ใบส่งตัว ทุกข์ของผู้ป่วย

ใบส่งตัวเดิมเป็นเครื่องมือในการส่งต่อข้อมูลระหว่างแพทย์  ต่อมากระดาษใบนี้มีหน้าที่เพิ่มคือเป็นเสมือน invoice สำหรับเรียกเก็บเงินจากปลายทาง คนไข้หรือญาติต้องมาเอาใบส่งตัวอีก ทั้งๆที่โรงพยาบาลที่รับส่งต่อมีข้อมูลเต็มๆแล้ว ไม่ใช่ผู้ป่วยใหม่ ไม่มีข้อมูลทางการแพทย์อะไรใหม่ที่ต้องเขียนใบส่งตัวอึกแล้ว เสียเวลาค่าเดินทางทั้งผู้ป่วยและญาติ เพิ่มงานเพิ่มความแออัดแก่โรงพยาบาลต้นทางอีกด้วย

คนไข้มะเร็ง ในโครงการ cancer anywhere โรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัยแจ้งเงื่อนไขต้องไปเอาใบส่งตัวที่หน่วยบริการปฐมภูมิทุกครั้ง แต่ สปสช.ประกาศว่า “ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว”  งานนี้ชัดเจน คนไข้กลัวไม่มีคิว ไม่ได้รับการรักษาทุกคนก็ต้องยอมไปขอใบส่งตัวมาอีก สามสิบบาทรักษาทุกที่ ยังเป็นเพียงวาทกรรม

แล้วทางออกคืออะไร 

เบืัองต้น ผมเสนอหลัก 3 ข้อ

1. ทำให้“ใบส่งตัวคือใบส่งต่อข้อมูลเพื่อการรักษาผู้ป่วย” “ให้ผู้มีอำนาจวางระบบให้ยุติหน้าที่ใบส่งตัวในฐานะinvoice หรือหลักการเรียกเก็บเงินเสียในทุกกรณี” การบังคับให้ต้องมีใบส่งตัวเพื่อจะได้รับการรักษาฟรีตามสิทธินั้นสร้างความทุกข์และผลักภาระให้ผู้ป่วยและญาติเกินจำเป็น เป็นการปิดกั้นการเข้าถึงบริการอันเป็นสิทธิ์ตามกฏหมาย  ดังนั้นถ้าผู้ป่วยมีประวัติที่เพียงพอแล้ว มีคิวนัดแล้ว ก็ไม่ควรต้องมาเอาใบส่งตัวอีก

2. หาเครื่องมืออื่น ในการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลระหว่างโรงพยาบาลที่ไม่ใช่ใบส่งตัว เป็นกฎกติกาข้อตกลงร่วมที่มี สปสช.เป็นคนจ่ายหรือเป็น clearing house เป็นระบบธุรกรรมหลังบ้าน เคลียร์กันเอง คุยกันเอง ระหว่างโรงพยาบาล อย่าให้ผู้ป่วยและญาติต้องลำบาก ทุกข์จากความเจ็บป่วยก็มากพอแล้ว แต่แน่นอน อัตราการตามจ่ายจะเป็นอัตราที่สมเหตุสมผลไม่เน้นทำกำไร

3. ในระยะยาว รัฐบาลควรทำระบบโปรแกรมเวชระเบียนกลางแห่งรัฐขึ้นมา ทดแทนการที่ต่างโรงพยาบาลต่างมีโปรแกรมที่ซื้อมาเองจากเอกชน เมื่อนั้น การเข้าถึงข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลจะง่ายขึ้น ภายใต้กติกาการรักษาสิทธิผู้ป่วยในการเก็บความลับผู้ป่วย แล้วจะเป็นการส่งตัวแบบดิจิตอลโดยสมบูรณ์ 

ความโกลาหลของการใช้/ไม่ใช้ใบส่งตัว cancer anywhere เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งของความทุกข์ผู้ป่วยจากใบส่งตัวทุกประเภท  น่าจะถึงเวลาของการปฏิรูปใหญ่

สงครามใบส่งตัวคือสัญญะแห่งความขัดแย้งของระบบการรักษาพยาบาลหลายสังกัด งบประมาณที่น้อยลงคือหนึ่งในต้นเหตุ แต่เราก็ไม่ควรผลักภาระมาให้ผู้ป่วย เพราะสุขภาพและการรักษาพยาบาลยามเจ็บป่วยคือสิทธิคือสวัสดิการสังคมที่คนทั้งโลกอิจฉาคนไทย  เราจึงควรช่วยกันผ่าฟันไปให้สำเร็จ

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

ประธานชมรมแพทย์ชนบท

17 ธันวาคม 2567

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *