เย็นย่ำเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คณะจาก “โฟกัส” นำโดย นายภูวสิษฏ์ สุขใส บรรณาธิการ ดร.อิทธิพล เพชรศิริ คอลัมนิสต์ และผู้เขียน มีโอกาสเยี่ยมยามประสารุ่นพี่รุ่นน้องคณะ วจก.ม.อ.หาดใหญ่ (นอกจากผู้เขียน) ณ บ้าน “นายหัวจง” บรรจง นะแส ที่ต.ทุ่งหวัง อ.เมือง จ.สงขลา บรรยากาศครึกครื้นพร้อมความมืดเริ่มโรยตัว เวลาผ่านไปสองชั่วโมงโดยแทบไม่ทันสังเกต เผยแง่มุมชีวิตและความคิดของคนๆ หนึ่งที่น่าศึกษา หรืออาจเป็น “แรงบันดาลใจ” ในยุคที่ขาดหายสำหรับใครหลายคน
“ผมคิดว่าชีวิตไม่มีอะไร” เจ้าของรางวัลนักปกป้องศิลปวัฒนธรรมดีเด่นระดับชาติ ปีล่าสุดเอ่ยออกมาเรียบง่ายเมื่อเราถามคำถามสามัญ
“ชีวิตไม่มีอะไร อาจจะเป็นเพราะเราศึกษาความเป็นศาสนามาก ผมศึกษาทั้งสองศาสนาอ่านอันกุรอ่านฉบับแปลตั้งแต่สมัยทำงานอยู่ในชุมชนมุสลิม อีกส่วนผมก็เข้าสวนโมกข์ก็ได้เห็นวิธีคิดของหลักพุทธ ว่าความจริงชีวิตนั้นไม่มีอะไร เราเกิดมาเพื่อทำหน้าที่ของมนุษย์ ดูแลครอบครัว ดูแลชุมชน ดูแลสังคม ดูแลเพื่อนฝูงในระดับที่เราพอทำได้เท่านั้น ด้วยกับพ่อแม่ที่เป็นคนจีนมีหลักคิดตามแนวของขงจื๊อ คือการกตัญญูรู้คุณพ่อแม่ เน้นความซื่อสัตย์ไม่เบียดเบียน”
“พี่จง-จง หรือกระทั่ง นายหัวจง” ของเพื่อนพ้องน้องพี่ พี่ใหญ่แห่งวงการ “พัฒนาชุมชม” ภาคใต้ที่เริ่มต้นการทำงานท้องถิ่นมาตั้งแต่ปี 2524 ในนาม โครงการพัฒนาชุมชนประมงบ้านปากบางนาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา หรือตั้งแต่จบ รัฐประศาสนศาสตร์บัณฑิต (การปกครองท้องถิ่น) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และขยับขยายอีกหลายตำแหน่งรวมทั้งรางวัลที่รับเรื่อยมา จนปัจจุบัน นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย รวมทั้งรางวัลกรณีลุกขึ้นมาปกป้องเขาแดง สิงหนคร จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
การอ่านสร้างการต่อสู้
“ผมเริ่มสนใจปัญหาสังคมจากการอ่านหนังสือ อ่านหนังสือแล้วเราก็ตั้งคำถามกับชีวิตว่าเกิดมาทำไมจะทำอะไร เริ่มจากอ่านนิตยสารบางกอก อ่านพวกวรรณกรรมไทย วรรณกรรมต่างประเทศ อ่านเหยื่ออธรรม ถ้าไม่อ่านหนังสือจะนอนไม่หลับ มันเริ่มติดการอ่าน ผมมีเพื่อนที่เป็นนักแปลคือ วิภาดา กิตติโกวิท ส่งหนังสือมาให้อ่านอยู่บ่อยๆ อ.บรรจง บินกาซัน ก็ส่งหนังสืออิสลาม พวกหะดีษมาให้อ่าน สมัยลงไปทำงานกับชาวบ้านที่นาทับ ตอนนั้นก็เริ่มมีปัญหาชาวออกทะเลทำประมงไม่พอกิน เราก็มาระดมความคิดกับชาวบ้านมีปัญหาอะไรบ้าง มีการตั้งกลุ่มสหกรณ์ พาไปดูงาน คุยกันเรื่องการศึกษาของเยาวชน การทำงานอาชีพ ก็เจอปัญหาเรื่องยาเสพติด
เกิดปัญหาเชิงโครงสร้างภายในชุมชนจากเดิมที่มีโครงสร้างทางศาสนามีผู้นำคืออีหม่าม คอเฏ็บ บิลลาล กรรมการมัสยิด เมื่อเปลี่ยนแปลงการบริหาร ก็มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กรรมการหมู่บ้าน มาทับโครงสร้างเดิมก็เกิดปัญหา ซึ่งในช่วงแรกนั้นอิหม่ามคือผู้นำสูงสุด ส่วนกำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นแค่รัฐมนตรีของหมู่บ้านแต่พอสังคมพัฒนาไป การ Support จากรัฐอยู่ที่กำนันผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นโครงสร้างใหม่ มีอำนาจให้คุณให้โทษโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางกฎหมายบ้านเมือง เมื่ออำนาจรัฐหนุนโครงสร้างใหม่โครงสร้างชุมชนเดิมก็อ่อนตัวลง เมื่อก่อนอิหม่ามประกาศว่าถ้าใครเกี่ยวข้องกับยาเสพติดจะไม่ไปละหมาดศพให้ ก็ไม่ค่อยสำคัญเหมือนเมื่อก่อน สังคมเดิมก็ถูกทำลายอันนี้หมายถึงสังคมมุสลิมผมก็เรียนรู้จากชุมชนที่นาทับว่าได้รับผลกระทบมาก ส่วนสังคมพุทธก็อีกแบบ ยิ่งตอนหลังการเมืองท้องถิ่นก็เข้ามาอีก ทุนนิยมเข้ามาหนุนโครงสร้างใหม่ซึ่งไม่ได้ขึ้นอยู่กับฐานของศาสนาคุณธรรมความดี การเลือกตั้งมีการใช้เงินอย่างมากมายทำให้ผู้นำที่ได้มาขาดการเชื่อมต่อกับความรู้ทางศาสนา แต่มีลักษณะทุนนิยม ยิ่งการเมืองท้องถิ่นก็เชื่อมโยงประโยชน์กับการเมืองระดับประเทศอีก
เรื่องศาสนาเป็นแก่นของชุมชนอย่างแท้จริงหากไม่ฟื้นโครงสร้างนี้ขึ้นมาปัญหาชุมชนก็ไม่สามารถแก้ได้ พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เช่นเดียวกัน
ทุกวันนี้ เรื่องประมงชายฝั่งก็ยังทำอยู่ ต่อสู้กับนายทุนประมงพาณิชย์ ถ้าจะมีความภูมิใจในชีวิตคือการมีสุขภาพที่ดีและยังทำงานที่ดีได้อยู่ ได้ทำหน้าที่ของมนุษย์คนหนึ่ง เท่าที่เราทำได้ สิ่งใดที่เห็นด้วยเราก็เข้าไปช่วย คดีความจึงอาจจะมากหน่อย”
แนวโน้มการพัฒนา
“การพัฒนา เราพูดเฉพาะที่บ้านเราไม่ได้แต่มันต้องเชื่อมโยงกันทั้งโลก เชื่อมโยงกันทั้งสังคม ทิศทางของโลก ทิศทางของมนุษย์ชาติคืออะไรที่จะนำพาทั้งโลกรอดไปได้ เราดูจากแนวคิดนานาชาติที่บอกว่า การพัฒนาในรูปแบบปัจจุบันเราต้องหา “โลกอีกสามใบ” จึงจะพอกับทิศทางการพัฒนาแบบนี้ ซึ่งมันก็ไม่ใช่แล้ว แต่เรากำลังพูดถึงเรื่องของการพัฒนาที่มีความยั่งยืน
มาดูจังหวัดสงขลาเรา คุณจะพัฒนาไปทางไหนเราเป็นเมืองแห่งการศึกษา มีมหาวิทยาลัย มีธรรมชาติมีชายหาด มีโรงพยาบาลที่เป็นศูนย์กลางอย่างโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ที่ควรจะเป็นฮับทางด้านสุขภาพ มันควรจะเป็นอย่างนั้นคือเมืองแห่งการศึกษา การท่องเที่ยวและการบำบัดรักษาสุขภาพเราดูจากต่างประเทศที่เขาพัฒนาแล้วเขาก็มีรายได้จากเรื่องพวกนี้ แล้วเราจะมาทำให้เมืองเราเป็นเมืองอุตสาหกรรมไปได้อย่างไร ถ้าจะเป็นอย่างนั้นเราก็ต้องมาต่อสู้เรียกร้องกัน จะแพ้ชนะเราก็ได้ทำหน้าที่ของเราอย่างเต็มที่แล้วเพราะอุตสาหกรรมคือหายนะของประชาชน จะให้เขาทำงานค่าแรงวันละ 300 บาทในขณะที่เขาลงเรือไปตกปลาได้ตัวละเป็นร้อยเป็นพันบาท เขาเลี้ยงนก เขาก็อยู่ได้แล้วไม่ใช่ต้องไปเป็นยามเฝ้าโรงงานอุตสาหกรรม
นี่คือทิศทางที่เราควรจะเป็น ที่เราออกมาต่อสู้เรื่องอวนลากอวนรุนก็เพราะคิดว่าสัตว์น้ำมันควรจะโตให้ชาวบ้านได้จับ ไม่ใช่ปล่อยให้ไปเป็นปลาป่น มันควรเป็นการพัฒนาที่ยังยืนและนี่ในแง่ของความอุดมสมบูรณ์ของโลกใบนี้ แล้วถ้าเป็นมุสลิม หลักความเชื่อศรัทธาในการทำหน้าที่ในโลกนี้คืออย่างไร ซึ่งเชื่อมโยงกับโลกหน้า ถ้านโยบายของภาครัฐไม่สอดคล้องกับความเชื่อนี้ก็ต้องเกิดความขัดแย้ง”
การเมืองคนหนุ่มสาว-ปัญหาโครงสร้างอำนาจ
“ตราบใดที่เรายังมีปัญหาเรื่องโครงสร้างอำนาจภาครัฐยังไม่ถึงมือประชาชนจริงๆ มันก็ยังมีปัญหา เพราะในสมัยเหตุการณ์เดือนตุลาคม คนหนุ่มสาวเห็นถึงความไม่เป็นธรรมของโครงสร้างอำนาจจึงออกมา บางคนก็ศึกษาแนวคิดของคอมมิวนิสต์หรือบางคนไม่ได้ศึกษา แต่ที่ออกกันมาเพราะเห็นความไม่เป็นธรรมนั่นคือสมัย 49 ปีที่แล้ว ในวันนี้คนหนุ่มสาวก็ออกกันมาอีก เพราะปัญหาโครงสร้างยังไม่ได้รับการแก้ เขามองไม่เห็นอนาคตถ้ายังอยู่ในระบบแบบนี้ แล้วความรวดเร็วของข้อมูลข่าวสารก็มากกว่าสมัยก่อน เขาอาจจะมีความหยาบกระด้างบ้าง ขาดบางมิติเช่นมิติทางศาสนา อาจยังไม่เข้าใจสาเหตุแห่งทุกข์ การดับทุกข์ หรือถ้าเป็นมุสลิมบางทีอาจจะไม่เคร่งครัดในหลักศาสกิจของศาสนา ไม่ชัดเจนเรื่องแบบนี้ ก็ต้องให้อภัยในความเป็นเด็กเยาวชนซึ่งเมื่อโตขึ้นเขาก็จะเข้าใจ
การศึกษาเด็กและเยาวชน
“ผมเน้นสอนลูกให้เขาอ่านหนังสือตั้งแต่สมัยมัธยม หนังสือเรียนก็เรียนไป แรกๆ จ้างให้ขาอ่านนิทานพวกหนูน้อยหมวกแดงอะไรแบบนี้ จ้างเล่มละ 20 บาท แล้วมันก็มีหนังสือที่อ.วิทยากร เชียงกูลทำวิจัยออกมา “หนังสือ100 ชื่อเรื่องที่เด็กและเยาวชนไทยควรอ่าน” ออกมา ลูกก็เริ่มติดการอ่าน สุดท้ายรู้สึกจะเป็นเรื่องคู่มือมนุษย์ของท่าน พุทธทาส ภิกขุก จ้างให้ลูกอ่าน 1,000 บาท แต่พออ่านจบเขาบอกเขาไม่เอาค่าจ้างแล้ว ประเด็นก็คือให้เขารักการอ่าน ผมเชื่อว่าการอ่านทำให้เรารู้เท่าทันโลก เท่าทันสังคม ไม่ยึดติดอะไรง่ายๆ ทำให้รู้ชีวิตคน รู้ปรัชญาความคิด เยาวชนถ้าไม่อ่านหนังสือผมคิดว่าอันตรายมาก เราโตมาทำให้รู้ว่าการอ่านสำคัญมาก การอ่านหนังสือแม้ว่าอยู่ในห้องแคบๆ แต่ได้เรียนรู้โลกที่กว้างใหญ่ ผมเชื่อในการอ่านหนังสือ
การศึกษาคือการจัดการไม่ใช่ปล่อยให้เป็นเสรีภาพปล่อยประละเลย ประเทศพัฒนาเขาจัดการเรื่องเยาวชนอย่างดี สองทุ่มเด็กๆ ก็เข้านอนแล้วแต่บ้านเรายังปล่อยให้เด็กเล่นโทรศัพท์อยู่เลยนี่คือการไม่มีการจัดการ ซึ่งก็ไม่ต่างกับการปล่อยปละเหมือนวัวควาย เป็นความน่าสงสารของเยาวชนบ้านเรา จะโทษพ่อแม่ก็ไม่ได้เพราะบางคนอาจยุ่งกับการทำงาน บ้างก็อาจจะไม่มีความรู้ไม่เท่าทันเรื่องพวกนี้ แต่ลูกไปก่อนแล้วตกอยู่ในกับดักที่เขาวางเอาไว้เป็นกับดักในระดับสากลในการหาผลประโยชน์ นี่คือจุดอ่อนของสังคมไทย แต่ถ้าเรามองที่ประเทศมาเลเซียจะคนละระบบกัน เขาไม่ปล่อยประละเลยแบบนี้ ความปลอดภัยของเยาวชนเขาให้ความสำคัญมาก หรือประเทศอังกฤษก็เหมือนกัน แต่สังคมบ้านเราสังคมบ้านเรามีปัญหาโครงสร้างเยาวชนจึงเกิดปัญหามาก
คลองไทยกับผลประโยชน์ชุมชน?
“เรื่องคลองไทยเป็นโครงการที่ใหญ่เกินที่เราจะวิเคราะห์จากด้านเดียว ที่ชัดเจนคือการทำลายฐานทรัพยากร-พื้นที่ชุมชนไปเท่าไหร่ที่คลองตัดผ่านกับเงินที่ได้มาคุ้มกันหรือไม่ ดูที่อียิปต์คลองสุเอซก็ไม่เห็นว่าจะได้ประโยชน์กับชุมชน แต่ผลประโยชน์จะได้กับรัฐบาลและคนที่เป็นนายทุนที่เห็นด้วยเรื่องการค้าขาย เราดูจากท่าเรือน้ำลึกสงขลาก็เห็นชัด ซึ่งถ้าจะให้มีความเป็นธรรมจะต้องวิน-วินคือคุณก็ได้ชาวบ้านก็ได้ด้วยถึงจะถูกต้อง แต่นี่ส่วนใหญ่จะได้กับผู้ที่เป็นนายทุนกับรัฐบาล ก็รวมศูนย์ผลประโยชน์เหมือนเดิม ส่วนชาวบ้านได้รับผลกระทบจากโครงการทั้งหมด ในความเห็นของผมโครงการใหญ่ๆ จะทำก็ได้แต่จะต้องกางแผนออกมาว่าชุมชนสังคมจะได้รับผลประโยชน์ เหมือนๆ กับที่นายทุนและรัฐบาลได้ ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้ ผมจึงต้องอยู่กับฝ่ายของชุมชนและชาวบ้าน เพราะพ่อแม่เราญาติพี่น้องเราก็ล้วนแต่เป็นชาวบ้านทั้งนั้น” นายหัวจงกล่าวทิ้งท้าย
-เฟาซ์ เฉมเร๊ะ-