ย้อนรอย 69 ปี จุดกำเนิดฝนหลวง ด้วยพระวิริยะ อุตสาหะของ “พระบิดาแห่งฝนหลวง” 14 พฤศจิกายน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ร่วมน้อมรำลึก “วันพระบิดาแห่งฝนหลวง”



69 ปีแห่งการกำเนิดฝนหลวงพระราชทาน นับตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2498 เป็นวันที่เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริที่จะคิดค้น วิจัย หาวิธีการทำฝนเพื่อแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากของเกษตรกรและประชาชนทั่วไปที่ประสบปัญหาภัยแล้งจนถึงปัจจุบัน
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2545 เฉลิมพระเกียรติพระองค์ท่านในฐานะทรงเป็น “พระบิดาแห่งฝนหลวง” และกำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายน ของทุกปีเป็น “วันพระบิดาแห่งฝนหลวง” เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ และจารึกไว้เป็นวันสำคัญของประวัติศาสตร์ชาติไทยให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าได้มีโอกาสแสดงความจงรักภักดี และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงก่อเกิดโครงการพระราชดำริฝนหลวง
ย้อนเวลากลับไป 69 ปี ความเดิมจากพระราชบันทึก The Rainmaking Story สรุปได้ความว่า ระหว่างวันที่ 2 – 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 ทรงเยี่ยมเยียน 15 จังหวัด ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในวันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์ (เดลาเฮย์ ซีดาน สีเขียว) จากจังหวัดนครพนม ไปจังหวัดกาฬสินธุ์ผ่านจังหวัดสกลนคร และเทือกเขาภูพาน
เมื่อทรงหยุดอย่างเป็นทางการที่ทางแยกอำเภอกุฉินารายณ์ และสหัสขันธ์ ณ ที่นั้นทรงสอบถามราษฎรเกี่ยวกับผลผลิตข้าว ทรงคิดว่า ต้องเสียหายเพราะความแห้งแล้ง แต่ต้องทรงประหลาดใจ ที่ราษฎรเหล่านั้นกราบบังคมทูลว่าเดือดร้อนเสียหายจากน้ำท่วม ทรงเห็นว่า เป็นการแปลก เพราะพื้นที่โดยรอบดูคล้ายทะเลทราย ที่มีฝุ่นฟุ้งกระจายทั่วไป แท้ที่จริงแล้วราษฎรเหล่านั้นมีทั้งน้ำท่วมและฝนแล้ง นั่นคือ “ทำไมประชาชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือจึงยากจนนัก”
เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับถึงกรุงเทพ มหานคร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุลวิศวกรและนักประดิษฐ์ควายเหล็กที่มีชื่อเสียงเข้าเฝ้าฯ แล้วพระราชทานแนวความคิดนั้นแก่หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์เทวกุล ความว่า
“…แต่มาเงยดูท้องฟ้า มีเมฆ ทำไมมีเมฆอย่างนี้ ทำไมจะดึงเมฆนี่ลงมาให้ได้ ก็เคยได้ยินเรื่องการทำฝน ก็มาปรารภกับคุณเทพฤทธิ์ ฝนทำได้ มีหนังสือ เคยอ่านหนังสือทำได้…”
หลังจากที่ทรงเห็นความทุกข์ร้อนของประชาชน นับจาก พ.ศ. 2498 เป็นต้นมาในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงศึกษาค้นคว้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งงานวิจัยทางเอกสาร ด้านวิชาการอุตุนิยมวิทยา และการดัดแปรสภาพอากาศ ทรงเห็นว่า สภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศสิ่งแวดล้อม ฤดูกาลมีอิทธิพลต่อการเกิดสภาวะแห้งแล้งต่อความพยายามในการดัดแปรสภาพอากาศให้เกิดฝนได้อย่างสัมฤทธิ์ผล
ปัญหาหนึ่งที่ยังคงดำรงอยู่ คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งภาค มีชื่อเสียงว่าเป็นภาคที่แห้งแล้งในขณะนั้นเอง
“ทรงแหงนขึ้นดูท้องฟ้าและพบว่ามีเมฆจำนวนมาก แต่เมฆเหล่านั้นถูกพัดผ่านพื้นที่แห้งแล้งไป วิธีแก้อยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้เมฆเหล่านั้นรวมตัวตกลงมาเป็นฝนในท้องถิ่นนั้น” และทรงบันทึกไว้ว่า ความคิดนั้นเป็น ”จุดเริ่มต้นของโครงการฝนหลวง”
เมื่อทรงกลับมาคิดทบทวนข้อมูลจนมั่นพระทัยว่า จะสัมฤทธิ์ผลในการค้นคว้าทดลองและการประดิษฐ์คิดค้น ตามที่ทรงคาดหวังไว้ในข้อสมมติฐาน จึงพระราชทานแนวคิดนี้แก่ “หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล ผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยประดิษฐ์ทางด้านเกษตรวิศวกรรม” ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขณะนั้น ให้หาลู่ทางที่จะทำให้เกิดการทดลองปฏิบัติการในท้องฟ้าให้เป็นไปได้
เมื่อ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ได้รับเอกสารพระราชทานแนวความคิดริเริ่มการดัดแปรสภาพอากาศเปลี่ยนเมฆให้เป็นฝนก็ได้ศึกษาทบทวนและทำความเข้าใจ ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจจริง และจึงได้ไปสมัครเพื่อฝึกบินกับศูนย์ฝึกบินพลเรือน จนจบหลักสูตรเป็น “นักบิน”
14 ปีผ่านไป การค้นคว้าเป็นผลสำเร็จความเป็นไปได้ที่จะเริ่มต้นการค้นคว้าทดลอง การประดิษฐ์คิดค้นการทดลองจริงในท้องฟ้า ได้เกิดขึ้นครั้งแรก ในปี 2512 โดยเลือกพื้นที่การทดลอง ณ สนามบินหนองตะกู วนอุทยานแห่งชาติ เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา
โดยได้มีปฏิบัติการหยอดก้อนน้ำแข็งแห้งเข้าไปที่ยอดเมฆสูง 10,000 ฟุต ที่ลอยกระจัดกระจายอยู่เหลือพื้นที่ทดลองในขณะนั้น ทำให้เมฆก่อยอดและสูงขึ้น เป็นเมฆฝนขนาดใหญ่ในเวลาอันรวดเร็ว และจากการติดตามผลโดยการสำรวจทางภาคพื้นดิน ก็ได้รับรายงานยืนยันจากราษฎรว่า เกิดฝนตกลงสู่พื้นที่บริเวณวนอุทยานเขาใหญ่ในที่สุด
การทดลองดังกล่าวจึงเป็นนิมิตหมายที่ดี บ่งชี้ให้เห็นว่า “การบังคับเมฆให้เกิดฝนเป็นสิ่งที่เป็นไปได้” นับว่าสร้างความปิติยินดีให้กับราษฎรและชุดปฏิบัติการเป็นอย่างมาก และความสำเร็จดังกล่าวยังส่งผลให้มีการพัฒนา ปรับปรุงและต่อยอดโครงการฝนหลวงมาจนถึงปัจจุบัน
กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลปฏิบัติการฝนหลวง ได้เตรียมความพร้อมในการจัดงาน “วันพระบิดาแห่งฝนหลวง” ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด “เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา องค์ราชา สืบสาน รักษาต่อยอด พระบิดาแห่งฝนหลวง” โดยมี ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานแถลงข่าวการจัดงาน ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 115 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา
ภายในงานกำหนดให้มีการจัดนิทรรศการทั้งสิ้น 3 ส่วน ประกอบด้วย (1) นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความเป็นมาของโครงการพระราชดำริฝนหลวง (2) นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่แสดงออกถึงพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ของพระองค์ที่เกี่ยวข้องกับโครงการพระราชดำริฝนหลวง ในการรักษา สืบสาน และต่อยอด และ (3) นิทรรศการเกี่ยวกับภารกิจในด้านต่างๆ ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร
ตลอดระยะเวลา 69 ปี “โครงพระราชดำริฝนหลวง” ได้สร้างคุณูปการทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะความมั่นคงด้านน้ำให้แก่ประเทศไทย และด้วยพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้ทรงคิดค้นเทคโนโลยีฝนหลวงขึ้น ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก พร้อมกับได้จดสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยทั้งในประเทศและต่างประเทศ
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเทศได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตในการนำเทคนิคและวิธีการทำฝนหลวง ตามตำราฝนหลวงพระราชทานไปปรับใช้แก้ปัญหาความแห้งแล้งในประเทศของตัวเอง ถือได้ว่าโครงการพระราชดำริฝนหลวง เป็นนวัตกรรมที่เกิดจากพระอัจฉริยภาพอย่างแท้จริง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยและคนทั่วโลก
นายราเชน ศิลปะรายะ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านปฏิบัติการ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า สำหรับการจัดงานวันพระบิดา
แห่งฝนหลวง ประจำปี 2567 กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้กำหนดจัดงานขึ้นระหว่างวันที่ 13 – 15 พฤศจิกายน2567 ณ ลานอเนกประสงค์ อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร


โดยภายในงานมีการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ได้ทรงเริ่มต้นโครงการพระพระราชดำริฝนหลวง และนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการในการรักษา สืบสาน และต่อยอด ในโครงการพระราชดำริของพระราชบิดา
รวมถึงนิทรรศการเกี่ยวกับภารกิจหลักของหน่วยงาน อาทิ ภารกิจบรรเทาปัญหาภัยแล้ง การเติมน้ำต้นทุนในพื้นที่ลุ่มรับน้ำ การบรรเทาปัญหาหมอกควันไฟป่า ฝุ่นละอองขนาดเล็ก การบรรเทาและยับยั้งความรุนแรงของพายุลูกเห็บนอกจากนี้ยังมีภารกิจในการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีฝนหลวง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติการฝนหลวงภารกิจการติดตามและตรวจสภาพอากาศ ภารกิจด้านอากาศยานที่กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้นำเทคโนโลยีที่มีความเจริญก้าวหน้ามาใช้ที่มีส่วนช่วยให้การทำฝนมีความแม่นยำตรงต่อความต้องการของประชาชนมากยิ่งขึ้น
และที่พลาดไม่ได้สำหรับนักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไป ภายในงานจะมีการจัดลานกิจกรรมให้ความรู้ (Play & Learn) สำหรับการฟังบรรยายให้ความรู้ถึงการปฏิบัติการฝนหลวง พร้อมทั้งตอบคำถามสำหรับการรับของที่ระลึก
นอกจากนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้เชิญหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานร่วมบูรณาการ อาทิ กองทัพอากาศ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) เข้าร่วมจัดนิทรรศการให้ความรู้ในด้านต่างๆ แก่ผู้เข้าชมงาน
และในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 เวลา 10.00 น. จัดพิธีวางพานพุ่มดอกไม้สดถวายแด่องค์พระบิดาแห่งฝนหลวงเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นหาที่สุดมิได้ โดยได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธี
ทั้งนี้ ตลอดการจัดงาน ยังมีการจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอีกมากกว่า 70 ร้านค้า เป็นผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP ซึ่งมีทั้งผัก ผลไม้ อาหารสด และอาหารแปรรูปทางการเกษตร มาจำหน่ายให้ประชาชนในราคาประหยัด
รวมทั้งยังมีกิจกรรมการสาธิตเสริมสร้างอาชีพจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาทิ สาธิตการแปรรูปผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ การทำพวงกุญแจ การทำซูชิข้าวก่ำล้านนา การทำน้ำหมักจุลินทรีย์ (พด.6) สารเร่งซุปเปอร์(พด.2) และการทำแบคทีเรียสังเคราะห์แสง (พด.15)
ขอเชิญชวนนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทุกท่านมาร่วมงาน “วันพระบิดาแห่งฝนหลวง” ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 13 – 15 พฤศจิกายน 2567 เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดี และร่วมกันประกาศก้องถึงพระเกียรติคุณแห่งองค์พระบิดาแห่งฝนหลวง ในการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นหาที่สุดมิได้ของพระองค์ท่านร่วมกัน


