หนังอ้นกวี ศรีวิชัย : ศิลปินพื้นบ้านการปรับตัวเพื่อสอดรับกับยุคสมัย

on

หนังอ้นกวี ศรีวิชัย นักร้อง นักดนตรี นายหนังตะลุงมากความสามารถชาวสงขลา ซึ่งร่วมเวทีงาน แหลง ขับ เล่า โชว์ “สงขลาสู่มรดกโลก” 27 ปีสงขลาโฟกัสโดยนำศิลปะการแสดงพื้นบ้าน หนังตะลุง และนำบุตรสาว 3 ใบเถา มาร่วมเวทีแสดง ให้ความสุขและเป็นที่ชื่นชอบของนักเรียน นักศึกษา สร้างความประทับใจแก่ผู้ร่วมชมงาน


“รู้สึกเป็นเกียรติที่สงขลาโฟกัส เลือกผมเป็นส่วนหนึ่งของงาน ทั้งการร่วมแสดงและร่วมพูดคุย” หนังอ้น กล่าว และว่า

ถือเป็นครั้งหนึ่งในชีวิต ซึ่งหาโอกาสได้น้อยที่จะมีกิจกรรมแบบนี้ ที่มีความหลากหลาย ทั้งภาคบันเทิง และสาระวิชาการ ตอบโจทย์ประชาชนในวงกว้างและผู้ที่สนใจ มากกว่าจะมีเพียงวิชาการความรู้ เป็นหนึ่งในความประทับใจ อาจมีติดขัดบ้างที่ศิลปินและผู้ที่ร่วมให้ความรู้แยกภาคกันอยู่

“หากได้พูดคุย นำเอาภาคความรู้แลกเปลี่ยนส่งต่อข้อมูล มาร่วมแสดงกับภาคบันเทิงได้ก็จะลงตัวมากกว่านี้”

ศิลปะกับการสื่อสาร
หนังอ้น กล่าวว่า การสื่อสารระหว่างภาควิชาการกับศิลปะการแสดง เช่น หนังตะลุง ให้ความรู้สึกต่างกันอยู่สำหรับชาวบ้าน หากได้นำสองส่วนนี้มาสอดรับเสริมกันก็จะเป็นมิติใหม่

ถือว่าเป็นครั้งแรกในการจัดงานรูปแบบนี้อย่างน้อยในวันนี้เด็กๆ ที่ไม่เคยรู้จัก เท่ง หนูนุ้ย ก็ได้สัมผัสรับรู้ที่มาที่ไปของแต่ละคน เช่น เท่ง มีตัวตนจริงๆ เป็นชาวต.คูขุด อ.สทิงพระ จ.สงขลา เราเกิดความภาคภูมิใจ

ชาวบ้านต้องมีส่วนร่วม
“การนำสงขลาสู่มรดกโลก มองได้หลายมุม สงขลามีแหล่งท่องเที่ยวเป็น “จุดเช็คอิน” มาก ทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ การตั้งเมืองสทิงพระ ตำนานหลวงปู่ทวด หรือสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อื่นๆ ในจังหวัด

“ผมเห็นว่า ตรงนี้เรายังนำเสนอน้อยเกินไป ยกตัวอย่าง เราเพิ่งตั้งอนุสาวรีย์ทวดเท่งขึ้นมา ทั้งๆที่เป็นที่รู้จักมานาน เรื่องราวต่างๆ เหล่านี้มีคุณค่าอยู่ในตัว อยากให้เพิ่มมูลค่าขึ้นมา เพื่อชาวบ้านสามารถจับต้องได้ รู้สึกภาคภูมิใจในสิ่งที่เขามีอยู่ ซึ่งหากสงขลาสู่มรดกโลก สิ่งต่างๆ เหล่านี้สามารถสร้างมูลค่าได้”


ขณะนี้ดูเหมือนว่าผู้ที่ทำเรื่องนี้มีกลุ่มเดียว แต่ทำอย่างไรให้ชาวบ้านสามารถรับรู้และถ่ายทอดเรื่องเหล่านี้ให้กับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาสนใจ นำความรู้ต่างๆ ทางประวัติศาสตร์เมืองสงขลาให้กับชาวบ้านได้ช่วยนำเสนอด้วยภาษาของชาวบ้านได้ ให้เขาได้ตื่นรู้คุณค่าของสิ่งที่เขามี ก็จะเป็นการสร้างบุคลากรท้องถิ่นส่วนหนึ่งที่สำคัญ

เมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามา เขาก็ไม่เคว้งคว้างเพราะเรามีไกด์ชาวบ้านอยู่ในทุกพื้นที่ แต่หากวันนี้เรายังไม่สร้างชาวบ้านขึ้นมารองรับ นักท่องเที่ยวเข้ามาก็ขาดความเข้าใจประวัติศาสตร์ เห็นแต่ภาพของพื้นที่

ภาษา สันทนาการของชาวบ้าน
การสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้เข้าใจสอดคล้องกัน ระหว่างภาษาของชาวบ้านกับวิชาการการละเล่นพื้นบ้าน เช่น หนังตะลุงเองก็มีข้อจำกัด บางคณะบางส่วนก็ไม่ถนัดในการนำสาระความรู้ไปสู่ชาวบ้าน เน้นความบันเทิงหรือความรู้ความเป็นพื้นบ้านเป็นหลัก

ดังนั้น ในการถ่ายทอดความรู้ต่างๆ นักวิชาการก็สามารถปรับวิธีการสื่อ ปรับภาษาให้ชาวบ้านเข้าใจได้ บางครั้งต้องมีการสันทนาการร่วมด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย

ความจริง แม้แต่การทำให้คนรู้สึกมีความสุขมีความสนุกก็ยากแล้ว ทำให้คนมีความสุขได้ความรู้ก็ยิ่งยากขึ้นไปอีก ดังนั้นก็ต้องค้นหาคนที่มีครบทั้งศิลปะการนำเสนอและสาระความรู้

การปรับตัวกับยุคสมัย
สำหรับผม การเข้ามาเล่นหนังตะลุง หนึ่งเกิดจากความชอบ แต่การจะทำตรงนี้ได้ดีผมคิดว่าพรสวรรค์มีส่วนสิบเปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเก้าสิบเปอร์เซ็นต์เป็นเรื่องของพรแสวง ต้องฝึกฝนอย่างมากในหลายๆ ด้าน

อย่างทุกวันนี้ผมเป็น Influencer ด้วย เกิดจากในช่วงวิกฤติโควิด จึงมาคิดหาวิธีการนำเสนอรูปแบบใหม่ๆ จากเนื้อหาหรือมุขหนังตะลุง นำเสนอในโลกโซเชียลฯ ซึ่งหลายคนทำแล้วถูกวิพากษ์วิจารณ์เพราะเป็นนำเสนอในรูปแบบใหม่

ในอดีต หนังพร้อมน้อย ท่านเคยถูกโจมตีจากหนังตะลุงด้วยกัน หรือนักวิชาการว่าทำลายขนบเดิมของหนังตะลุงโดยที่ท่านใช้เครื่องดนตรีสากลมาเล่นหนังตะลุง แต่สุดท้ายสังคมก็ยอมรับ การวิวัฒน์ก็เกิดขึ้นไปตามยุคสมัย ดังนั้น ในยุคของผม คิดว่าทำ
อย่างไรในเมื่อเด็กรุ่นใหม่กินแฮมเบอร์เกอร์ ผมจะเอาน้ำพริกไปให้เด็กย่อมไม่กิน

อยากให้ทุกคนเข้าใจจุดนี้ มันต้องปรับกันไปร่วมกับยุคสมัย มันเหมือนเส้นผมบังภูเขา”

ความจริงแล้วครูบาอาจารย์ทุกยุคสมัยสอนสั่งลูกศิษย์ให้เล่นต่างจากครู ยกตัวอย่าง หนังฉิ้น ธรรมโฆษณ์ ศิลปินแห่งชาติ ท่านก็ว่าท่านโด่งดังในยุคของท่าน ลูกศิษย์ลูกหาของท่านก็ต้องเล่นไปตามยุคสมัยและไปมีชื่อเสียงในยุคของตนเอง ทุกคนมีกลุ่มคนที่ชื่นชอบชื่นชมอยู่ในยุคสมัยของตน

ทั้งหมดผมคิดว่าขึ้นกับความเหมาะควร ผมเองอยากสื่อสารไปยังนักวิชการด้วย สังเกตมั้ยครับว่า หนังตะลุงที่มีชื่อมีงานมากๆ มักไม่ค่อยร่วมการประชุมของสมาคมหนังตะลุงต่างๆ เหตุเพราะเขามีความคิดเห็นที่ต่างออกไป เมื่อหากจะไปนำเสนอในที่ประชุมก็มักไม่ได้รับการยอมรับในความคิดแตกต่างนั้น จึงไม่เข้าร่วม ซึ่งความจริงแล้ว คำว่าแนวคิดอนุรักษ์ของหนังตะลุง ถามว่าเป็นการอนุรักษ์ในช่วงสมัยใด ยกตัวอย่าง ในยุคสมัยหนังอาจารย์พร้อมน้อย ก็มีคนบอกว่านี่ถูกต้องที่สุดแล้ว ถ้าไม่เล่นแบบหนังพร้อมถือว่าผิดหมด ไม่เป็นหนัง ซึ่งอาจารย์พร้อม ท่านก็ไม่ได้กล่าวอย่างนั้น

ทุกคนที่มาเป็นนายหนังตะลุงล้วนแต่คนรักหนังตะลุงด้วยกันทั้งหมด ดังนั้น การกล่าวว่าเล่นหนังตะลุงเพื่อให้มีงานมากๆ ก็ไม่ถูก หนังที่มีชื่อมีงานเล่นทุกคนก็มีความตั้งใจในการพัฒนาตัวเองเพื่อให้มีความสำเร็จ ให้หนังตะลุงยังคงอยู่ ให้มโนราห์ยังคงมีการเล่น มีคนติดตามดูในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงนี้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *