อาทิตย์ที่ 2 มี.ค.2568 วันแรกแห่งการถือศีลอด เดือนรอมฎอน ฮิจเราะห์ศักราช 1446

ตามประกาศของสำนักจุฬาราชมนตรี ซึ่งกำหนดโดยการดูดวงจันทร์ตามบัญญัติการศาสนาอิสลาม จากการดูดวงจันทร์ตามจุดที่กำหนดเมื่อพลบค่ำของวันศุกร์ที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา ไม่ปรากฏว่ามีคนเห็น สำนักจุฬาฯจึงประกาศให้เริ่มเข้าสู่เดือนรอมฎอน ฮิจเราะห์ศักราช 1446 เพื่อการถือศีลอดของพี่น้องมุสลิม ตรงกับวันที่ 2 มี.ค.2568

สำหรับการถือศีลอดเดือนรอมฎอน เป็นหนึ่งในข้อปฏิบัติห้าประการ ตามหลักของอิสลามที่มุสลิมทุกคนจำเป็นต้องรักษา ได้แก่ 1 การปฏิญาณตน 2 การปฏิบัติละหมาด (ห้าเวลาในหนึ่งวัน) 3 การจ่ายซะกาต(จ่ายทาน) 4 การทำฮัจญ์และ 5 การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน
สำหรับการถือศีลอดรอมฎอนนั้นได้เริ่มบัญญัติในปีที่ 2 ของการฮิจเราะฮ์(การอพยพจากเมืองมักกะฮ์ไปยังเมืองยัษริบต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองมะดีนะฮ์)
ในการถือศีลอด มุสลิมจะงดอาหาร เครื่องดื่ม และละเว้นข้อห้ามต่าง ๆ ตามที่ศาสนาบัญญัติ โดยเริ่มเวลาการถือศีลอดตั้งแต่แสงแรกของรุ่งอรุณปรากฏที่ขอบฟ้าจนกระทั่งดวงอาทิตย์ตก รวมเวลากว่า 13 ชั่วโมง ส่งเสริมให้อ่านอัลกุรอาน การบริจาคทาน มอบอาหารแก่ผู้ยากไร้ การช่วยเหลือเกื้อกูลต่อเพื่อนมนุษย์ การมุ่งจิตใจและปฏิบัติกุศลกรรมต่างๆ ตลอดเดือนรอมฎอน
ผู้ที่จำเป็นต้องถือศีลอด ได้แก่ มุสลิมที่สติปัญญาสมบูรณ์ บรรลุศาสนภาวะ สุขภาพดี อนุโลมสำหรับ ผู้ป่วย ผู้เดินทางผู้ที่ชราภาพ หญิงมีรอบเดือน หญิงมีนิฟาส(อยู่ในช่วงภาวะคลอดบุตร) หญิงกำลังตั้งครรภ์ และแม่นม โดยต้องถือศีลอดชดใช้ภายหลัง
การผ่อนผัน สำหรับผู้ที่ไม่สามารถถือศีลอดได้ เช่น คนชราภาพที่อ่อนแอ ผู้ป่วยซึ่งถูกวินิจฉัยแล้วว่าอาการป่วยของเขาไม่มีความหวังจะหายเป็นปกติ หรือผู้ที่ต้องทำงานหนัก ซึ่งพิจารณาแล้วว่าเขาไม่สามารถยังชีพได้ เว้นแต่ด้วยการทำงานของเขา ตามกรณี สามารถชดเชยโดยการให้อาหาร เช่นข้าวสาร วันละ 1 มุด(ลิตร) แก่คนยากจนตามวันที่ขาด