คลองสำโรง อ.เมือง จ.สงขลา เป็นคลองธรรมชาติ มีที่มาจาก “ต้นสำโรง” เป็นไม้ยืนต้น ในอดีต คงจะมีต้นไม้ชนิดนี้ขึ้นอยู่หนาแน่นบริเวณริมคลอง รวมทั้ง บริเวณภูเขาที่อยู่ไม่ไกลจากคลอง ผู้คนในท้องถิ่นจึงเรียกชื่อคลองและภูเขาตามชื่อต้นไม้ชนิดนี้ (ปัจจุบันเขาสำโรงอยู่ในเขตเทศบาลเมืองเขารูปช้าง อ.เมืองสงขลา)
คลองสำโรง มีความยาว 5.4 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างทะเลสาบสงขลากับอ่าวไทย ในอดีตเป็นร่องน้ำใหญ่ กว้างประมาณ 50 เมตร เรือสินค้าหรือเรือ สำเภาต่างชาติสามารถแล่นผ่านทะเลอ่าวไทยเข้าสู่คลองสำโรง เพื่อไปค้าขายกับเมืองท่าต่างๆ ในทะเลสาบสงขลาได้

ในอดีต คลองสำโรง เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของสัตว์น้ำนานาชนิด เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน กุ้ง หอย ปู ปลา อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารสำคัญของคนริมคลอง เป็นที่หลบลมมรสุมของเรือใหญ่น้อย ทั้งยังแล่นเรือจากทะเลอ่าวไทยผ่านคลองสำโรงเข้าสู่ทะเลสาบสงขลาได้สะดวก ไม่ต้องอ้อมไปทางปากทะเลสาบที่อยู่ห่างจากปากคลองสำโรงประมาณ 20 กิโลเมตร
อดีตชาวประมงพื้นบ้านชุมชนท่าสะอ้าน ริมคลองสำโรงตอนปลายที่เชื่อมต่อกับทะเลสาบสงขลาเล่าว่า ก่อนปี 2527 น้ำในคลองสำโรงยังไม่เน่าเสียชาวบ้านยังหาปลากินและขายไม่อดอยาก เช่น ปลากะพงตัวใหญ่ๆ ขนาด 5-6 กิโลกรัม ปลากระบอก หาได้วันหนึ่งเกือบเต็มลำเรือ“เมื่อก่อน…วันไหนไม่รู้ว่าจะกินอะไรดี จะเอาหัวปลาที่กินเหลือจากเมื่อวานผูกเชือกแล้วโยนลงในคลอง สักพักปูดำจะมารุมกินหัวปลา แล้วสาวเชือกเข้ามา เอาสวิงตัก ได้ปูตัวเท่าฝ่ามือ กุ้งกุลาในคลองก็มี
ตัวเท่าข้อมือผู้ใหญ่ ไม่ต้องออกไปหากินไกล แค่ในคลองก็พออยู่ได้” วันนี้น้ำในคลองสำโรงตลอดสายคลองเน่าเสีย มีกลิ่นเหม็น ดำกว่าน้ำโอเลี้ยง แต่กินไม่ได้
คลองสำโรง ปัจจุบันสภาพน้ำในคลองมีสีดำ เน่าเหม็น มีบ้านเรือน สิ่งปลูกสร้างรุกล้ำคลอง และมีสภาพเป็นชุมชนแออัดเสื่อมโทรมไม่ต่างจากคลองที่กล่าวมาเท่าใดนัก !!
31 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2566 มีการจัดงาน
“Kick off การออกแบบอนาคตคนริมคลองสำโรงคลองสวย น้ำใส ไร้ขยะ ชุมชนมีสุข” ที่สวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา อ.เมืองสงขลา โดยจัดแสดงนิทรรศการ เวทีเสวนา การลงพื้นที่ชุมชนเพื่อความเข้าใจ สำรวจข้อมูล และกิจกรรมฐานการเรียนรู้ทั้งได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดสงขลาและส่วนกลาง 25หน่วยงาน เพื่อร่วมกันพัฒนาชุมชนและคลองสำโรงมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นสักขีพยาน พร้อมด้วยผู้บริหารท้องถิ่น หน่วยงานต่างๆ เช่น อบจ.สงขลา พมจ.จังหวัดสงขลา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เครือข่ายชุมชนจังหวัดสงขลา และผู้แทนชุมชนริมคลองสำโรง
วันที่ 12 พฤษภาคม 2565 นายนิพนธ์ บุญญามณี ขณะเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่เพื่อติดตามการแก้ปัญหาน้ำเสียคลองสำโรง เขตเทศบาลนครสงขลา มีนายชีระ วงศบูรณะ ผู้อำนวยการองค์การจัดการน้ำเสีย หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมรายงานข้อมูล ณ บริเวณสะพานแยกสำโรง เพื่อหาแนวทางแก้ไข ฟื้นฟูคลอสำโรงให้มีความสะอาด มีศักยภาพในการระบายน้ำให้ได้ดีขึ้น โดยพบว่า คลองมีปัญหาตื้นเขินคันคลอง บางช่วงมีระดับต่ำและมีผู้อาศัยอยู่บริเวณแนวคลองหนาแน่น ส่งผลต่อการระบายน้ำ ทั้งยังมีขยะและสิ่งปฏิกูลจำนวนมากที่ถูกนำมาทิ้งลงคลอง จนทำให้น้ำมีคุณภาพต่ำ สีดำ เน่าเสีย และส่งกลิ่นเหม็น จึงให้องค์การจัดการน้ำเสีย(อจน.) หาแนวทางแก้ไขปัญหาคลองสำโรงที่เรื้อรังมานานให้ได้โดยคลองสำโรง เชื่อมระหว่างเทศบาลนครสงขลากับเทศบาลเมืองเขารูปช้าง เป็นเส้นทางสัญจร มาตั้งแต่สมัยโบราณ และเชื่อมระหว่างทะเลอ่าวไทยกับทะเลสาบสงขลา เมื่อมีชุมชนมากขึ้น เส้นทาง
ในเขตชุมชนก็เริ่มมีปัญหา จึงต้องวางแผนเรื่องการบำบัดน้ำเสีย ควบคู่ไปกันไป “ผอ.อจน.” ได้รายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงานโครงการก่อสร้างและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการคุณภาพน้ำในเขตพื้นที่จัดการน้ำเสีย ระยะที่ 1 เทศบาลนครสงขลา โดยจะรวมน้ำเสีย ซึ่งถูกระบายลงสู่คลองสำโรงโดยตรงในปริมาณมาก เพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำให้เป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาน้ำเสียรวมทั้งบรรเทาปัญหาความเป็นอยู่ และสุขอนามัยของประชาชนในชุมชนริมคลองสำโรงอย่างเป็นระบบได้อย่างยั่งยืน