“ผู้ว่าฯ อำพล” เปิดโครงการพัฒนาการผลิตและการสร้างมูลค่าทุเรียน ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน พัฒนาคุณภาพทุเรียนบ้านบาตูปูเต๊ะ อ.ธารโต ท้ั้งเดินหน้ายกระดับ “ยะลา” เป็นตลาดล้งของจังหวัดชายแดนภาคใต้
19 สิงหาคม 2567 นายอำพล พงศ์สุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เป็นประธานเปิดกิจกรรม Kick off โครงการยกระดับการผลิตและการสร้างมูลค่าทุเรียนจังหวัดยะลาและจังหวัดนราธิวาส โดยมี นายอับดุลอายี สาแม็ง สมาชิกผู้แทนราษฎรจังหวัดยะลา นายสุริยา บุญพันธ์ นายอำเภอธารโต



นางผุสสดี จ่ายเจริญ พาณิชย์จังหวัดยะลา นายระเด่น สะมะแอ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา ผศ.ดร.อิสมาแอ เจ๊ะหลง หัวหน้าโครงการวิจัยฯ หัวหน้าส่วนราชการ สื่อมวลชน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ที่จุดรวบรวมผลผลิตทุเรียนวิสาหกิจชุมชนพัฒนาคุณภาพทุเรียนบ้านบาตูปูเต๊ะ(ธารโต) หมู่ที่ 5 ต.ธารโต อ.ธารโต จ.ยะลา
นายอำพล พงศ์สุวรรณ กล่าวว่า วิสาหกิจชุมชน พัฒนาคุณภาพทุเรียนบ้านบาตูปูเตะ (ธารโต) เป็นกลุ่มทุรียนที่สามารถตอบโจทย์การพัฒนาตามที่กำหนด โดยมีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นและมีคุณภาพ ค่าเฉลี่ยต่อไร่ประมาณ 1,800 ตัน
ทั้งยังสามารถพัฒนาเครือข่ายผู้ผลิตที่ใช้ชุดความรู้เดียวกัน 400 ราย และสามารถจัดตั้ง “ล้งชุมชน”
หรือจุดรวบรวม คัดแยกคุณภาพเป็นของกลุ่มเอง รวมถึงการสร้างห้องเย็นของกลุ่มเพื่อรองรับผลผลิตตกเกรด เพื่อสามารถเชื่อมโยงตลาดในลักษณะ
Business to Business และสามารถส่งออกผลสดไปยังประเทศจีนโดยกลุ่มเอง ภายใต้การบริหาร จัดการในรูปแบบ partner จึงเป็นต้นแบบการพัฒนาจัดการทุเรียนให้มีคุณภาพ ยกระดับล้งชุมชน เครือข่ายรวบรวมทุเรียน สร้างมูลค่าเพิ่ม 100 ล้านบาท โดยมีสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดยะลา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยฟาฎอนี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ สำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา สำนักงานพาณิชย์จังหวัดยะลา ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรยะลา วิสาหกิจชุมชน ตลอดจนหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาและยกระดับห่วงโซ่มูลค่าทุเรียน และขยาย กระจาย พื้นที่การผลิตคุณภาพให้มากขึ้น
โดยใช้ผลงานวิจัย องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างมูลค่า ในการเพิ่มศักยภาพการผลิตทุเรียนยะลา และการเชื่อมโยงตลาด เพื่อสร้างรายได้ จากพื้นที่การค้าทุเรียนเพิ่มขึ้น เกิดความร่วมมือเกษตรกรที่เชื่อมโยงกับสวนทุเรียน วิสาหกิจชุมชนหน่วยงานรัฐ และภาคเอกชน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตต่อไป
“ทุเรียนยะลาวันนี้ โจทย์หลักๆ คือการพัฒนาให้มีคุณภาพดีและราคาดี โดยนำวิชาการเข้ามาช่วยในเรื่องการพัฒนาคุณภาพ แปรรูปและต่อยอด ผ่านงานวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพ รวมถึงการแก้ปัญหาหนอนทุเรียน โดยใช้นวัตกรรม เช่น ใช้ไฟไล่หนอนผีเสื้อ ที่เราได้พยายามแก้ปัญหามาตลอด” ผู้ว่าฯ อำพล กล่าว และว่า
ในปีนี้ จังหวัดยะลาเรากำลังจะพัฒนา “ล้ง” ให้มากขึ้น รวมถึงการเพิ่มตู้แช่แข็งเพื่อรองรับผลผลิตทุเรียนที่มากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ “แผงทุเรียน” เรามีการเตรียมความพร้อม การอบรมมือตัด – มือถอน เพื่อให้รู้จังหวะการเก็บทุเรียน และรู้มาตรฐาน GAP
สำหรับการตลาด เตรียมผลักดันให้เกิดล้งของจังหวัดยะลา รวมถึงเป็นศูนย์กลางล้งของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขึ้นที่จังหวัดยะลา เพื่อเป็นตลาดกลาง ศูนย์กลางล้งทุเรียนของจังหวัด ที่มีพร้อมทั้งจุดแพ็คกิ้งบรรจุสินค้าและจัดส่งทุเรียนรวมอยู่ที่นี่
“ผมอยากทำล้งทุเรียนจังหวัดให้เกิดที่ยะลา และกลายเป็นตลาดล้งของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีทั้งจุดแพคกิ้ง จากในพื้นที่ส่งไปถึงมือลูกค้า”
นายอำพล กล่าวต่อว่า การแก้ปัญหาทุเรียนในพื้นที่ขณะนี้ ต้องดูเรื่องคุณภาพ และราคาเป็นหลัก โดยตนได้ลงพื้นที่ไปคุยกับล้งในเรื่องราคาทุเรียน ซึ่งได้เน้นย้ำให้ล้งเหล่านี้รักษาคุณภาพทุเรียน รวมถึงราคา เพื่อป้องกันการตัดราคาทุเรียนที่ไม่ยุติธรรมต่อเกษตรกรในพื้นที่
“เราไปคุยกับล้งว่าไม่ต้องไปตัดราคาทุเรียน ซึ่งเกษตรกรก็เริ่มเรียนรู้แล้วว่า ล้งไหนตัดราคา เกษตรกรก็ไม่ขาย ไปขายล้งอื่นที่ให้ราคาที่ดีกว่า”
นายอำพล กล่าวย้ำว่า ปีนี้กับปีที่แล้ว เกษตรกรที่ปลูกทึเรียนในยะลา มีการปรับตัวอย่างเห็นได้ชัด เกษตรกรหันมาขายทุเรียนเอง โดยไม่พึ่งพิงนายหน้า เพราะปีที่แล้วเกษตรกรเจอนายหน้าขายตัดราคา เหมาสวน เมื่อถึงเวลาทิ้งสวน ปีนี้เกษตรกรในจังหวัดจึงนิยมขายเองโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง





