พลโท สุรเทพ หนูแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติการที่ 5 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ศปป.5 กอ.รมน.) กล่าวกับ ”สงขลาโฟกัส“ ถึงสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังสถานการณ์เรียกร้องความเป็นธรรม ”คดีตากใบ“ ว่าในพื้นที่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่จากการเรียกร้องในครั้งนี้ ลักษณะการเคลื่อนไหวของขบวนการ คือ การสร้างความรุนแรง มีเหตุรายวัน เช่น เหตุการณ์ระเบิด ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่คนทั่วไปทำได้ง่ายๆ ในการทำระเบิด ต้องมีการประกอบ การซุกซ่อน การนำไปวาง วัตถุที่ใช้ล้วนมีราคา
ในขณะเดียวกัน เหตุขัดแย้ง ความรุนแรง จากการทะเลาะวิวาทอื่นๆ ก็มีอยู่ปกติ แต่การสร้างความรุนแรงของขบวนการก็มีเป้าหมายบางอย่าง ที่ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญไทย ซึ่งเขาทำมาตลอด จนเกือบครบ 20 ปีแล้ว
“การพยายามยั่วยุ การปลุกระดม หรือการบ่มเพาะ ก็ยังคงมีอยู่ อันนี้เป็นการเคลื่อนไหวปกติในพื้นที่ เหตุการณ์หลังจากนี้ไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงมาก“
แต่ ”เหตุการณ์ตากใบ“ เราต้องยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ ยกตัวอย่าง เกิดอุบัติเหตุรถชนบนถนนมีการเสียชีวิต ก็มีการกล่าวหาทันทีว่า กระทำโดยประมาท ทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต แล้วมีการชดใช้เยียวยาตามกระบวนการ มีการจ่ายเงินของฝ่ายประกันฯ หรือตามพ.ร.บ.ฯ มีการไกล่เกลี่ยความเสียหายจากความไม่เจตนาทำให้เกิดคนตาย
ดังนั้น จากเหตุการณ์ เราต้องชี้แจงออกไป เทียบกับกรณีอุบัติเหตุ ตามกระบวนการกฎหมาย เมื่อมีการไกล่เกลี่ยชดใช้กัน ซึ่งความจริงแล้วเงินย่อมจะทดแทนชีวิตคนไม่ได้ แต่เมื่อเกิดความสูญเสียไปแล้วจากเหตุการณ์ที่เกิดจากความประมาทโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่ได้มีเจตนา ก็ไกล่เกลี่ยและยินยอมลงนามกัน และเมื่อมีคนตายเจ้าหน้าก็ส่งฟ้องศาล ก็มีการแนบหลักฐานการเซ็นสัญญายินยอมกัน มีการชดใช้และอีกฝ่ายก็ยินยอมแล้ว ศาลเมื่อเห็นว่าทั้งสองฝ่ายมีการพูดคุยยินยอมตกลงกันได้แล้ว ก็ยกฟ้อง
พลโท สุรเทพ กล่าวต่อว่า เหตุการณ์ในพื้นที่ยังเกิดอยู่ แต่มีการนำเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นประเด็นทางการเมือง นักการเมือง ขบวนการใช้การเมือง มีการโจมตี ถกแถลงกันในสภาฯ เป็นการรุกกันทางการเมืองในประเทศ ซึ่งขณะนี้เริ่มมีใบปลิว มีการเรียกร้องให้นานาชาติเข้ามาให้ความสนใจ นี่ก็เป็นเรื่องปกติ ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐได้คาดการณ์ไว้ก่อนแล้ว
”ถ้าถามว่า เหตุการณ์ในพื้นที่ดีขึ้นหรือไม่ ในส่วนของเจ้าหน้าที่เองมีหน้าที่ป้องกันไม่ให้เหตุเกิด ซึ่งคิดว่าเหตุการณ์ไม่น่าจะมากไปกว่านี้ และมีแนวโน้มที่ดีขึ้น มีความเข้าใจกันมากขึ้น พูดคุยกันได้มากขึ้น และทุกฝ่ายร่วมมือกันพัฒนาให้ดีขึ้นตามลำดับ“
พลโท สุรเทพ ยังกล่าวถึงบทบาทสื่อมวลชนว่า สื่อต้องเข้าใจถึงภาวะแวดล้อมของพื้นที่ การนำเหตุการณ์นี้มาเป็นประเด็นข่าว ถามว่ามีผลดีหรือไม่ หรือเหมือนการเติมฟืนไปใส่กองำฟ ก็ไม่จบ อาจจะกลายเป็นแนวร่วมมุมกลับ หรือตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายตรงข้ามโดยไม่รู้ตัวเช่นเดียวกับภาคประชาสังคม ที่ต้องเข้าใจว่าทุกอย่างดำเนินไปตามกฎหมาย ซึ่งวันนี้ทางกฎหมายได้จบแล้ว คดีความหมดอายุถือว่าจบกันไปสำหรับทหาร เรามีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยตามกฎหมายที่มอบหมายมาให้ เราทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
”ผมพูดในความคิดเห็นของผม ผมเองไม่ใช่ผู้ตัดสินใจ แต่พูดในฐานะมีหน้าที่รับผิดชอบ และอยู่ในพื้นที่มานาน“ พลโท สุรเทพ กล่าว
ตากใบ ”บทเรียน“ ที่ทุกคนเสียใจ
ทั้งนี้ พลโท สุรเทพ หนูแก้ว กล่าวถึงเหตุการณ์คดีตากใบ จ.นราธิวาส ที่เกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีก่อนว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนให้กับทุกๆ ฝ่าย
“ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2547 เหตุการณ์ตากใบ มีชรบ.(ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน) แจ้งความว่าถูกปล้นปืน สอบสวนแล้วปรากฏว่าเป็นการแจ้งความเท็จ อาวุธปืนที่ถูกปล้นไปนั้นแท้จริงแล้วชรบ.ได้นำไปให้โจร ตำรวจจับกุมตัวข้อหาแจ้งความเท็จและสมรู้ร่วมคิดกับโจรโดยสร้างสถานการณ์ขึ้นมา นี่เป็นเหตุเริ่มต้นของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
หลังจากนั้น มีกลุ่มผู้ชุมนุมหน้าสถานีตำรวจภูธร อ.ตากใบ เพื่อประท้วงเรียกร้องให้ปล่อยตัวชรบ.ที่ถูกจับกุม ประชาชนมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนจะมืดค่ำ เจ้าหน้าที่ใช้การเจรจา ใช้ผู้นำศาสนา ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน หรือผู้นำที่ประชาชนเชื่อฟังมาชี้แจง มีการโห่ร้องของผู้ชุมนุมไม่สนใจการชี้แจงว่า เรื่องอะไร
มีการใช้วัสดุในพื้นที่เป็นก้อนอิฐ หรือไม้รั้วโรงพัก ขว้างปาทุบตีเจ้าหน้าที่ ส่วนหนึ่งก็นำอาวุธที่ซุกซ่อนติดตัวมากระทำต่อเจ้าหน้าที่
เมื่อมืดค่ำก็มีข้อสรุปตกลงว่า ให้มีการสลายการชุมนุมเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรง และสถานการณ์ยืดเยื้อมากกว่านั้น
เมื่อสลายแล้วได้มีการจับกุมผู้ชุมนุมขึ้นรถยนต์เคลื่อยย้ายไปยังเรือนจำขณะนั้นที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี การเดินทางไปมีประชาชนบางส่วนที่มีการจัดตั้งขึ้นมาโรยตะปูเรือใบกีดขวางการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมหรือผู้ที่ถูกควบคุมตัวไปจ.ปัตตานี ทำให้การเดินทาง 150 กิโลเมตร
“ที่ความจริงเวลา 3 ชั่วโมงก็น่าจะถึง”
แต่การเดินทางวันนั้น เนื่องจากเป็นช่วงเย็นมีการกีดขวางขัดขวางการเดินทาง ทำให้ใช้เวลาถึง 6 ชั่วโมง เป็นช่วงเดือนรอมฎอนของมุสลิมในพื้นที่ถือศีลอด หลายคนถือศีลอด มีความอ่อนเพลีย รวมทั้งตากแดดมาทั้งวัน จนถึงในช่วงเย็นยังไม่ได้ทานอาหาร มีแต่ทานน้ำ เจ้าหน้าที่ดูแลให้เครื่องดื่ม การเดินทางใช้เวลานาน และนำผู้ที่ถูกควบคุมตัวลงจากรถใช้เวลานานจนถึงหลังเที่ยงคืน ทำให้ใช้เวลาในการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุม หรือผู้ถูกควบคุมตัวนานมาก ทำให้บางส่วนเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ
“ไม่ได้มีการถูกทำร้ายร่างกาย บางส่วนเรียกว่า เกิดจากการกดทับ เนื่องจากในการเคลื่อนย้าย แม้ว่าใช้รถจำนวนหลายคัน แต่ผู้ถูกควบคุมตัวจำนวนมาก ทำให้มีผู้เสียชีวิต 78 คน จากการเคลื่อนย้ายในครั้งนี้ ซึ่งเป็นความรู้สึกเสียใจของทุกฝ่าย”
ทางการเองรู้สึกเสียใจจากเหตุการณ์ เนื่องจากทำให้มีผู้สูญเสีย บาดเจ็บและเสียชีวิต สิ่งแรกที่ทำคือ การตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พบว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีบางส่วนที่รู้เท่าไม่ถึงการ มีบางส่วนที่วางแผนกันมายั่วยุเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรง ซึ่งรัฐบาลในสมัยนั้นได้ออกมาขอโทษกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากทำให้มีผู้เสียชีวิต
ผู้ถูกควบคุมตัวจำนวนหนึ่งจากการตรวจสอบหลักฐานพบว่าเป็นผู้ที่วางแผนและจัดการชุมนุมประท้วงครั้งนี้ หรือเรียกว่า แกนนำจำนวน 59 คน และถูกฟ้องดำเนินคดีเพราะละเมิดกฎหมายห้ามมีการชุมนุม แต่มีการถอนฟ้องคดีนี้ และมีการเยียวยามอบเงินให้ เป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 641 ล้านบาท เยียวยาให้กับทั้งผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนกว่า 90 ราย
คณะกรรมการอิสระได้สรุปผลการสอบข้อเท็จจริงแล้ว ทางรัฐได้นำมาเพื่อปรับปรุงแก้ไข เช่นในการสลายการชุมนุมครั้งนั้น ยานพาหนะที่ใช้ในการเคลื่อนย้ายและควบคุมตัวใช้ยานพาหนะของทหาร ซึ่งเป็นรถบรรทุกมีขนาดใหญ่และใช้ในที่ทุรกันดาร ดังนั้น ในการเดินทางความสะดวกสบายมีน้อย
ดังนั้น จากเหตุการณ์ครั้งนั้น หลังจากนี้เมื่อมีการชุมนุมจะใช้กำลังตำรวจก่อนเป็นลำดับแรกก่อน หากไม่ได้ผลจึงจะใช้กำลังทหาร ซึ่งฝ่ายรัฐ ได้จัดให้มียุทโธปกรณ์ที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บหรือการกระทบกระทั่งให้น้อยที่สุด รวมทั้งยานพาหนะในการเคลื่อนย้าย
“จากเหตุการณ์ก็เป็นบทเรียน พบว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้น มีการชุลมุน การแก้ไขสถานการณ์ต้องทำจากเบาไปหาหนัก จากบทเรียนครั้งนั้นทำให้เรามาปรับปรุง แต่สมัยนั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่ เป็นเหตุการณ์ไม่คาดคิด ทำให้เกิดการเสียชีวิต เกิดความเศร้าโศกเสียใจของทุกคน ทางรัฐบาล และกองทัพ ทุกภาคส่วนร่วมกันแก้ไข จะไม่ให้เหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นอีก”
การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นการกระทำตามกฎหมาย เรียกว่ากฎหมายพิเศษ ในการสลายการชุมนุมต่างๆ ทำตามผู้บังคับบัญชาสั่ง ผู้บังคับบัญชาสั่งการผู้ปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติตามทำคำสั่ง ตามวินัยของเจ้าหน้าที่ที่มีข้อบังคับอยู่แล้ว
การสูญเสียที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากความจงใจของเจ้าหน้าที่ ไม่ได้เกิดจากเจตนาของเจ้าหน้าที่ แต่เกิดจากความผิดพลาดบกพร่อง ความไม่พร้อมของเครื่องมือยุธโทปกรณ์ที่มีอยู่ในขณะนั้น มีการปรับปรุงพัฒนาจัดหายุทโธปกรณ์เหล่านี้เพื่อให้พร้อม ถ้าเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นอีก
”ผมเชื่อมั่นว่า จะไม่มีการสูญเสียลักษณะเช่นนี้เหมือน 20 ปีที่แล้ว“
เรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นถือเป็นบทเรียนที่มีความสำคัญกับทุกคนที่เป็นคนไทย และมีความรักชาติ ดังนั้น การมีความเข้าใจเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ และการให้ความร่วมมือไปในทางที่ดี ทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม