หาดใหญ่สู่เมืองในอุดมคติ?

ผ่านวิกฤติมาพักใหญ่ เมืองหาดใหญ่เริ่มฟื้นตัวด้วยนักท่องเที่ยวทั้งในและประเทศใกล้เคียงเริ่มเข้ามาเยือน หากแต่ยังห่างใกลจากยุครุ่งเรืองในอดีต หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนพยายามมองหาแนวทางใหม่ๆ ฟื้นเศรษฐกิจของเมืองที่ยังต้องยึดโยงกับการท่องเที่ยวเป็นหลัก

หาดใหญ่ Green City

รศ.ดร. วิชัย กาญจนสุวรรณ รองนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ ออกมาเปิดเผยแนวทางการพัฒนาเมืองหาดใหญ่ ด้วยแนวคิด Green City ขับเคลื่อนยุทธ์ศาสตร์เมืองสีเขียว ผ่าน WeCittizens เสียงหาดใหญ่: เมืองแห่งการเรียนรู้ ว่าเมื่อสิงหาคม 2565 เทศบาลนครหาดใหญ่ได้ประชุมสภาเทศมนตรีเมืองสีเขียว IMT-GT ร่วมกับมาเลเซีย และอินโดนีเซีย เพื่อหารือร่วมกันในการกำหนดทิศทางและโครงการ

โดยที่ประชุมได้แต่งตั้ง พล.ต.ท.สาคร ทองมุณี นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ เป็นประธานสภานายกเทศมนตรีเมืองสีเขียวของทั้งสามประเทศ การให้ความสนใจในระดับภาคีประเทศต่อแนวคิด “เมืองสีเขียว” ถือเป็นการให้ความสำคัญต่อมิติการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมของเมืองอย่างน่าสนใจ ซึ่งเพิ่มเติมจากแนวคิดเดิมที่มีอยู่แล้วคือ สมาร์ทซิตี้ และเลิร์นนิ่งซิตี้ รองรับการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับวิถีชุมชนและประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเมืองเศรษฐกิจแห่งนี้สอดคล้อง “เมืองเดินได้”

แน่นอนว่า “เมืองสีเขียว” ยังครอบคลุมการท่องเที่ยวชุมชน ประวัติศาสตร์ความเป็นชุมชน-เมือง เชื่อมโยงกับแนวคิด เมืองเดินได้ (Walkable City) สตรีทอาร์ท,  คลองเตยลิงก์ หรือ Urban City ของกลุ่ม Songkhla Urban Lab ที่มี คุณสิทธิศักดิ์ ตันมงคล เป็นแกนนำ ซึ่งเคยออกมาให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า “การเปิดตัวของการพัฒนาเมือง เราคิดยุทธศาสตร์หลักขึ้นมาว่า ต้องทำให้เมืองหาดใหญ่เป็น “เมืองแห่งการเดินได้” (Walkable City) คือนักท่องเที่ยวสามารถลงรถไฟแล้วลากกระเป๋าเดินไปได้รอบเมือง ได้ปฏิสัมพันธ์พูดคุยกับผู้คนที่อยู่ในเมือง เกิดบรรยากาศความเป็นมิตร จับจ่ายใช้สอยได้ง่ายและทั่วถึง เมืองก็มีชีวิตชีวาโดยมีคลองเตยลิงก์ เป็นตัวเปิดในการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ (Public Space)”

สาธารณูปโภคพื้นฐานยังจำเป็น

อย่างไรก็ตาม จากความเห็นของ คุณสมพล ชีววัฒนาพงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา ซึ่งกล่าวว่า ที่ผ่านมาภาครัฐอาจมองเรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยวไม่ตรงจุดนัก เช่น การใช้จ่ายเม็ดเงินไปกับการสร้างโครงการใหญ่ๆ หรือการจัดงานอีเวนท์ประชาสัมพันธ์ต่างๆ ซึ่งตนเห็นว่ายังไม่สอดคล้องกับโจทย์ปัญหาของเมืองนัก ทั้งในโจทย์ความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน และในส่วนของการส่งเสริมการท่องเที่ยว เพราะสิ่งหาดใหญ่ต้องการมากที่สุดคือ พื้นฐานที่ดีของสาธารณูปโภค เรื่องของถนนหนทางที่สะดวกปลอดภัย การมีรถประจำทางสาธารณะ การจัดการขยะที่ยั่งยืน พัฒนาทางเท้าที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของเมือง

ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จังหวัดสงขลา ยังกล่าวว่า หากปัญหาอันเป็นโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ถูกแก้ได้แล้ว ก็ย่อมเป็นการเสริมการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวของเมืองหาดใหญ่ได้ดีที่สุด เพราะหาดใหญ่มีพื้นฐานที่ดีด้านอื่นๆ รองรับอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น Wellness เรื่องอาหารการกิน การมีทำเลที่ตั้งการคมนาคมที่สะดวก การเป็นที่พักที่สามารถส่งต่อนักท่องเที่ยวเอื้อให้กับจังหวัดใกล้เคียงโดยหาดใหญ่จะเป็นจุดพักหลัก

-เฟาซ์-

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *