‘วชช.สงขลา’ยึด Learning for practical ศึกษาร่วมประเมิน“นักศึกษา-อาจารย์”ยุคไอที

IMG 9012

เน้นเรียนรู้เพื่อการปฏิบัติจริงทุกหลักสูตร “วชช.สงขลา” จัดอบรมอาจารย์ผู้สอน ก่อนเปิดเทอมสอง ปีการศึกษา 2567

10 ธันวาคม 2567 วิทยาลัยชุมชนสงขลา นำโดย อาจารย์พรเพ็ญ ประกอบกิจ ผู้อำนวยการวิทยาลัย ชุมชนสงขลา จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ เตรียม ความพร้อมการจัดการเรียนการสอน ภาคการศึกษาที่ 2 ปีการศึกษา 2567 ให้กับอาจารย์ผู้สอน ณ วิทยาลัยชุมชนสงขลา 

โดย ผศ.ดร.อนุวัติ สงสม อาจารย์ประจำหลักสูตรการค้าสมัยใหม่และโลจิสติกส์ คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจมหาวิทยาลัยทักษิณ บรรยายและฝึกการออกแบบ “การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลที่เชื่อมโยงกับการประเมินคุณภาพการศึกษาระดับหลักสูตร ตามเกณฑ์ AUN-QA”

อาจารย์รำภู คงเพ็ชร อาจารย์วิทยาลัยชุมชนสงขลา กล่าวว่า วชช.สงขลาได้จัดกิจกรรมอบรมฯให้กับอาจารย์ที่ทำการสอนใน 5 สาขาวิชาของวิทยาลัยฯคือ สาขาการปกครองท้องถิ่น สาขาการศึกษาปฐมวัย สาขาการจัดการสาขาสาธารณสุขชุมชน และสาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ หรือเทคโนโลยีดิจิทัล ประมาณ 60 คน 

“เกณฑ์ AUN-QA คือการประเมินคุณภาพภายในของวิทยาลัยชุมชนเกี่ยวกับการเรียนการสอนระดับอนุปริญญาเป็นการจัดหลักสูตรการสอนของแต่ละสาขาให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ซึ่งอาจารย์ผู้สอนต้องเตรียมการสอน สร้างเครื่องมือ กิจกรรมการสอนเพื่อประเมินผู้เรียนให้บรรลุตามเป้าหมาย CLO ของรายวิชาในแต่ละหลักสูตร” อาจารย์รำภู กล่าว และว่า

Learning for practical เป็นการเรียนรู้ที่นำมาใช้ในโลกปัจจุบัน เป็นการเรียนรู้ที่ใช้การสังเคราะห์และวิเคราะห์จากผู้เรียนและผู้สอนร่วมกัน ซึ่งเราเน้นการเรียนรู้ของนักศึกษาให้เท่าทันเทคโนโลยี รู้จักการคิดวิเคราะห์แก้ปัญหา สร้างผลงานจากการเรียนรู้เป็นการประเมินตามสภาพจริงที่เราได้วางไว้ เช่น การจะได้รับผลการเรียนที่ดี หรือดีมาก นักศึกษาต้องทำเรื่องใดบ้าง หรือในระดับที่ลดหลั่นลงมา 

ซึ่งนักศึกษาเองจะสามารถประเมินผลการศึกษาของตัวเองได้จากผลงานที่ทำว่า อยู่ในระดับใดมีข้อบกพร่องที่ต้องปรับปรุงเรื่องใดบ้าง ซึ่งการประเมินลักษณะนี้จะมีประสิทธิภาพมากกว่าการสอบปลายเทอม ถือประหนึ่งเป็นการสอบไปในตัวขณะเรียน ซึ่งนักศึกษาสามารถแก้ไขปรับปรุงไปด้วยได้

“เป็นลักษณะการสอบที่ไม่ได้ขึ้นอยู่แต่กับข้อสอบเพียงอย่างเดียว เนื่องจากจะมีการนำเสนอโปรเจคต์ของนักศึกษาเป็นการเรียนรู้ร่วมกันและประเมินร่วมกัน ให้นักศึกษาประเมินตัวเองว่าได้เท่าไหร่ อย่างไร เพื่อนนักศึกษาประเมินอย่างไร อาจารย์เองก็ประเมินนักศึกษาไปพร้อมกัน แล้วสะท้อนผลของแต่ละคนกลับมาว่ามีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร ทำให้นักศึกษามีการตื่นตัวมากขึ้น การจัดการเรียนการสอนก็มีคุณภาพมากขึ้น”

ตรงนี้จะทำให้ทุกคนรู้แนวทางในการดำเนินการของตนเอง ยกตัวอย่าง ผู้ที่เป็นเจ้าของกิจการที่จะนำบัณฑิตไปทำงานก็จะประเมินจากความสามารถของนักศึกษาได้ วิทยาลัยฯเองก็สามารถผลิตบัณฑิตที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน 

ดังนั้น เราเองต้องมีการสะท้อนผลการพัฒนาด้านการศึกษาของเราเอง ซึ่งวิทยาลัยมุ่งเน้นให้นักศึกษามีความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์ มีเรื่องของคุณธรรมประจำสาขา เช่น การเป็นครูปฐมวัย ก็ต้องมีคุณธรรมในการรักเอาใจใส่และดูแลเด็ก การเป็นนักปกครองต้องมีความซื่อสัตย์และมีภาวะผู้นำ เป็นต้น

“ในการเปิดเทอมที่สอง ฝากให้นักศึกษามีความกระตือรือร้น รับผิดชอบต่อตัวเอง รับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมายเรียนรู้ด้วยตัวเองให้มากขึ้น ประเมินตนเองในขณะเรียน และสามารถนำเสนองานของตัวเองได้” อาจารย์รำภู กล่าว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *