จม.เปิดผนึก’ACT’ถึงอสส. สั่งอุทธรณ์ “คดีทุจริตพาณิชย์อุบลฯ” เทียบคดี “พิรงรอง” ทำสังคมสิ้นหวังซ้ำ

IMG 2202

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันประเทศไทย (ACT) ทำจดหมายเปิดผนึกถึงสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ขอให้พิจารณาสั่งอุทธรณ์ “คดีทุจริตพาณิชย์อุบลฯและสุรินทร์” หลังจากศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 พิจารณาตัดสินแล้วสั่งลงโทษจำคุก 130 ปี หรือรวมลงโทษ 50 ปีเมื่อจำเลยสารภาพ แต่กลับได้รอลงอาญา เทียบเคียงกับคดีพิรงรอง” ยิ่งทำให้สังคมสับสนและสิ้นหวังกับกระบวนการยุติธรรม

นายมานะ นิมิตรมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า จากกรณีอดีตพาณิชย์จังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดสุรินทร์ ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดว่าร่ำรวยผิดปกติจากการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้าง 26 โครงการ มูลค่ากว่า 81 ล้านบาท ในห้วงปี พ.ศ. 2554-2557 จนศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 มีคำพิพากษาเมื่อ 24 ก.ย. 2567 ตัดสินให้จำคุก 130 ปี 78 เดือน ปรับ 2,652,000 บาท จำเลยรับสารภาพได้รับการลดโทษคงเหลือ จำคุก 50 ปี ปรับ 1,326,000 บาท สุดท้ายศาลให้ “รอลงอาญา 5 ปี” นั้น

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ เห็นว่า จำเลยคดีนี้เป็นข้าราชการแต่กลับใช้อำนาจหน้าที่กระทำการทุจริตเป็นเครือข่ายอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนเกิดความเสียหายต่อรัฐจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่องบประมาณแผ่นดิน ที่สำคัญ ยังทำลายความเชื่อมั่น ความศรัทธาของประชาชนต่อภาครัฐ พฤติกรรมโดยรวมของคดีตามที่ปรากฏจึงไม่สมควรรอลงอาญาสอดคล้องตามหลักสากลที่ถือว่าคดีคอร์รัปชันเป็นอาชญากรรมร้ายแรง ต้องลงโทษหนักและไม่มีการรอลงอาญา

ไม่เพียงเท่านั้น ต่อคำตัดสินคดีนี้ หากนำมาเปรียบเทียบกับคดีของ ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ถูกทรูไอดีฟ้องร้อง ถึงแม้ฐานคดีจะต่างกันแต่ศ.กิตติคุณพิรงรองผู้ปฏิบัติหน้าที่กรรมการ กสทช. เพื่อปกป้องสิทธิประชาชน กลับถูกลงโทษให้จำคุกโดยไม่มีการรอลงอาญา ยิ่งทำให้สังคมสับสนในกระบวนการยุติธรรมและหลักนิติรัฐของประเทศ

“คอร์รัปชันในภาครัฐเป็นปัญหาวิกฤตของประเทศ แต่การจับกุมเอาคนโกงชาติมาลงโทษเป็นเรื่องยากเย็น ต้องสิ้นเปลืองเวลาและทรัพยากรของรัฐอย่างมาก เพราะหลายคดีใช้เวลานับสิบๆ ปีจึงทำให้คนผิดส่วนใหญ่ยังลอยนวลอย่างย่ามใจ แต่ประชาชนหดหู่สิ้นหวังว่าประเทศไม่พัฒนาเพราะคนโกงครองเมือง” ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯกล่าวและว่า

ในบทบาทขององค์กรภาคประชาชน  จึงขอเสนอความเห็นต่ออัยการสูงสุดโปรดพิจารณาใช้สิทธิอุทธรณ์โต้แย้งดุลยพินิจในการกำหนดโทษของศาลในคดีนี้โดยขอให้ลงโทษหนักขึ้นและไม่รอลงอาญา เพื่อให้เกิดการสร้างมาตรฐานการลงโทษคดีทุจริตที่สังคมยอมรับ.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *