อพท.ดันทะเลสาบ3จังหวัด“ฮับ”ท่องเที่ยวทางรางภาคใต้

patalong

“อพท.” ระดมความคิดเห็นขับเคลื่อนโครงการศึกษาความเหมาะสมและส่งเสริมการท่องเที่ยวทางราง (Rail Tourism) ด้วยรถไฟสู่การเป็น HUB การท่องเที่ยวทางราง ภาคใต้

28 กุมภาพันธ์ .2568 ที่ห้องประชุมลีลาวดี ชั้น 8รร. หาดใหญ่ พาราไดซ์ โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. จัดประชุมระดมความคิดเห็นการมีส่วนร่วมเพื่อขับเคลื่อนโครงการศึกษาความเหมาะสมและส่งเสริมการท่องเที่ยวทางราง (Rail Tourism) ด้วยรถไฟสู่การเป็น HUB การท่องเที่ยวทางรางภูมิภาคภาคใต้



โดย นายกฤษณ์ ภูมิสุวรรณ ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา กล่าวต้อนรับและวัตถุประสงค์ของกิจกรรมว่า โครงการนี้เริ่มดำเนินการในเดือนพฤศจิกายน 2567 จัดเปิดตัวโครงการกันที่ทำการสหภาพการรถไฟหาดใหญ่ เปิดเวทีสาธารณะมีผู้เข้าร่วมกว่า 100 ท่าน มาให้ความเห็น แนวทางการดำเนินโครงการ

“เราให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วม จะมีการจัดเวทีสาธารณะ 4 ครั้ง ซึ่งในครั้งแรกเปิดตัวโครงการเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้ว”

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาจัดที่จังหวัดพัทลุง โดยเชิญทางพัทลุงและนครศรีธรรมราชเข้ามา และในเดือนสิงหาคม 2568 จะจัดเวทีใหญ่อีก 1 ครั้ง

“โครงการนี้เราจะมุ่งเน้นใช้รถไฟเป็นเครื่องมือในการนำพานักท่องเที่ยวเข้ามาสู่แหล่งท่องเที่ยวในบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา คือหาดใหญ่-สงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช”

พื้นที่เป้าหมายหลักในการท่องเที่ยวคือจังหวัดพัทลุง แต่ความสำคัญคือ สถานีเริ่มต้นที่หาดใหญ่ก็อยากให้จะมีโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวกที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพรวมถึงการเชื่อมต่อกับต่างประเทศคือ มาเลเซีย และเชื่อมต่อสถานีกรุงเทพอภิวัฒน์อย่างเหมาะสม เพื่อสร้างแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวมาใช้บริการ

“เรามองว่าการรถไฟในการเดินทางท่องเที่ยวปล่อยคาร์บอนต่ำ รวมถึงกระจายรายได้ลงไปสู่ชุมชนท้องถิ่นรอบ ๆ สถานีได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

ศักยภาพและโอกาสของการท่องเที่ยวทางรางสำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลานั้น ตอนที่เราศึกษาเบื้องต้นก่อนที่จะทำโครงการนี้พบว่า เป็นพื้นที่ ๆ มีศักยภาพค่อนข้างสูง เนื่องจากว่ารถไฟผ่านแหล่งท่องเที่ยวหลัก ๆ ทั้งหมด อย่างเช่น สถานีปากคลอง ใกล้ ๆ ทะเลน้อยมีระยะทางห่างกันแค่ 10 กิโลเมตร


ฉะนั้น ถ้าหากมีการเชื่อมต่อการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว จะสร้างแรงจูงใจในการดึงนักท่องเที่ยวให้เข้ามา ทั้งทัศนียภาพ วิวทิวทัศน์สวยงาม และการเดินรถไฟก็มีศักยภาพเพียงแต่อาจจะต้องปรับปรุงอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น การให้บริการ อย่างเช่นตารางการเดินรถ เพื่ให้สอดคล้องกับการท่องเที่ยว

“เราก็จะรับฟังความคิดเห็นของการรถไฟด้วยว่ามีปัญหาอุปสรรคอย่างไรบ้าง รวมถึงทางชุมชุมผู้ประกอบการ ภาคเอกชนว่า โครงการนี้เมื่อดำเนินการแล้ว สามารถผลักดันได้แท้จริงเมื่อไหร่ อย่างไร” นายกฤษณ์ กล่าว และว่า

โครงการนี้เป็นโครงการแรกในการกำหนดเส้นการท่องเที่ยวทางรางในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยว ทั้งในและต่างประเทศ

ซึ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศมีศักยภาพค่อนข้างสูง เนื่องจากว่าการใช้เวลาในการท่องเที่ยวทางรางอาจจะต้องใช้เวลาพอสมควรในการที่จะท่องเที่ยวในแต่ละสถานที่ท่องเที่ยว เพราะฉะนั้น จะเป็นทางเลือกที่ดีให้กับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ

นั่นคือ 1. ค่าใช้จ่ายไม่สูงในการเดินทาง 2. สามารถเข้าไปยังแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนได้โดยสะดวก (นักท่องเที่ยวต่างประเทศเราก็มอง) ส่วนนักท่องเที่ยวในประเทศ จะดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา โดยในช่วงกลางเดือนมีนาคมนี้ จะมีการทดสอบกิจกรรมการท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ

“อพท. เรามุ่งเน้นไปที่นักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยตัวเอง”

ฉะนั้น รถไฟจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่คิดว่าจะส่งเสริมความน่าสนใจแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาได้เป็นอย่างดี

รถไฟและสถานีรถไฟในเส้นทางดังกล่าวมีความพร้อมที่จะรองรับนักท่องเที่ยวได้ หากว่ามีการปรับปรุงเพิ่มเติมขึ้น เช่น เพิ่มอัตลักษณ์ของสถานีให้มีความน่าสนใจ มีจุดขายของฝากของที่ระลึกห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ หรือล็อกเกอร์เก็บของต่าง ๆ รวมไปถึงการออกแบบเพื่อให้ตอบโจทย์คนทั้งมวล

นั่นคืออารยสถาปัตย์ หรือ Universal Design เข้ามาใช้ ไม่ว่าจะเป็นทางลาด รวมไปถึงในอนาคตการปรับชานชาลาสถานีกับรถไฟให้อยู่ในระดับเดียวกัน เป็นต้น

ขณะที่ตัวที่ตั้งของสถานีมีความเหมาะสมอยู่แล้ว ในเรื่องการท่องเที่ยว แต่สิ่งอำนวยความสะดวกจะต้องปรับปรุงเล็กน้อย เพื่อให้นักท่องเที่ยวมาแล้วรู้สึกเห็นบรรยากาศการท่องเที่ยวของแต่ละสถานีส่วนเรื่องการเดินรถกำลังหารือกับทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ว่าจะมีการทดสอบในการจัดทำโปรแกรมการท่องเที่ยวออกมาแล้วมาดูว่าการเดินรถสอดคล้องมากน้อยแค่ไหน

“เราจะพยายามจะรบกวนภารกิจหลักของทางการรถไฟให้น้อยที่สุด เพราะฉะนั้นอาจจะไม่ถึงขั้นต้องมีขบวนรถเพื่อการท่องเที่ยวเป็นการพิเศษขึ้นมา แต่ใช้ขบวนรถเพื่อการเดินทางสัญจรปกติอยู่แล้ว”

สิ่งหนึ่งที่ค่อนข้างกังวลคือ เรื่องเวลา ถ้าเราสามารถกำหนดเวลาได้แน่นอน และเวลาคลาดเคลื่อนไม่มากนัก เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถออกแบบการท่องเที่ยวได้ดียิ่งขึ้น

ข้อเสนอต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นของภาคเอกชนทางหน่วยรัฐที่เสนอไปยังคณะรัฐมนตรี ตอนครม.สัญจรที่จังหวัดสงขลาคือ เรื่องโครงการรถไฟทางคู่ที่มาจากปาดังเบซาร์ถึงหาดใหญ่ว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เพื่อจะได้ไปควบคุมแวลาของการเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้ามาทางประเทศมาเลเซียได้ จะเป็นประโยชน์มาก เพราะเขาสามารถเชื่อมต่อรถไฟเข้าเมืองหาดใหญ่ จากหาดใหญ่ก็มาลงรถขบวนท้องถิ่นในการเชื่อมโยงเข้าท่องเที่ยวพัทลุง ไปเที่ยวนครศรีธรรมราช ที่สามารถออกแบบได้

อย่างเช่น ตอนเช้าออกจากหาดใหญ่ เพื่อลงไปท่องเที่ยว แล้วสามารถขึ้นขบวนไหนได้ต่อ ไปเที่ยวที่ไหนต่อ จะกลับมาในเวลากี่โมง จะค้างคืน จะไม่ค้างคืน จะอยู่ในผลการศึกษาด้วย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *