“วชช.สงขลา” เตรียมความพร้อมพัฒนานักศึกษาร่วมกับสถานประกอบการ ฝึกประสบการณ์ทำงาน เน้นแนวทางคุณธรรมความรู้สู่ความสำเร็จ
6 มกราคม 2568 วิทยาลัยชุมชนสงขลา จัดกิจกรรม “การประชุมปฐมนิเทศนักศึกษาก่อนออกฝึกประสบการณ์หลักสูตรอนุปริญญา วิทยาลัยชุมชนสงขลา ปีการศึกษา 2567” ณ ห้องประชุมโนรา ชั้น 4
วชช.สงขลา โดย อาจารย์ศุภมาส อยู่อริยะ รองผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนสงขลา เป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรม มีนักศึกษาชั้นปีที่ 3 (รหัส 65) และ
นักศึกษาชั้นปีที่ 2 (รหัส 66) ประกอบด้วย สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย สาขาวิชาการปกครองท้องถิ่น
สาขาวิชาการจัดการ และสาขาวิชาเทคโนโลยีดิจิทัลธุรกิจ รวม 139 คน เข้าร่วม
โดยได้รับเกียรติจาก อาจารย์ประจำหลักสูตรทุกสาขาวิชา ให้แนวคิดการเตรียมความพร้อมก่อนฝึกประสบการณ์ของแต่ละศาสตร์วิชา เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติให้นักศึกษาสามารถนำไปปรับใช้ในการฝึกประสบการณ์ต่อไป
อาจารย์ศุภมาส กล่าวว่า การฝึกประสบการณ์ของนักศึกษามี 2 รูปแบบคือ หนึ่ง เป็นการฝึกประสบการณ์ที่สถานประกอบการเต็มเวลา สำหรับนักศึกษาที่ไม่ได้ทำงาน กับสอง เป็นการทำโปรเจกต์
ที่เกี่ยวข้องกับงาน สำหรับนักศึกษาที่ทำงานแล้ว เป็นการพัฒนางาน เขาสามารถจัดทำเป็นโครงงาน
หรือนักศึกษาสามารถคิดโปรเจกต์ในการทำงานร่วมกับชุมชนในการพัฒนาโดยใช้ศาสตร์ความรู้ของตนเอง
“นักศึกษาที่เข้าอบรมมาจากทุกศูนย์การเรียน
นั่นคือ จากศูนย์การเรียนหาดใหญ่ ศูนย์การเรียนควนเนียง ศูนย์การเรียนสทิงพระ และศูนย์การเรียนเทพา” อาจารย์ศุภมาส กล่าว และว่า
ยกตัวอย่างเช่น นักศึกษา สาขาการปกครอง
ท้องถิ่น ที่นักศึกษาทำงานอยู่แล้วก็เลือกรูปแบบที่สอง นำองค์ความรู้ในการเรียนที่ผ่านมาจนถึงชั้นปีที่ 3 ทำข้อเสนอโครงการขึ้นมาร่วมกับชุมชน
หรือสาขาการศึกษาปฐมวัย ก็อาจทำเรื่องการวิจัยชั้นเรียน โดยใช้ความรู้ของตนเองตามศาสตร์ที่เรียนมา
ซึ่งในการฝึกประสบการณ์แต่ละสาขาฯในสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องตามความเหมาะสมและระยะเวลาไม่เท่ากันคือ สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัยซึ่งส่วนใหญ่ฝึกตามโรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่
ใช้เวลา 300 ชั่วโมง
สาขาวิชาการปกครองท้องถิ่น จะฝึกที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อบต. เทศบาล ต่างๆ
ใช้เวลา 240 ชั่วโมง สาขาวิชาการจัดการ ฝึกที่ธนาคาร สหกรณ์ยูเนี่ยน หรือไปรษณีย์ ใช้เวลา
240 ชั่วโมง และสาขาวิชาเทคโนโลยีดิจิทัลธุรกิจ ฝึกที่สถานประกอบการที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์
พัฒนาด้านวิชาชีพ มีประสบการพบเจอกับปัญหาและนำองค์ความรู้ไปแก้ไข ใช้เวลา 360 ชั่วโมง โดยหลักคือต้องการฝึกฝนความรับผิดชอบ ความมีวินัย การทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงในการฝึกประสบการณ์ก็ยังเป็นแนวทางในการเข้าทำงานกับสถานประกอบการนั้นๆ ได้เช่นกัน ซึ่งก็มีอยู่
“เช่น สาขาปฐมวัย เมื่อนักศึกษาฝึกสำเร็จแล้ว หน่วยงานเห็นความสามารถความตั้งใจก็รับเข้าทำงานในสถานศึกษาเป็นการร่วมมือระหว่างวิทยาลัยชุมชนฯกับสถานศึกษาด้วย”
การเตรียมตัวนักศึกษาก่อนเข้ารับการฝึก
เราจัดประชุมนักศึกษา ให้องค์ความรู้การเข้าไปอยู่ร่วมกับสถานประกอบการ เรื่องของบทบาทหน้าที่ของนักศึกษาในการเข้าไปว่าต้องปฏิบัติตนอย่างไร
เพราะการทำงานจะต่างจากการเรียนในวิทยาลัยฯ
“ที่สำคัญเราปลูกฝังเรื่องความซื่อสัตย์ ความตรงต่อเวลา ความตั้งใจและรู้จักการมีสัมมาคารวะและการปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับคนอื่น รวมทั้งการเรียนรู้ศึกษาด้านการทำงานที่ตัวเองได้รับมอบหมายจากผู้ควบคุมการฝึกหรือสถานประกอบการ”
อาจารย์ศุภมาส กล่าว ด้วยว่า ในกิจกรรมการอบรมเมื่อได้ให้ความรู้เป็นแนวทางแล้ว ก็จะแยกนักศึกษาแต่ละสาขาเข้าพบกับคณะอาจารย์ประจำสาขาเพื่อทำความเข้าใจเนื้อหาการฝึกของแต่ละสาขาซึ่งแตกต่างกัน เช่น สาขาการศึกษาปฐมวัยก็เป็นในส่วนของการเตรียมการเป็นผู้สอน หรือสาขาการปกครองก็เป็นส่วนของการบริหารพัฒนาชุมชนฯลฯ ซึ่งตลอดระยะเวลาในการฝึกก็จะมีการติดตาม
การนิเทศ และฝึกเสร็จก็มีการสัมมนาเพื่อนำผลจากการฝึกมานำเสนอร่วมกับอาจารย์และเพื่อนๆ
นักศึกษา
นอกจากการประชุมอบรมนักศึกษา แต่ละสาขาก็จะมีการจัดประชุมกับสถานประกอบการเพื่อเตรียมความพร้อมและทำความเข้าใจร่วมกันในการฝึกนักศึกษา เช่นระยะเวลา ลักษณะงานที่มอบหมายให้กับนักศึกษา ฯลฯ
“ขั้นแรก เราสำรวจความต้องการของนักศึกษาว่าจะฝึกที่ไหน จากนั้น เราสอบถามอาจารย์ผู้ดูแลและตรวจสอบว่าสถานประกอบการมีความเหมาะสม
หรือไม่อย่างไร เสร็จแล้วจะทำหนังสือไปยังสถาน
ประกอบการ มีการตอบรับกลับมา และเราทำหนังสือชี้แจงรายละเอียดให้กับสถานประกอบการ”
เช่น รายละเอียดในการประเมินนักศึกษา ซึ่งมีสองส่วน คือการประเมินในส่วนของสถานประกอบการและการประเมินของวิทยาลัยฯ ออกมาเป็นผลการเรียนของนักศึกษา เช่น เรื่องคุณธรรมจริยธรรม การตรงต่อเวลา ความซื่อสัตย์มีวินัย เรื่องความรู้ ว่ามีการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ที่ศึกษามามาน้อยอย่างไร
ด้านปัญญา ว่ามีการคิด มีทักษะในการแก้ปัญหา มีศักยภาพในการเป็นผู้นำหรือไม่อย่างไร รวมถึงการอยู่ร่วมกันในสังคม และการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อเป็นประโยชน์กับการทำงานอย่างไร