ภาคเอกชน-ผู้นำท้องถิ่น-ชุมชนขานรับ ผู้ว่าฯ พาเที่ยวชุมชน ทริป 2 รับสมัครแล้ว “ลัดเลาะ 4 อำเภชายแดน” ดันท่องเที่ยวชุมชนสงขลา เป็นศูนย์การเป็นกลางการท่องเที่ยวของภูมิภาค ประธานหอการค้าเชื่อมั่นศักยภาพ มีโอกาสที่จะพัฒนาได้ พร้อมเสนอยกระดับสินค้าชุมชน เจ้าอาวาสวัดพระโคะชี้สงขลาสู่มรดกโลกจะเป็นจุดเปลี่ยนคาบสมุทรสทิงพระ
10 เมษายน 2567 เวลา 06.30 น. นายสมนึก
พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พร้อมด้วย นายอำนวย พิณสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นำหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดสงขลา ร่วมลง
พื้นที่ชุมชน ในกิจกรรม “ผู้ว่าฯ พาทัวร์” วันเดียว
เที่ยวสงขลา นำร่องท่องเที่ยวชุมชน พร้อมให้การ
ต้อนรับคณะทัวร์ท่องเที่ยวชุมชน ณ ร้านมะม่วงเบา
คาเฟ่ อ.สิงหนคร จ.สงขลา มี นายวิชาญ ช่วยชูใจ
ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ สงขลา/ผู้จัดทัวร์ฯ พร้อม นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา นางสาวสุนิสา รามแก้ว ประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา
นายทรงพล จังศิริวัฒนธำรง ประธานหอการค้า
จังหวัดสงขลา นางนงเยาว์ จิรันดร ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานหาดใหญ่ นายนพดล สุระสังวาลย์ นายอำเภอสิงหนคร นายกอง จันทร์สว่าง นายกเทศมนตรีเมืองสิงหนคร และคณะผู้ร่วมท่องเที่ยวกว่า 100 คน ร่วมกิจกรรมและรับประทานอาหารเช้า พร้อมรับชมการแสดงมโนราห์ ทั้งอุดหนุนสินค้าพื้นบ้านที่ประชาชนนำมาจำหน่าย ก่อนออกเดินทางท่องเที่ยวชุมชนไปยังพื้นที่อื่น ๆ ตามกำหนดการ
”ตามรอยเส้นทางสงขลา สู่มรดกโลก” จากเมือง
โบราณ พังยาง ระโนด วัดสีหยัง ถ้ำคูหา สทิงพระ ตามรอยหลวงปู่ทวด วัดพะโคะ ล่องแพคลองรี กินกุ้งสามน้ำ ชุมชนหัวเขาแดง ถึงเมืองเก่าบ่อยาง สงขลา
นายสมนึก พรหมเขียว กล่าวเปิดว่า กิจกรรมวันนี้เป็นการท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งที่ผ่านมา ทางจังหวัด ได้พยายามสร้าง การรับรู้และความเข้าใจ ถึงบริบทการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อเพิ่มศักยภาพ ภายในชุมชน ให้สามารถมีศักยภาพต้อนรับนักท่องเที่ยว ได้ โดยมีเป้าหมายส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนให้ครอบคลุมทั้ง 16 อำเภอ
โดยเฉพาะวันนี้ เป็นการท่องเที่ยวชุมชน ใน
คาบสมุทรสทิงพระ ที่อำเภอสิงหนคร สทิงพระ กระแส
สินธุ์ และระโนด ซึ่งมีสิ่งดีๆ พี่สามารถนำมาเป็น
จุดขายให้กับนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นโบราณสถาน หรือโบราณวัตถุ ประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ ซึ่งกระจายอยู่ในพื้นที่ทั้ง 4 อำเภอ
ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเข้ามาเที่ยว
เฉพาะในตัวเมือง โดยเฉพาะเมืองหาดใหญ่เมืองสะเดา เมืองสงขลา ในขณะที่ใพื้นที่ชนบทหรือ นอก
เมือง ยังมีสถานที่ท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น ธรรมชาติที่
สวยงาม หรือจะเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ ความเก่าแก่
ของเมืองสงขลา ซึ่งขณะนี้มติคณะรัฐมนตรี ได้รับรอง
และเตรียมดำเนินการส่งสงขลา เพื่อพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก รวมถึงผลผลิต ตามฤดูกาลในแต่ละพื้นที่ ซึ่งสามารถนำมาจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว
“ในโอกาสนี้ต้องขอขอบพระคุณ ทุกท่าน ที่วันนี้
มาร่วมสนับสนุนการท่องเที่ยวชุมชน เพิ่อกระจายรายได้ไปสู่ชุมชน” ผู้ว่าฯ สมนึก กล่าว
ดันสงขลาศูนย์กลางท่องเที่ยวชุมชน
นายอำนวย พิณสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า จังหวัดสงขลามีเป้าหมายการพัฒนา เป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวในภูมิภาค ซึ่งคงไม่เฉพาะแค่ภาคใต้ตอนล่างอย่างเดียว
“ตอนนี้เรื่องอาเซียนก็ดี เรื่องของเมืองสำคัญของประเทศไทย หรือของโลก อนาคตเรามีเป้าหมายการพัฒนาที่ชัดเจน มาผนวกเข้ากับเรื่องที่เราได้รับมติครม.เมื่อวันที่ 9 เมษายน ที่ผ่านมา ที่เห็นชอบให้นำ
จังหวัดสงขลาขึ้นสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นของยูเนสโก (องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ)”
ซึ่งหมายถึงการที่เราจะเดินไปสู่จุดนั้นให้ได้ แต่ในระหว่างทาง เราต้องมาดำเนินการอย่างไรที่จะให้ชุมชนของเรา เพราะเรามีทั้งธรรมชาติ ประวัติศาสตร์
ศิลปวัฒนธรรม และวิถีชุมชน ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ท่านสมนึก พรหมเขียว เน้นย้ำเสมอว่า ไม่ใช่เฉพาะแค่อ.สะเดา หาดใหญ่ สงขลา แต่เราหมายถึงทั้ง 16 อำเภอ เพราะเรามีจุดแข็ง ถ้าเป็นภาษาบ้านเรา
เขาเรียกว่า “เขา ป่า นา เล” ที่ครบถ้วนสมบูรณ์ และมี
ไม่กี่ที่ในประเทศไทย มีเฉพาะจังหวัดสงขลาด้วยซ้ำ
ที่มีแหล่งธรรมชาติ ที่เป็น “ซอฟต์พาวเวอร์” ที่หลากหลายครบถ้วน
เพราะฉะนั้น เป้าหมายการพัฒนา ที่เรามาเน้นเรื่องของชุมชน หมายถึงการที่เราต้องการจะยก
ระดับชุมชนให้เข้มแข็งขึ้น ทั้งรองรับที่เป็นเมืองมรดกโลก และที่สำคัญเรื่องการที่จะเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวในภูมิภาค โดยการใช้การท่องเที่ยวชุมชน
“เส้นทางการท่องเที่ยวที่เราไปมาเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา เป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาจังหวัดสงขลา” นายอำนวย กล่าว และว่า
จากวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา ที่มีการเดินทาง
ครั้งแรกของการท่องเที่ยวชุมชน จะเห็นได้ 2 ด้านๆ แรกคือ นักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นตัวแทนภาคีเครือข่าย และภาคส่วนต่าง ๆ ที่ลงไป เขาบอกว่า เขาอยู่สงขลาเขาก็ไม่ได้เคยลงไปในลักษณะการท่องเที่ยวแบบนี้ ไม่คิดว่าจะมีธรรมชาติที่สวยงาม มีศิลปวัฒนธรรม มีประวัติศาสตร์ที่เป็นรากเหง้าของเราที่ดี
“ได้รับการชื่นชมมาก ถ้ามีโอกาสจัดการเดินทางครั้งต่อไป ซึ่งจะมีอีก 2-3 ครั้ง ก็จะเป็นส่วนที่เขาอยากเข้าไปสัมผัสด้วย”
ส่วนภาคชุมชน ก็มีการตอบรับ และที่สำคัญเขารู้สึกภาคภูมิใจ ที่จังหวัดได้มีแนวทางที่ชัดเจนแล้วภาคีเครือข่ายที่ลงไปได้ให้สำคัญ
“ตรงนี้ถ้าชุมชนเข้มแข็งได้ เรื่องการท่องเที่ยวที่เราจะชูในเรื่องศิลปวัฒนธรรม ธรรมชาติ วิถีชุมชนที่เป็นจุดแข็งของเราในลักษณะ เขา ป่า นา เล ครบถ้วน
ต่อไปนักท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างประเทศที่เข้ามา เขาก็สามารถที่จะใช้เส้นทางเหล่านี้
นำร่องในการท่องเที่ยวได้ต่อไป”
ขณะเดียวกัน การปรับและเพิ่มจุดแข็งในอนาคต ซึ่งจะต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา และเราก็ทำงานอยู่แล้วทุกวันนี้ เช่น การทำอย่างไรที่จะให้มีความเป็นมืออาชีพ ให้มีมาตรฐาน การอำนวยความสะดวก ความปลอดภัย เหล่านี้ก็จะเป็นเรื่องพื้นฐาน และที่สำคัญคือทำอย่างไรที่เราจะเป็นเจ้าบ้านที่ดีพร้อมกันทุกภาคส่วน ทุกภาคีเครือข่าย อันนี้สำคัญ เพราะว่าเรากำลังยกระดับ ทั้งเรื่องการพัฒนาคน
พัฒนาพื้นที่ พัฒนาความเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้นนี่คือสิ่งที่เราต้องปรับปรุง เพื่อยกระดับขึ้นตลอดเวลา
“คงไม่หยุดนิ่ง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ถือว่าทุกฝ่ายจะต้องมาร่วมมือกัน” นายอำนวย กล่าว
ประธานหอฯมองเห็นศักยภาพ
นายทรงพล จังศิริวัฒนธำรง ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา กล่าวถึงการเข้าร่วมทริปท่องเที่ยวชุมชนกับผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาว่า ทำให้เข้าใจถึงศักยภาพของจังหวัดสงขลาในเรื่องการท่องเที่ยวชุมชน
อันดับแรกคือ เส้นทางท่องเที่ยวชุมชนที่ออกแบบในวันที่ 10 เมษายน 2567 เป็นเส้นทาง
สู่มรดกโลก ซึ่งเป็นคาบสมุทรสทิงพระ ที่จังหวัดสงขลา
กำลังผลักดัน หลังจากที่คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9
เมษายน เห็นชอบเอกสารนำเสนอแหล่งมรดกโลก
ทางวัฒนธรรม “สงขลาและชุมชนที่เกี่ยวข้องริม
ทะเลสาบสงขลา” เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น
(Tentative List) เพื่อให้การรับรองในการประชุมสมัย
สามัญ ครั้งที่ 46 ระหว่างวันที่ 21- 31 กรกฎาคม
2567 ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย เพื่อให้สามารถ
จัดส่งเอกสารการนำเสนอเพื่อขอรับการพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก ได้ในปี 2568)
“เส้นทางสู่มรดกโลกของเราจริง ๆ มีเรื่องราว
ทางประวัติศาสตร์ มีมรดกทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่า และไม่มีเมืองไหนที่มีประวัติศาสตร์ที่ลึกซึ้ง
มากขนาดนี้ จังหวัดสงขลาเป็นเมือง ๆ หนึ่งที่มีประวัติศาสตร์ มีมรดกทางวัฒนธรรมเป็นพันปีมาแล้ว” นายทรงพล กล่าว และว่า
พอไปร่วมก็ได้เข้าใจมากขึ้น ถึงการพัฒนาของเมือง การเกิดสังคมพหุวัฒนธรรมตั้งแต่อดีตมา
นอกจากเรื่องราวประวัติศาสตร์ก็ยังได้ค้นพบว่า จริง ๆ แล้ว การท่องเที่ยวชุมชนเส้นทางเมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่ผ่านมา อย่างเช่น เส้นทางล่องแพ
ที่คลองรี กินกุ้งก้ามกรามสามน้ำ การล่องเรือไปเกาะคำเหียง มีจุดถ่ายรูป เช็คอินที่สวยงาม ถ้าพัฒนาให้เป็นรูปแบบการท่องเที่ยวสามารถทำได้ เพียงแต่อาจจะต้องเพิ่มเสริมในส่วนของศักยภาพของผลิตภัณฑ์ชุมชน ให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนมาเที่ยวยุคปัจจุบัน
ฉะนั้น เส้นทางซึ่งมีความพร้อมเรื่องสถานที่ท่องเที่ยว ในโปรแกรมเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสายศรัทธาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวของหลวงปู่ทวด ตั้งแต่สถานที่ศึกษาธรรม ที่วัดสีหยัง จนตอนบวชเป็นพระ
และภายหลังที่ท่านมาอยู่ที่วัดพะโคะ ซึ่งหากต้องการ
โปรโมทเรื่องนี้ขึ้นมาให้เป็นกระแส ก็ต้องทำการตลาด
ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวสายศรัทธา ได้รับรู้เรื่องราว มาตามรอยหลวงปู่ทวด ผนวกกับการต้องออกแบบการท่องเที่ยวให้ตอบโจทย์คนกลุ่มนี้ ที่อาจจะมาเพราะความเชื่อ อยากได้เครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ต้องมีการ
นำเสนอ Story Telling ที่ดี
ข้อเสนอเพิ่มเติมในเรื่องการเดินทาง ต้องออกแบบโปรแกรมไม่ให้แน่นเกินไป เพราะสถานที่ๆ
ไป หากเป็นการเที่ยว outdoor ต่อเนื่องนานๆ ในฤดูร้อน คนที่มาเที่ยวจะรู้สึกเหนื่อย โดยช่วงที่จัดเป็นช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา อากาศร้อนมาก และ
โปรแกรมท่องเที่ยวต่อเนื่องทั้งวัน พอต้องอยู่ในโปรแกรมข้างนอกทั้งวัน ก็อาจจะล้าเกินไป
“สามารถตัดทอนโปรแกรมให้สั้นลง หรือสลับพาไปพื้นที่เที่ยว หรือให้ซื้อของฝาก indoor อากาศเย็นสบายได้ ก็จะช่วยได้”
นายทรงพล กล่าวต่อว่า การท่องเที่ยวชุมชนมีโอกาสที่จะพัฒนาได้ ขณะเดียวกัน หากจะต่อยอด ตัวชุมชนเองก็จำเป็นที่จะต้องยกระดับสินค้าชุมชน พัฒนา ในการนำเสนอ อาจจะต้องปรับรูปลักษณ์ ให้ดูทันสมัย ใช้การสื่อสารการตลาดมากขึ้น เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ดูน่าสนใจ จับต้องได้ เข้าถึงคนวัยต่างๆ ได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ของใช้ ของฝาก
ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถต่อยอดได้ แต่อาจจะต้อง
มีคนเข้ามาช่วยชุมชน เพราะหากให้ทางชุมชนคิดเองทั้งหมดอาจจะมีข้อจำกัด
หากเราต้องการให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น อาจจะต้องหาผลิตภัณฑ์ที่ให้นักท่องเที่ยวอยากจะซื้อติดมือกลับไป เหมือนกับเวลาเราไปต่างประเทศ เช่น แค่ไปไหว้พระในสถานที่ท่องเที่ยว เขาก็มีจุดขายของต่าง ๆ ที่ทำให้คนอยากซื้อ หรือนำผลิตภัณฑ์ชุมชนอื่น ๆ ของชุมชนนั้น ๆ มีบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม ให้คนอยากซื้อติดมือกลับไป
“ทัวร์ดังกล่าวที่จัดขึ้น เป็นโปรแกรมที่ดีมาก ที่ทำให้เห็นถึงสถานที่ท่องเที่ยวชุมชนในจังหวัดสงขลา ของกินอร่อยๆ จากทะเลสาบสงขลา คนที่ไปร่วมทริป
ได้รับประสบการณ์ที่ดี ได้รับความรู้มากมาย”
ทางจังหวัดได้เชิญให้ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่เชี่ยวชาญเรื่องประวัติศาสตร์เมืองสงขลา ตั้งแต่ยุค Singora มา
บรรยายอย่างลึกซึ้ง ให้คนที่ไปร่วมทริปได้รับความรู้
ทางประวัติศาสตร์ และเกิดภาคภูมิใจที่เมืองสงขลาของเราได้เสนอ Unesco ประกาศเป็นเมืองมรดกโลก
“การท่องเที่ยวชุมชนที่จัดขึ้น หลังจากนี้ ทำยังไง
ให้คนที่มาร่วมโปรแกรม ได้รับรู้ประวัติศาสตร์ ข้อมูลทางมรดกวัฒนธรรม อย่างที่คณะได้รับฟัง ก็จะเป็น
อะไรที่เสริมเสน่ห์การท่องเที่ยวให้คนมาแล้วอินไปได้
อีกมาก” ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา กล่าว
“พังยาง”สร้างพิพิธภัณฑ์โชว์เมืองโบราณ
นายพินิจ เพชรชู นายกอบต.พังยาง อ.ระโนด จ.สงขลา กล่าวว่า เมืองพังยางซึ่งควบคู่กับ
วัดพังยาง ก่อตั้งมากว่าพันปีก่อน มีปรากฏในแผนที่สมัยกรุงศรีอยุธยาว่า มีวัดพังยางซึ่งขึ้นกับหัวเมืองพัทลุง เป็นหลักฐานชี้ชัดว่าเป็นเมืองโบราณ มีรูปพระเจดีย์ประดิษฐานอยู่หน้าศาลาการเปรียญ ที่เขียนขึ้นในแผนที่ของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งปัจจุบันกรมศิลปากรได้บูรณะปฏิสังขรให้คงรูปทรงเดิม ส่วนร่องรอยอื่นๆ ไม่ปรากฏร่องรอยนอกจากองค์พระเจดีย์
“มีหนังสือที่เขียนขึ้นโดยกรมศาสนา ปรากฏว่า
ที่แห่งนี้ตั้งขึ้นมากว่าพันปีก่อน ในการเป็นเมืองที่ได้รับความสนใจ ที่ครม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจังหวัดนำเสนอสู่มรดกโลก เราเองก็ยิ่งรู้สึกภูมิใจในความเป็นเมืองโบราณของพังยาง และภูมิใจในความเป็นเมืองโบราณของคาบสมุทรสทิงพระทั้งหมด เรามีร่องรอยอารยะวัฒนธรรมอันเก่าแก่ดีงาม และรู้สึกลุ้นไปด้วยและขอบคุณทุกหน่วยงาน ซึ่งหากเราได้รับการขึ้นเป็นเมืองมรดกโลกจริง ก็น่าจะมีสิ่งดีๆ เข้ามา เช่น การส่งเสริมการท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามาเยี่ยมชม มาท่องเที่ยวตามเส้นทางอารยธรรมของเรา ประชาชนก็ได้รับประโยชน์”
การส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน โครงการผู้ว่าฯพาเที่ยว เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาได้นำแขกของท่านเข้ามาประมาณ 80 คน ตนได้บรรยายเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และนำเสนอผลิตภัณฑ์ชุมชนให้กับคณะของท่าน
“ผมได้ติดตามข้อมูลเรื่องประวัติศาสตร์จาก “ครูสืบ” อาจารย์สืบสกุล ศรีสุข นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของสงขลา ได้แลกเปลี่ยนศึกษาข้อมูลประวัติศาสตร์กันอยู่เสมอ” นายพินิจ กล่าว และว่า
ความเป็นพังยาง มาจากคำว่า พัง คือสระน้ำ บวกกับคำว่า ยาง คือต้นยาง รวมว่า สระที่มีต้นยาง
โดยที่หน้าวัดพังยาง จะมีต้นยางโบราณคู่บ้านคู่เมือง
อายุไม่ต่ำกว่า 300 ปีสี่ต้น เป็นจุดเช็คอินให้กับนัก
ท่องเที่ยวได้เข้ามาเยี่ยมชม
ส่วนวัด เรากำลังดำเนินการสร้างพิพิธภัณฑ์ชุมชน รวบรวมประวัติศาสตร์ เครื่องมือของใช้ตั้งแต่
สมัยโบราณมาเพื่อจัดทำเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของตำบลให้นักท่องเที่ยวที่สนใจได้รับรู้ คาดว่าภายในปีหน้า หากเข้ามาก็จะได้รับทราบเรื่องราวของเมืองโบราณพังยาง ผ่านพิพิธภัณฑ์ชุมชน
“ขอเชิญชวนทุกท่านให้เข้ามาเยี่ยมชมเมืองโบราณพังยาง ได้เข้ามาเลือกซื้อสินค้าชุมชนที่เรามีสินค้าชุมชน เช่น กล้วยน้ำว้า เมล่อนสีทอง และอื่นๆ จำหน่าย รวมทั้งสัมผัสหนึ่งในแหล่งอารยธรรมลุ่มน้ำสทิงพระของบ้านเรา” นายพินิจ กล่าว
“มรดกโลก” เปลี่บนวัดพะโคะ-คาบสมุทร
พระครูปุญญาพิศาล กตปุญโญ เจ้าคณะอำเภอสทิงพระ/เจ้าอาวาสวัดพะโคะ ต.ชุมพล อ.สทิงพระ จ.สงขลา กล่าวว่า ความจริงแล้วในคาบสมุทรสทิงพระเรามีจุดเด่น มีวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์จำนวนมาก ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ วัดพะโคะเป็นหลักใหญ่ มีบุคคลสำคัญคือ หลวงปู่ทวดที่ช่วยรักษาเอกราชมาตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา ไม่ให้เป็นเมืองขึ้นหรือต้องเสียส่วยให้กับเมืองลังกาสมัยนั้น และท่านก็เป็นคนสงขลา
การที่จังหวัดสงขลา และครม.เสนอเมืองโบราณพะโคะและวัดพะโคะ รวมทั้งพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระต่อยูเนสโก้เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรกดกโลกถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ปัจจุบัน มีคนรู้จักวัดพะโคะพอสมควร แต่คนต่างประเทศยังรู้จักเราน้อย ในความ
เป็นพุทธศาสนา ทั้งคนจีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ หรือ
คนประเทศอื่นที่นับถือพระพุทธศาสนาก็ยังรู้จักวัดพะโคะน้อยอยู่ ที่มีอยู่บ้างก็จะเป็นชาวต่างชาติที่มามีครอบครัว หรือแต่งงานกับคนไทย ก็มากราบไหว้บ้าง
จำนวนมากพอสมควร ซึ่งทุกวันนี้ก็จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมสัการะเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆ
“ยิ่งในช่วงปีใหม่จะเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งปีที่แล้วพระอาจารย์ทำก๋วยเตี๋ยวเลี้ยงนักท่องเที่ยว 5 วันๆ ละ 40
กิโลฯ เท่ากับ 200 กิโลฯ มาปีนี้เลี้ยง 3 วัน คือวันที่ 13-15 มกราคม รวมประมาณ 140 กิโลฯ ซึ่งทางวัด
พะโคะจะจัดเลี้ยงแบบนี้ทุกปีในช่วงปีใหม่” ” พระครูปุญญาพิศาล กตปุญโญ กล่าว และว่า
การขึ้นทะเบียนมรดกโลก ก็เพื่ออารยประเทศจะได้เห็นความสำคัญในทางพุธทศาสนาด้วย หากเรา
สามารถทำได้ถือว่าคนในคาบสมุทรสทิงพระก็รู้สึกดีใจ เช่นเดียวกับศิลปวัฒนธรรมอื่นๆ เช่น มโนราห์ ซึ่งหากวัดพะโคะขึ้นเป็นมรดกโลก คนทั้งจังหวัดสงขลาคงยินดีอย่างยิ่ง เป็นการยกย่องหลวงปู่ทวดนอกจากเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจแล้วก็เป็นการยกย่องท่านในระดับนานชาติด้วย ในฐานะที่เราคนสงขลา ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในจังหวัดเรา แต่ปัจจุบันเราก็เห็นว่ามีการสร้างหลวงปู่ทวดมากขึ้นในหลายๆ พื้นที่
หากได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกก็จะเป็นมงคลกับคนสงขลา ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นในพื้นที่ เช่น การจัดสร้างปรับปรุงเรื่องคมนาคม ถนนหนทางที่ดีขึ้น มีความสะดวกมากขึ้น การเข้ามาของนักท่องเที่ยวมากขึ้นเป็นประโยชน์กับชุมชนด้านการท่องเที่ยวและการศาสนา ถือว่าทุกคนทำถวายแก่หลวงปู่ทวด ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญของโลกก็ว่าได้
ชุมชนมีศักยภาพ กระตุ้นการพัฒนา
ดร.อภิวรรณ์ ดำแสงสวัสดิ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนศูนย์นก สวนสมุนไพรไร่ฐิภูตา ต.วัดสน อ.ระโนด
จ.สงขลา ซึ่งเข้าร่วมทัวร์ในวันที่ 10 เมษายนด้วย กล่าวว่า เป็นอะไรที่ประทับใจมากที่ท่านผู้ว่าฯลงไปทำกิจกรรมเพื่อให้จังหวัดสงขลาเป็นแหล่งท่องเที่ยว และให้สงขลาเป็นมรดกโลก
“วันนั้นได้ลงไปทุกจุด ก็แปลกใจว่าท่านคิดได้ยังไงที่นำผู้บริโภคเข้าไปหาชุมชน หาเกษตรกร ผู้ผลิต ผู้ปลูก เกษตรกรก็ได้ขายสินค้าให้กับผู้เข้าไปเที่ยวชม ผู้เที่ยวชมก็ได้ซื้อสินค้าของเกษตรกรและผู้ผลิต โดยไม่ผ่านคนกลาง นี่เป็นความคิดที่สุดยอดมาก”
ส่วนสถานที่ เช่น วัดต่างๆ ที่พาไปเยี่ยมชมล้วนแล้วแต่จะสามารถเป็นมรดกโลกได้ หลายวัดอายุหลายร้อยปี หรือบางวัดอายุพันกว่าปี ก็เป็นอะไรที่เราประทับใจและมีความสุขกับทริปนี้มากๆ และจะติดตามทริป ลักษณะนี้ต่อไปเรื่อยๆ
ซึ่งแต่ละจุด แต่ละหมู่บ้านมีศักยภาพในการ
เตรียมตัวเอง ในเรื่องสถานที่ๆ ได้ไปเยี่ยมชมล้วนแต่น่าดูน่าสนใจ ในการจัดทำผลผลิตผลิตภัณฑ์ของชุมชน ก็ล้วนแต่มีรสชาตที่อร่อยและสวยงามน่ารับประทาน
“เกษตรกร และคนในชุมชนมีศักยภาพในการทำให้ตัวเอง ทำให้ชุมชนสร้างรายได้ให้กับจังหวัด” ดร. อภิวรรณ์ กล่าว และว่า
อยากให้แต่ละชุมชนที่รวมกลุ่มกันวิสาหกิจชุมชนแล้ว และมีผลิตภัณฑ์ออกมาแล้วสามารถแจ้ง
ให้กับพัฒนาชุมชน(พช.)ได้รับทราบ ให้ไปลงทะเบียนเป็นโอทอปกัน เพื่อจังหวัดได้ทราบข้อมูลว่าเรามีผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของชุมชน เพื่อหน่วยงานจะได้เข้ามาหนุนเสริมกลุ่มได้ เช่น การพัฒนาให้ผลิตภัณฑ์มีระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น การพัฒนาแพ็กเกจจิ้งให้มีความสวยงาม น่าซื้อน่าสนใจมากขึ้น
ทริป 2 ลัดเลาะ 4 อำเภอชายแดนรับ 80 คน
ด้าน นายวิชาญ ช่วยชูใจ ผู้จัดทริป “ผู้ว่าฯ สงขลา พาทัวร์” กล่าวว่า โครงการเที่ยวสงขลา นำร่อง 4 เส้นทางท่องเที่ยวชุมชน ส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็งสามัคคีภายในชุมชน เกิดการอนุรักษ์ รักษาทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ตามนโยบายนายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ซึ่ง
เชื่อมั่นว่า ทัวร์ที่ผ่านมา การท่องเที่ยวชุมชนจะมี
ประโยชน์ตกถึงมือชาวบ้านและชุมชนโดยตรง อีกทั้ง ยังจะส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็งสามัคคี ภายในชุมชน จะส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์ รักษา ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัฒนธรรมประเพณีของชุมชนนั้น ๆ
ยั่งยืนสืบไป
เส้นทางท่องเที่ยวชุมชนหลัก ๆ ให้จังหวัดสงขลา ได้มีการวางไว้ 4 เส้นทาง เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวได้จริงในอนาคต เริ่มต้นเส้นทางที่ 1 เส้นทางตามรอยสงขลา เส้นทางสงขลาสู่มรดกโลก ต่อด้วย
เส้นทางที่ 2 เลียบ ลัด เลาะ 4 อำเภอชายแดน จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี เส้นทางนี้ผู้ว่าฯ จะพาเที่ยวในวันที่ 9 พฤษภาคมนี้
เส้นทางที่ 3 หาดใหญ่ นาหม่อม คลองหอยโข่ง สะเดา ผู้ว่าฯ จะพาเที่ยวต้นเดือนมิถุนายนนี้
และเส้นทางสุดท้าย เส้นทางที่ 4 หาดใหญ่ บางกล่ำ
ควนเนียง รัตภูมิ ผู้ว่าฯ จะพาเที่ยว ต้นเดือน กรกฎาคม
ขณะเดียวกัน ผู้ว่าฯ สมนึก ก็จะเดินสายไปประชาสัมพันธ์ เชิญชวนนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย ในรัฐกลันตัน เปอร์ลิส และปีนัง มาท่องเที่ยวชุมชนในจังหวัดสงขลาด้วยตัวเอง
“ผลสัมฤทธิ์จากครั้งแรก เสียงสะท้อนดีมาก ทุกคนพึงพอใจในการจัดกิจกรรมนี้ มีข้อเสนอให้ปรับปรุงบ้างในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อยๆ ซึ่งคณะทำงานจะนำไปปรับปรุงและพัฒนาทันที” นายวิชาญ กล่าว และว่า
เป้าหมาย การจัดครั้งที่ 2 ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2567 เส้นทางจะนะ เทพา สะบ้าย้อย นาทวี เปิดรับ
นักท่องเที่ยวทั่วไป จำนวน 80 คน วันแรกที่รับสมัครมาแล้ว ประมาณ 50 คน
“ต้องขอบคุณคนสงขลา ที่ตั้งใจไปช่วยไปช่วยสนับสนุนส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนของคนสงขลา ช่วยกันเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กันต่อไป” นายวิชาญ กล่าว


















หนังสือพิมพ์ภูมิภาค รายสัปดาห์ ของคนไต้ ปีที่ 26 ฉบับที่ 1,331 วันที่ 22 – 28 เมษายน 2567