณ 10 แห่ง เพื่อรองรับกับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น 

“แนวโน้มปี 2568 เชื่อว่าการท่องเที่ยวจังหวัดสงขลาโดยรวมจะยังดีอยู่และขยายตัวได้” ผอ.นงเยาว์ กล่าว

ขณะที่ ดร.สิทธิพงษ์ สิทธิภัทรประภา นายกสมาคมโรงแรมหาดใหญ่-สงขลา กล่าวว่า ในปี 2567 มี

ผู้เล่นหน้าใหม่ในธุรกิจโรงแรม ทั้งโรงแรมใหม่และกลุ่มห้องพักรายวันที่ปรับมาจากห้องพักรายเดือน

รวมถึงกลุ่มพูลวิลล่า กลุ่ม Airbnb บ้านเช่า ซึ่งจะเรียกว่าธุรกิจที่พัก ซึ่งจะครอบคลุมได้มากกว่าที่มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามา และมีความหลากหลายมากขึ้น

“ถ้าเฉพาะโรงแรมอย่างเดียวปี 2567 สร้างใหม่

8-9 แห่งที่เปิดทำการ ยังไม่รวมอพาร์ทเม้นท์ที่มาปรับให้เช่ารายวัน เกสเฮ้าส์ บ้านให้เช่าเป็นหลัก และพูลวิลล่า” ดร.สิทธิพงษ์ กล่าว และว่า

สรุปโดยรวมในปี 2567 ธุรกิจห้องพักคึกคัก สอดคล้องกับการฟื้นตัวการท่องเที่ยวในพื้นที่ จนทำให้การลงทุนในธุรกิจห้องพักสำหรับนักท่องเที่ยวเติบโต โดยปัจจัยหลักที่หนุนให้ธุรกิจห้องพักเติบโตมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวมาเลเซียที่เดินทางเข้ามาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ที่ลงทุนก็เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวมาเลเซีย

ที่สำคัญปี 2567 กลุ่มนักท่องเที่ยวจากประเทศมาเลเซียเดินทางเข้ามาเที่ยวหาดใหญ่ สงขลา เพิ่มมากขึ้น จนทำให้มองเห็นโอกาสที่ห้องพักบางช่วงไม่เพียงพอที่จะรองรับนักท่องเที่ยว

“อย่างเช่น ช่วงที่ตรงกับงานของไทย เช่น งานรับปริญญา และช่วงวันหยุดของประเทศมาเลเซีย จะทำให้จำนวนห้องพักที่มีอยู่ไม่เพียงพอ”

หรือในช่วงเทศกาลสำคัญ เช่น เทศกาลสงกรานต์ ห้องพักไม่เพียงพอ นักท่องเที่ยวล้น จนทำให้คนกลับมามองธุรกิจโรงแรมและที่พักว่ายังมีความต้องการของตลาดอยู่หรือไปต่อได้

สำหรับแนวโน้มปี 2568 ของธุรกิจโรงแรมห้องพักนั้น ปัจจัยหลักขึ้นอยู่กับนักท่องเที่ยว หากนักท่องเที่ยวมาเลเซียลดลงจะทำให้การแข่งขันในอุตสาหกรรมโรงแรมมีสูง เพราะนอกจากโรงแรมจะต้องแข่งขันกันเองแล้ว ยังต้องไปแข่งขันกับห้องพักนอกระบบ อย่างเช่น อพาร์ทเม้นท์ บ้านเช่า พูลวิลล่า และ Airbnb  ที่เปิดให้เช่ารายวัน

“กรณีดังกล่าวจะทำให้โรงแรมเสียเปรียบกลุ่มห้องพักนอกระบบ เนื่องจากต้นทุนสูงกว่า ซึ่งจะเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับธุรกิจโรงแรมในปี 2568”  

จึงอยากจะเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดึงห้องพักรายวันเข้ามาอยู่ในระบบ เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมกับโรงแรม และการจัดเก็บรายได้ของรัฐจะเพิ่มขึ้น จากเดิมที่การจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานรัฐจะจัดเก็บเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่อยู่ในระบบเป็นหลัก แต่ไม่มีการขยายฐานการจัดเก็บไปยังกลุ่มอื่น ๆ ที่อยู่นอกระบบ เช่น ธุรกิจโรงแรม

ด้าน นางสาวอัยดา อูเจ๊ะ นายกสมาคมการค้าการท่องเที่ยวฮาลาลไทย-อาเซียน กล่าวว่า นักท่องเที่ยวอินโดนีเซียที่เดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยเข้ามา 2 ทางคือ เดินทางโดยเครื่องบิน มาที่กรุงเทพฯ และพัทยา  ประมาณ 35% ส่วนอีก 65% เข้ามาทางบก (จากประเทศมาเลเซีย) มาเที่ยวหาดใหญ่

“ถ้าคิดเป็นสัดส่วนนักท่องเที่ยวอินโดนีเซียที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย 60-65 เปอร์เซ็นต์เป็นการเข้ามาท่องเที่ยวที่หาดใหญ่ โดยเดินทางมาจากสิงคโปร์และมาเลเซียผ่านด่านฯจังหวัดสงขลา”

โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวจากอินโดนีเซียที่เดินทางเข้ามาหาดใหญ่ จะเป็นโปรแกรมท่องเที่ยว 3 ประเทศ (สิงคโปร์-มาเลเซีย-หาดใหญ่) ซึ่งเป็นโปรแกรมการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากในประเทศอินโดนีเซีย ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยจะเข้ามาพัก 1 คืน 2 วันที่หาดใหญ่ หลังจากนั้น ก็เดินทางกลับไปที่มาเลเซียเพื่อเดินทางกลับอินโดนีเซีย 

“นักท่องเที่ยวอินโดนีเซียกลุ่มนี้มาจากปาดัง เกาะสุมาตรา, เมดาน. กาลีมันตัน หรือ บอร์เนียว และจาการ์ตา เป็นโปรแกรมท่องเที่ยว 3 ประเทศที่ได้รับความนิยมมากในปีนี้”

ทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวอินโดนีเซียที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวหาดใหญ่เพิ่มขึ้นมาอยู่อันดับ 2 รองจากนักท่องเที่ยวมาเลเซียที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวที่หาดใหญ่

โดยเส้นทางท่องเที่ยว 3 ประเทศคือ ลงเครื่องที่ประเทศสิงคโปร์ มาพักที่ประเทศมาเลเซีย จากมาเลเซียเดินทางเข้ามาหาดใหญ่ นอนหาดใหญ่ 1 คืนก็เดินทางกลับไปที่กัวลาลัมเปอร์ ก่อนจะบินกลับที่

จาการ์ตา เมดาน ปาดัง บาตัม ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้อันดับ 1 จะมาจากจาการ์ตา อันดับ 2 มาจากสุมาตรา ซึ่งสุมาตราจะรวมทั้งปาดัง เมดาน เปกันบารู ตันหยงปีนัง 

“เฉพาะนักท่องเที่ยวอินโดนีเซียที่เดินทางมาจากเกาะตันหยงปีนัง และบาตัม จะเดินทางมาทางเรือ มาที่ยะโฮร์บารู มาเลเซีย บางคนก็ไปเที่ยวสิงคโปร์ก่อน แล้วเข้ามาเลเซีย และมาหาดใหญ่” นางสาวอัยดากล่าว และว่า

เรียกว่าโปรแกรม 3 ประเทศคือ สิงคโปร์-มาเลเซีย และไทย (หาดใหญ่) เป็นโปรแกรมท่องเที่ยวใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวอินโดนีเซีย ที่มีทั้งแบบ 5 วัน 4 คืน และ 4 วัน 3 คืนโดยนอนหาดใหญ่ 1 คืน นอนบนรถบัส1 คืน 

นอนที่กัวลาลัมเปอร์ 1 คืน กลางวันเที่ยวสิงคโปร์ แล้วบินกลับ

โดยสมาคมการค้าการท่องเที่ยวฮาลาลไทย-อาเซียน ได้เดินทางเข้าไปทำการตลาดในประเทศอินโดนีเซียอย่างต่อเนื่อง เพื่อดึงนักท่องเที่ยวจากอินโดนีเซียเข้ามาประเทศไทย และหาดใหญ่ ซึ่งนักท่องเที่ยวอินโดนีเซียที่เข้ามาเที่ยวหาดใหญ่เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ เป็นข้าราชการและพนักงานบริษัท 

“สิ่งที่นักท่องเที่ยวอินโดนีเซียประทับใจก็คือได้ช้อปปิ้งสินค้าที่ราคาไม่สูง จึงเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ยังมีแนวโน้มเติบโตได้อีกมาก จากจำนวนประชากรของประเทศอินโดนีเซียที่มีมาก และการเข้าไปทำตลาดอย่างต่อเนื่องที่ผ่านมาและอนาคต” นางสาวอัยดา กล่าว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *