หนังสือพิมพ์ภูมิภาค รายสัปดาห์ ของคนใต้ ปีที่ 26 ฉบับที่ 1,322 วันที่ 12 – 18 กุมภาพันธ์ 2567
มคิคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี สั่งกรมอุทยานฯ มอบอำนาจ “ทำหมันลิง” ให้ผู้ว่าฯ “รองฯ มาหะมะพีสกรี” ระบุเป็นทางเดียว แก้ปัญหาลิงบ่อยาง 3 พันตัวและลิงเกาะยอ 300 ตัว
หลังจากที่มีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการและคณะทำงานบริหารจัดการปัญหาลิงในพื้นที่จังหวัดสงขลา” เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 โดยมี นายมาหะมะพีสกรี วาแม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานฯ
นายมาหะมะพีสกรี วาแม เผยว่า เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2567 ที่ห้องประชุมกรรมาธิการ CB 402 ชั้น 4
อาคารรัฐสภา ตนได้เข้าร่วมประชุมเพื่อพิจารณา “ญัตติเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอันเกิดจากลิง” กับคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 14
ซึ่งมติจากผู้เชี่ยวชาญสรุปว่า วิธีการที่จะควบคุมประชากรลิงได้ดีที่สุดคือ การทำหมัน แล้วอพยพ หรือ โยกย้าย ส่วนการทำโดยวิธีอื่นไม่ได้ผล “การทำหมันมีค่าใช้จ่าย คือต้องมีงบประมาณ ต่อตัวประมาณ 2,000 บาท ซึ่งไม่ใช่สาระสำคัญเนื่องจากงบประมาณเราก็มีท้องถิ่น คือองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรืองบของผู้ว่าราชการจังหวัดก็มีอยู่ อันนี้คือหัวใจสำคัญในการแก้ปัญหา”
โดยผู้เชี่ยวชาญในการทำหมัน เรามีปศุสัตว์จังหวัด ปศุสัตว์อำเภอ หรือถ้าไม่มี ก็สามารถจ้างบุคคลภายนอก โดยเฉพาะภาคเอกชนต่าง ๆ แต่สิ่งที่ เป็นปัญหาคือ การทำหมันต้องขออนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ในขณะที่กรมอุทยานฯ มีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ แม้จะมีเงิน แม้ว่าจะมีผู้เชี่ยวชาญ ขออนุญาตไปที่กรมอุทยานฯ เขาก็ไม่สามารถส่งคนมาได้ ก็ทำไม่ได้ ที่ประชุมจึงสรุปว่า ขอให้กรมอุทยานฯ มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในการทำหมันลิง โดยคณะกรรรมาธิการฯ จะทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน เพื่อขอให้กรมอุทยานฯ มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถบริหารจัดการเองได้ ในการทำหมัน “การประชุมครั้งนี้มีจังหวัดสงขลาและจังหวัดลพบุรีเข้าร่วม” ขั้นตอนหลังจากนี้ คณะกรรมาธิการฯ ที่เชิญผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาไปชี้แจงถึงการดำเนินการแก้ปัญหา ซึ่งทางจังหวัดสงขลาได้ชี้แจงว่า เราทำโครงการมากมาย มีเงิน แต่พอถึงเวลาแล้ว เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ไม่สามารถซัพพอร์ตเราได้ ในขณะที่เราจะทำเองก็ไม่ได้ ผิดกฎหมาย ต้องรอเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯเข้ามา พอถึงเวลาเขาก็มาไม่ได้ คนไม่พอ คนไม่มี ทำให้เสียเวลาในการดำเนินการ
“คณะกรรมาธิการฯ มีมติให้เวลากรมอุทยานฯไปดำเนินการภาย 3 เดือน ในการมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดให้ได้” รองผู้ว่าฯ สงขลา กล่าว และว่า
ถ้าเป็นอย่างนี้ทุกอย่างก็จะจบหมด เพราะวิธีการต่างๆ ทางจังหวัดเรามีหมดแล้ว
โดยจังหวัดสงขลาไม่ได้นิ่งเฉย ได้ตั้ง “คณะทำงานบริหารจัดการปัญหาลิงในพื้นที่จังหวัดสงขลา” และคณะทำงานฯ ได้จัดทำแผนดำเนินการ 5 ปี (ปี 2566-2570) รวมระยะเวลาแผน 5 ปี ประกอบด้วย 1. การทำหมัน, 2. ทำถังขยะที่ไม่ให้ลิงสามารถล้วงไปเอาขยะมาได้ “ทำเป็นกรงขยะ ตั้งแต่ปี 2567 บริเวณหาดสมิหลา ซึ่งเทศบาลนครสงขลาดำเนินแล้ว ทำให้ลิงไม่สามารถล้วง รื้อ ขยะในถังได้” 3.ปลูกพืชที่เป็นอาหารทดแทนให้ลิงบนเขาตัวกวน เพื่อไม่ให้ลิงลงมา ให้มีอาหารเพียงพอบนเขา, 4. กำหนดจุดให้อาหารลิง จะไม่ให้มีการให้อาหารตามอัธยาศัยอีกต่อไป อันนี้คือมาตรการเฉพาะของจังหวัดสงขลา แต่ถ้ากรมอุทยานฯ ไม่มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เราก็ทำได้ไม่เต็มที่ เพราะมาตรการที่จะได้ผลจริง ๆ คือการทำหมัน
ทั้งนี้ ปัญหาลิงของจังหวัดสงขลาที่อำเภอเมืองสงขลา ในพื้นที่ตำบลบ่อยาง 3,000 ตัว และที่ตำบลเกาะยอ 300 ตัว ถ้าเทียบกับจังหวัดลพบุรีของเราแล้วของเราเป็นปัญหาน้อยกว่ามาก “ของเราปัญหาระดับปานกลาง ยังไม่ถึงขั้นวิกฤติ ถ้าเทียบกับจังหวัดลพบุรี ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรีท่านได้สะท้อนปัญหาเรื่องที่เกี่ยวกับกรมอุทยานฯอย่างหนัก” เนื่องจากกรมอุทยานฯ ไม่ยอมรับว่าเขาไม่มีศักยภาพ จึงไม่ยอมมอบอำนาจ ในขณะที่ผู้ว่าฯลพบุรี ก็บอกว่ามีงบประมาณพร้อมที่จะทำหมัน และได้ทำหนังสือไปที่กรมอุทยานฯ ซึ่งเขาก็บอกว่าเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ เงินมีแต่ไม่สามารถทำหมันได้ เพราะเราจะทำเองไม่ได้ ต้องให้กรมอุทยานฯมาทำ
“ผู้ว่าฯ ลพบุรีจึงบอกให้กรมอุทยานฯ มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้แล้ว จะหวงไปทำไม”
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันจังหวัดสงขลาดำเนินการทำหมันตามที่สามารถทำได้ก่อน ตามแผน 5 ปี แต่ก็ทำได้ไม่มาก ด้วยข้อจำกัดที่กรมอุทยานฯส่งคนมาให้เราไม่ทัน แต่ถ้ากรมอุทยานฯ มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เราสามารถทำได้เต็มที่ เท่าไหร่
ก็ได้ เพราะเรามีงบประมาณ มีผู้เชี่ยวชาญครบ ยกเว้นอำนาจดำเนินการที่ไม่มี