รางวัลเชิดชูเกียรติ รพ.ชุมชน สพบ.มอบรางวัลเชิดชูเกียรติ 30 รพ.ชุมชน
ผู้ขับเคลื่อนระบบสุขภาพชุมชนในทุกช่วงวัยหวังขยายผลเพิ่มจาก 780 แห่งทั่วประเทศ
สถาบันพัฒนาระบบบริการสุขภาพองค์รวม (สพบ.) ภายใต้มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) มอบรางวัลเชิดชูเกียรติแก่โรงพยาบาลชุมชนและศูนย์สุขภาพชุมชนเขตเมืองที่สร้างผลกระทบทางสังคมด้านระบบสุขภาวะองค์รวมทุกช่วงวัยและขับเคลื่อนงานที่มุ่งเน้นการสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนท้องถิ่นในช่วงปี 2566-2567 รวม 30 โรงพยาบาลชุมชน 7 ประเภทรางวัล หวังขยายผลให้เข้าถึงโรงพยาบาลชุมชน 780 แห่งทั่วประเทศให้มากที่สุด

เมื่อเร็วๆนี้ ในงานงานมหกรรมวิชาการ “สุข Marathon” Happiness is Blooming ซึ่งจัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ สถาบันพัฒนาระบบบริการสุขภาพองค์รวม (สพบ.) ภายใต้มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ(มสช.) มีการมอบรางวัลเชิดชูเกียรติแก่โรงพยาบาลชุมชนต้นแบบด้านต่างๆ 7 ประเภทรางวัลนั้น
นพ.สันติ ลาภเบญจกุล เลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ในฐานะประธานผู้พิจารณารางวัลเชิดชูเกียรติโรงพยาบาลต้นแบบและเครือข่ายดีเด่น กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของรางวัลนี้ ว่า เพื่อยกย่องและขยายผลต้นแบบโรงพยาบาลชุมชนในเครือข่าย 30 แห่งทั่วประเทศที่มีบทบาทขับเคลื่อนระบบสุขภาพชุมชนในทุกช่วงวัยร่วมแก้ปัญหาสังคมในประเด็นต่างๆกับชุมชนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น การจ้างงานผู้พิการ การตั้งศูนย์บริการคนพิการทั่วไปในโรงพยาบาล การพัฒนาเด็กปฐมวัยที่บูรณาการการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติโดยยึดเด็กเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ (ICAP) โครงการครูนางฟ้า งานระบบข้อมูลระดับอำเภอ ฯลฯ อีกมากมายโดยหวังว่า โรงพยาบาลชุมชนอื่นๆทั่วประเทศซึ่งมีทั้งหมดกว่า 780 แห่งนั้น จะเห็นวิธีการขับเคลื่อนและเกิดแรงบันดาลใจพร้อมจะขยายผลและเข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายภายใต้โครงการพัฒนาระบบสุขภาพองค์รวมสู่ชุมชนเข้มแข็ง

ทั้งนี้ โรงพยาบาลที่ได้รับรางวัลจะต้องผ่านเกณฑ์สำคัญในการพิจารณาประกอบด้วย 1) จะต้องมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน 2) มีการพัฒนานวัตกรรมหรือแนวทางใหม่ ๆ ที่สามารถนำไปปรับใช้ในพื้นที่อื่น ๆ 3) มีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยมีการแบ่งประเภทรางวัลเป็น 7 กลุ่มโรงพยาบาลต้นแบบในด้านต่างๆ ได้แก่



• รางวัล “Model Hospital for Community Health Leadership” โรงพยาบาลผู้นำสนับสนุนสุขภาพชุมชนเข้มแข็งมีรูปธรรมที่เห็นชัดเจน ครอบคลุมทุกมิติทั้ง สุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม แสดงให้เห็นถึงบทบาทผู้นำในการขับเคลื่อนสุขภาพชุมชน ได้แก่ 1.)รพ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี 2.)คลินิกหมอครอบครัวคลองศาลา รพ.เพชรบูรณ์จ.เพชรบูรณ์ 3.) รพ.ตากใบ จ.นราธิวาส 4.) รพ.อุบลรัตน์จ.ขอนแก่น 5.) รพ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น 6.) รพ.ขุนหาญจ.ศรีสะเกษ
• รางวัล “Excellence in Community Health Development :โรงพยาบาลแห่งความทุ่มเทกับการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนทุกมิติและมีแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้แก่ รพ.ท่าสองยาง จ.ตาก
• รางวัล “Outstanding Hospital for Community Collaboration โรงพยาบาลต้นแบบการขยายผล ภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วนในชุมชน เป็นโรงพยาบาลที่สามารถขยายผลและสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ รพ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน
• รางวัล “Community Health Innovation Award“ โรงพยาบาลผู้ริเริ่มนวัตกรรมระบบสุขภาพเพื่อชุมชน สามารถนำไปต่อยอดและปรับใช้ในพื้นที่อื่น ๆ ได้ ได้แก่ 1.) รพ.ยี่งอเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา จ.นราธิวาส 2.)รพ.สมเด็จพระยุพราชยะหา จ.ยะลา
• รางวัล “Leadership in Community Support” โรงพยาบาลผู้นำความสำเร็จของศูนย์สนับสนุนชุมชนเข้มแข็งภายใต้การประสานงานกับทุกภาคส่วน ได้แก่ รพ.ละงู จ.สตูล
• รางวัล “Pioneering Spirit and Participation Award โรงพยาบาลที่มีจิตวิญญาณแห่งการบุกเบิกและการมีส่วนร่วมยอดเยี่ยมในแง่การขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของชุมชน สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก ได้แก่รพ.แก่งคอย จ.สระบุรี
• รางวัล “Dedication to Community Health Award“ โรงพยาบาลแห่งความทุ่มเทเพื่อสุขภาพชุมชน ดำเนินโครงการและกิจกรรมที่ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ ได้แก่ เครือข่ายโรงพยาบาลชุมชนจำนวน 18 หน่วยงาน