โกงงบประมาณร้อยล้าน พันล้าน หรือหมื่นล้านหลายร้อยคดีใต้พรมสังคมไทยที่ถูกเปิดโปงขึ้นมาจากฝีมือของ “นักข่าวสืบสวน” อาชีพที่คอยสืบค้นความจริงจากเบื้องหลังสังคมเพื่อเปิดเผย และนำไปสู่การแก้ปัญหา แต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมาการสืบสวนของนักข่าวเหล่านี้กลับน้อยลงทุกที สาเหตุเพราะ 1. ไม่ได้รับการสนับสนุนมากพอ 2. มีความยากลำบากในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลเปิด (Open data) และ 3. ขาดเครือข่าย เพื่อร่วมผลักดันให้ภาครัฐเปิดเผยข้อมูลในรูปแบบที่มีมาตรฐาน


.
เป็นที่มาของ “งานประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างความร่วมมือเครือข่ายสื่อมวลชนต่อต้านคอร์รัปชัน” ที่จัดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา จากความร่วมมือของ HAND Social Enterprise เครือข่ายภาคสื่อมวลชนในการต่อต้านคอร์รัปชัน รวมถึงองค์กรภาครัฐและเอกชนที่ส่งเสริมด้านธรรมาภิบาลและการต่อต้านคอร์รัปชัน เพื่อสนับสนุนนักข่าวสืบสวนการทุจริตในประเทศไทย กิจกรรมนี้ได้รับการสนับสนุนโดยศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชันและส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค (KRAC) คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนทุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
.
โดยในงานมีกิจกรรมเกิดขึ้นมากมาย เช่น กิจกรรมเตรียมความพร้อม “เล่าเรื่องสะท้อนการทำข่าวสืบสวน” ที่ชวนคนในงานมาแชร์ประสบการณ์การทำงานข่าวสืบสวนผ่านกรณีศึกษา หรือกิจกรรม “สะท้อนเสียงสื่อ ผ่านการระดมความคิด เจาะรากปัญหาและความท้าทายการทำงานสืบสวนสอบสวน” ที่ชวนทุกคนมาแชร์ปัญหาที่พบในการทำงานสืบสวน และยังมีกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมายให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการสนับสนุนและแก้ปัญหาที่อาชีพนักข่าวสืบสวนต้องเจอ



.
โดยเราได้นำหนึ่งในกิจกรรมที่น่าสนใจในงานมาสรุปให้อ่านกัน คือ กิจกรรมปลุกกำลังใจการทำข่าวสืบสวนสอบสวน ที่ได้ชวนวิทยากรมาพูดถึงความสำคัญของนักข่าวสืบสวนและการต่อต้านคอร์รัปชันในปัจจุบัน
.
คุณวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อ “คนไทย” เปิดการสนทนาด้วยประเด็น “ความร่วมมือในการสร้างระบบนิเวศการต่อต้านคอร์รัปชัน” โดยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการร่วมมือกันในทุกภาคส่วนเพื่อแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในประเทศไทย
.
คุณวิเชียรเน้นว่า ปัญหาคอร์รัปชันเป็นประเด็นใหญ่ที่ต้องใช้เวลาและความพยายามอย่างต่อเนื่อง การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง “ระบบนิเวศ” ที่เอื้อต่อการต่อต้านคอร์รัปชันในสังคม
.
ด้านคุณปรางทิพย์ นักวิจัยอิสระด้านมาเลเซีย และนักข่าวอิสระ สมาชิกเครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ(ICIJ) ได้พูดในหัวข้อ “ความสำคัญของการทำข่าวสืบสวนสอบสวน” โดยสะท้อนถึงปัญหาที่วงการสื่อกำลังเผชิญ เช่นการขาดเงินทุนสนับสนุน และการถูกลดทอนบทบาทในการกำหนดประเด็นสำคัญทางสังคม
.
คุณปรางทิพย์ตั้งคำถามสำคัญว่า “ข่าวสืบสวนยังมีที่ยืนอยู่หรือไม่ ?” พร้อมยกตัวอย่างกรณี ปานามาเปเปอร์ ที่สมาคมนักข่าวสืบสวนระดับโลกเปิดโปงข้อมูลสำคัญจนเกิดการตรวจสอบผู้มีอิทธิพลระดับโลก กรณีนี้แสดงให้เห็นถึงพลังความร่วมมือของนักข่าวสืบสวนในระดับนานาชาติและความจำเป็นที่นักข่าวต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน
.
ส่วนมุมมองจากภาคธุรกิจเพื่อสังคม คุณสุภอรรถ โบสุวรรณ กรรมการผู้จัดการบริษัท HAND Social Enterprise ได้แบ่งปันประสบการณ์การสนับสนุนงานข่าวสืบสวน โดยยกตัวอย่างกรณีศึกษา “เสาไฟกินรี” ซึ่ง HAND มีบทบาทในการพัฒนาแพลตฟอร์มที่ช่วยให้นักข่าวสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว การสนับสนุนเช่นนี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการทำข่าวสืบสวน รวมถึงสร้างระบบที่เอื้อให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลสำคัญ
.
ในช่วงสรุปการสนทนา คุณสุภอรรถ ได้เสนอให้มีการจัดประชุมเฉพาะประเด็นในอนาคต โดย HAND จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเพื่อผลักดันให้การต่อต้านคอร์รัปชันกลายเป็นวาระสำคัญของสังคมและสร้างความยั่งยืนในการขับเคลื่อนงานข่าวสืบสวนของสื่อมวลชน
.
หากยังไม่จุใจจากงานประชุมเชิงปฏิบัติการฯ สามารถสืบสวนเพิ่มเติมกับเราได้ใน บทความคิดด้วยพลเมืองตอน“ร้อยพลังเครือข่ายสื่อต่อต้านคอร์รัปชัน” 👉👉 https://bit.ly/4gbwmlF
.
#ทุจริต #โปร่งใส #นักข่าว #นักข่าวสืบสวน #HANDSocialEnterprise