‘ทช.’ศึกษาผลกระทบสวล.สะพานเชื่อมควนเนียง-ปากพะยูน

tc

บริษัทที่ปรึกษาขี้แจงโครงการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสำรวจออกแบบสะพานข้ามคลองหลวง และถนนต่อเชื่อม อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง -อ.ควนเนียง จ.สงขลา ต่อผู้ว่าฯสงขลา คาดใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี เปิดบริการปี 2573

5 กุมภาพันธ์ 2568 ณ ห้องประชุม Conferenceชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดสงขลา นายโชตินรินทร์ เกิดสม ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานการประชุมชี้แจงโครงการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสำรวจออกแบบสะพานข้ามคลองหลวงและถนนต่อเชื่อมอำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา

มี นายไผท ทันประจำสินธุ์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงชนบทสงขลา พร้อมด้วยตัวแทนบริษัทกรุงเทพเอ็นยิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด ร่วมกับ บริษัท พรี ดีเวลลอปเมนท์ คอนซัลแตนท์ จำกัด และ บริษัท พี.วี.เอส.-๙๕ คอนซัลแต้นซ์ จำกัด ที่ปรึกษาโครงการ เริ่มปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 ระยะเวลาดำเนินการ 540 วัน สิ้นสุดสุดสัญญา วันที่ 22 มกราคม 2569 ชี้แจงที่มาของโครงการ

ทั้งนี้ ปัจจุบันการเดินทางระหว่างต.ควนโสต.ห้วยลึก อ.ควนเนียง จ.สงขลาไปยังต.เกาะนางคำอ.ปากพะยูน จ.พัทลุง ต้องใช้ระยะทางประมาณ 40กม. ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง หรือต้องใช้เรือข้ามฟากในการสัญจร ทำให้ไม่สะดวก และล่าช้าหากเกิดกรณีฉุกเฉินที่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลจะไม่สามารถเดินทางได้อย่างทันท่วงที

ปัญหาดังกล่าวสามารถบรรเทาได้โดยการก่อสร้างสะพานข้ามคลองหลวงและถนนต่อเชื่อมอ.ปากพะยูน จ.พัทลุง-อ.ควนเนียง, จ.สงขลา

หากโครงการแล้วเสร็จจะเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินทางและการขนส่ง ช่วยพัฒนาและต่อเติมโครงข่ายทางหลวงชนบทให้สมบูรณ์ด้วยการเป็นทางลัด (Shortcut) ทางเลี่ยง (By Pass) ระหว่างจังหวัด สร้างทางเชื่อม (Missing Link) ระหว่างทางหลวงชนบทสายพท.5051 จังหวัดพัทลุง ทางหลวงชนบทสาย สข.4052, สข.4014, สข.4020 จ.สงขลา และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 406 ให้มีความสมบูรณ์ยั่งยืน


สำนักสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวงชนบท จึงจ้างที่ปรึกษา ดำเนินงานสำรวจและออกแบบด้านงานทางและสะพาน ซึ่งต้องออกแบบด้านโครงสร้างทาง สะพาน ด้านเรขาคณิต ด้านอำนวยความปลอดภัย และด้านระบายน้ำ ออกแบบจุดเชื่อมต่อ ทางเชื่อม ทางแยกกับโครงข่ายคมนาคม

ตลอดจนคัดเลือกรูปแบบโครงการ ซึ่งต้องมีการศึกษาผลกระทบต่อชุมชน เพื่อให้ได้แนวทางที่เหมาะสมให้เป็นไปตามหลักการมาตรฐานสากลและความปลอดภัยต่อผู้ใช้ทาง รวมไปถึงงานสำรวจวิเคราะห์และคาดการณ์ เพื่อแก้ปัญหาด้านการจราจร งานออกแบบรายละเอียดด้านอื่น ๆ พร้อมทั้งจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการสัญจร ลดระยะทางและเวลาในการเดินทางของประชาชน นักท่องเที่ยว และผู้ใช้ถนน
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง พัฒนาและต่อเติมโครงข่ายทางหลวงชนบทให้สมบูรณ์

เป็นการสร้างทางลัด ทางเลี่ยง ทางเชื่อมระหว่างจังหวัด ที่สนับสนุนและอำนวยความสะดวกด้านพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม การบริการและการท่องเที่ยว พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม และบริการโลจิสติกส์ในพื้นที่

โดยขั้นตอนการดำเนินงาน ประกอบด้วย 3 ส่วน 1. งานด้านวิศวกรรม ได้แก่ สำรวจพื้นที่โครงการเบื้องต้น, ศึกษาผลกระทบทางด้านวิศวกรรมจราจร, สำรวจและเก็บข้อมูลด้านจราจรพร้อมคาดการณ์ปริมาณจราจร, สำรวจพื้นที่เบื้องต้นเพื่อออกแบบด้านสถาปัตยกรรมและภูมิสถาปัตยกรรม

2.งานด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการระเบียบปฏิบัติ, ประสานงานและดำเนินการขออนุญาตเข้าพื้นที่ศึกษา, ตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิสภาพสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน 3.งานรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน ได้แก่ ประชาสัมพันธ์โครงการ, กำหนดหลักเกณฑ์ แนวทาง วิธีการ และแผนงาน, เตรียมความพร้อมก่อนดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน

ซึ่งวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน ครั้งที่ 1 ขึ้นที่อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง และปลายเดือนเมษายน จะจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน ครั้งที่ 2

ปลายเดือนกันยายน 2568 จะจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน ครั้งที่ 3 และปลายเดือนพฤศจิกายน 2568 จะจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนครั้งที่ 4 ซึ่งจะเป็นครั้งสุดท้าย

สำหรับแนวสายทางเลือกมี 3 ทาง ประกอบด้วย ทางเลือกที่ 1 จุดเริ่มต้น ที่หมู่ที่ 5 บ้านปากจ่า ต.ควนโส อ.ควนเนียง เชื่อมต่อทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 406 ถนนแอสฟัลท์คอนกรีต 2 ช่องจราจร ช่องจราจรกว้าง 3.5 เมตร ไหล่ทางกว้างข้างละ 1 เมตร

รูปแบบโครงการสะพานข้ามคลอง ยาว 300 เมตร ถนนเชื่อมต่อฝั่ง จ.สงขลา ยาว 170 เมตร ถนนเชื่อมต่อฝั่งจ.พัทลุง ยาว 227 เมตร สะพานขนาด 2 ช่องจราจร จุดสิ้นสุดโครงการ ที่หมู่ที่ 3 บ้านท่าเนียน ต.เกาะนางคำ เชื่อมต่อทางหลวงชนบทสาย พท.5051 ถนนแอสฟัลท์คอนกรีต 2 ช่องจราจร ช่องจราจรกว้าง 3.0 เมตร ไม่มีไหล่ทาง


ทางเลือกที่ 2 จุดเริ่มต้นที่หมู่ที่ 7 บ้านท่าปะบ่า ต.ห้วยลึก อ.ควนเนียง บรรจบกับทางหลวงชนบทสาย สข.4052 ถนนแอสฟัลท์คอนกรีต 2 ช่องจราจร ช่องจราจรกว้าง 3.0 เมตร ไหล่ทางกว้างข้างละ 1.0 เมตร รูปแบบโครงการ สะพานคลอง ยาว 350 เมตร ถนนเชื่อมต่อฝั่ง จ.สงขลา ยาว 45 เมตร ถนนเชื่อมต่อฝั่ง จ.พัทลุง ยาว 110 เมตร จุดสิ้นสุด ที่หมู่ที่ 3 บ้านท่าเนียน ต.เกาะนางคำ เชื่อมต่อทางหลวงชนบทสาย พท.5051 ถนนแอสฟัลท์คอนกรีต 2 ช่องจราจร ช่องจราจรกว้าง 3.0 เมตร ไม่มีไหล่ทาง

ทางเลือกที่ 3 จุดเริ่มต้น ที่หมู่ที่ 7 บ้านท่าปะบ่า ต.ห้วยลึก อ.ควนเนียง บรรจบกับทางหลวงชนบทสาย สข.4052 ถนนแอสฟัลท์คอนกรีต 2 ช่องจราจร ช่องจราจรกว้าง 3.0 เมตร ไหล่ทางกว้างข้างละ 1.0 เมตร รูปแบบโครงการ สะพานข้ามคลอง ยาว 310 เมตร ถนนเชื่อมต่อฝั่ง จ.สงขลา ยาว 65 เมตร ถนนเชื่อมต่อฝั่ง จ.พัทลุง ยาว 162 เมตร สะพานขนาด 2 ช่องจราจร จุดสิ้นสุด ที่หมู่ที่ 3 บ้านท่าเนียน ต.เกาะนางคำ เชื่อม ต่อทางหลวงสาย พท.5051 ถนนแอสฟัลท์คอนกรีต 2 ช่องจราจร กว้าง 3.0 เมตร ไม่มีไหล่ทาง

โดยแผนการดำเนินการ 1. สำรวจออกแบบและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมพ.ศ. 2567- 2569, 2. ขอความชอบ (สผ.) 1 ปี พ.ศ.2570, 3. ระยะเวลาก่อสร้างโครงการ 2 ปี พ.ศ.2571-2572 และ 3. ปีเปิดบริการ พ.ศ. 2573

อย่างไรก็ตาม โครงการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสำรวจออกแบบมีข้อจำกัดด้านสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย 1. เข้าข่ายพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่าตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2. เข้าข่ายพื้นที่ที่ตั้งอยู่ใกล้โบราณสถาน แหล่งโบราณคดี แหล่งประวัติศาสตร์ หรืออุทยานประวัติศาสตร์ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถานโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในระยะ 1 กิโลเมตร ยกเว้นถนนผังเมือง ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยผังเมือง

ซึ่งจะต้องขออนุญาตเข้าศึกษาวิจัยทางวิชาการเพื่อจัดทำรายงาน EIA หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
เนื่องจากแนวเส้นทางโครงการ และพื้นที่ศึกษาโครงการ อยู่ในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลสาบ คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 457 ไร่

กรมป่าไม้ เนื่องจากพื้นที่โครงการอยู่ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติทุ่งบางนกออก คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 132 ไร่ และกรมประมง เนื่องจากจะต้องเก็บตัวอย่างด้านนิเวศวิทยาทางน้ำในพื้นที่คลองหลวง 3 สถานี ได้แก่ สถานีที่ 1 บริเวณคลองหลวง ก่อนไหลผ่านโครงการ 500 เมตร, สถานที่ 2 บริเวณคลองหลวง (ที่ตั้งโครงการ), สถานที่ 3 บริเวณคลองหลวงหลังไหลผ่านโครงการ 500 เมตร

    ใส่ความเห็น

    อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *