ชีวิต ชอบเรียน ชอบสอน วิศรกรใหญ่ศิษย์เก่าม.อ.เด็กแสงทอง หาดใหญ่ “ดร.เบี้ยว” ภูมิใจกรมทางหลวงชนบทต่ออายุราชการให้ 1 ปีในตำแหน่ง “วิศวกรใหญ่” เปิดไทม์ไลน์โครงการพัฒนาโครงข่ายถนน สะพานแก้ปัญหาจราจรบ้านเกิดสำเร็จตามเป้าหมาย


ดร.วีรเดช ชีวาพัฒนานุวงศ์ วิศวกรโยธา ทรงคุณวุฒิ วิศวกรใหญ่ (ด้านสำรวจและออกแบบ)กรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์ในรายการ “โฟกัสฟอรั่ม” ในหัวข้อ “การพัฒนาคมนาคมทางถนน เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในจังหวัดสงขลา” ว่า ในการพัฒนาด้านถนนหนทาง สิ่งแรกต้องศึกษาถึงความต้องการของประชาชนก่อนโดยในปีนี้ตั้งงบประมาณปี 2568 จำนวน 33 ล้านบาทศึกษาโครงการถนนเลียบชายฝั่งทะเลตะวันออกเชื่อมระหว่างอ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช มายัง อ.ระโนด จ.สงขลา ไปยังจ.ปัตตานี และนราธิวาส ระยะทาง 300 กม. ใช้เวลาในการศึกษา 18 เดือน
“ถ้าได้ทำจะเป็นเส้นทางท่องเที่ยว เช่นเดียวกับเส้นเขาพลายดำ อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ได้รับการโหวตจากการท่องเที่ยวให้เป็นถนนที่สวยที่สุด”
ในพื้นที่อ.หาดใหญ่ มีการจราจรค่อนข้างติดขัดถนนกาญจวนิช ผ่านทางหน้ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(ม.อ.) มีรถติดบริเวณไฟแดงมากมาย จึงคิดว่าต้องมีถนนผังเมืองเข้ามารองรับ เพื่อให้เข้าออกเมืองหาดใหญ่ให้ได้รวดเร็วที่สุด ซึ่งมี 4 ช่องจราจร เส้นแรกข้ามคลองอู่ตะเภาไปออกสนามบิน เส้นที่ 2 หน้าค่ายคอหงส์ ตรงไปถนนนวลแก้วจนถึงคลองแห ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาจราจรได้
จากแนวคิดที่หาดใหญ่ต้องแก้ไขปัญหาจราจร ทางหลวงหมายเลข 4 ให้มี 4 ช่องจราจร รถวิ่งจากด่านนอก ปาดังเบซาร์เยอะมาก เกิดปัญหารถติดตลอดจึงได้หารือในที่ประชุม อจร.สงขลา เมื่อ 8 ปีที่แล้ว มีมติให้กรมทางหลวงชนบทเป็นผู้ศึกษาและออกแบบ จากด่านนอก-วงแหวนหาดใหญ่ บ้านพรุ


โดยออกแบบโครงการก่อสร้างการเชื่อมต่อระบบขนส่ง ช่วงอ.หาดใหญ่ ถึงอ.สะเดา ระยะทางรวม 46 กม. เพื่อบรรเทาการจราจรถนนทางหลวงหมายเลข 4 และสนับสนุนการเชื่อมต่อโครงข่ายระบบคมนาคมให้ต่อเนื่องหลากหลายรูปแบบ จากสนามบินหาดใหญ่ หรือนิคมอุตสาหกรรมฉลุง มุ่งสู่ด่านชายแดน ซึ่งได้มีการออกแบบเรียบร้อยแล้ว
โดยแบ่งเป็น 4 เฟส ๆ แรกถนนเลี่ยงเมืองหาดใหญ่ ระยะทาง 15.689 กม. ตั้งแต่บ้านบาโรย คลองแงะ จนถึงถนนเลี่ยงเมืองหาดใหญ่ ขณะนี้ กำลังของบประมาณ คาดว่าจะเริ่มในปี 2571 หรือ 2572
สำหรับเฟสที่ 2 ระยะทาง 19.2 กม. เริ่มตั้งแต่วงแหวนสะเดา มาออกที่บ้านบาโรย ถนนข้ามทางรถไฟปาดังเบซาร์ เฟสที่ 3 ถนนวงแหวนรอบเมืองสะเดา ระยะทาง 25.28 กม. รวมทั้งทางแยกต่างระดับทางด้ายเหนือและด้านใต้ และเฟสที่ 4 ถนนวงแหวนหาดใหญ่ไปออกนิคมอุตสาหกรรมฉลุง ระยะทาง 12.67 กม. ซึ่งจะผ่านเส้นทางไปรัตภูมิสายเก่าด้วย
“เป็นสิ่งที่กรมทางหลวงชนบทตั้งใจดำเนินการพัฒนาเส้นทางให้แก่เมืองหาดใหญ่ สะเดา และบางกล่ำ โครงการนี้ผมตั้งใจทำให้บ้านเกิด เพื่อมอบให้พี่น้องชาวสงขลา คาบว่าจะเกิดผลดีกับประชาชนในพื้นที่อย่างแน่นอน” ดร.วีรเดช กล่าว และว่า
ได้มีการตั้งงบประมาณปี 2569 จำนวน 28 ล้านบาท ศึกษาโครงการเชื่อมสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ฝั่งสงขลากระแสสินธุ์ ระโนด เชื่อมถนนหมายเลข ทล 408 ระยะทางกว่า 20 กม. ซึ่งจะสร้างประโยชน์ให้กับที่น้องประชาชน โดยใช้เวลาศึกษา 9 เดือน
ในฝั่งหัวเขาแดง ได้มีการศึกษาพบว่ารถที่มาใช้บริการแพขนานยนต์ ใช้ระยะเวลารอพอสมควรบางคันไม่รอคิว แต่ใช้วิธีการขับรถอ้อมขึ้นสะพานติณสูลานนท์ ระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร จึงกลับมาคิด เมื่อ 40 ปีที่แล้ว มีการศึกษาเป็นอุโมงค์ลอดทะเลสาบ งบประมาณ 4,000 ล้านบาท ขุดลึกประมาณ 50 เมตร ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงมากเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ใช้บริการ อาจจะไม่คุ้มทุนและเรามีโบราณสถาน จึงเกิดแนวคิดสะพานเปิดปิดเช่นสะพานกรุงเทพฯ ที่มีเรือลอดผ่าน ถ้ามีเรือของกองทัพเรือ หรือเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ก็ปิดเปิดได้ส่วนเรือขนาดเล็กก็สามารถลอดผ่านได้ งบประมาณไม่เกิน 450 ล้านบาท


“ความเป็นไปได้ของโครงการจากที่ได้ศึกษาเบื้องต้น 1 เดือนกว่า คาดว่าคุ้มค่ากับการลงทุน สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาในมิติของการท่องเที่ยวเป็นจุดชมวิวทิวทัศน์ธรรมชาติที่สวยงาม รวมถึงมีพ่อค้าแม่ค้ามาจับจองเปิดร้านอาหารจำนวนมาก” อย่างไรก็ตามต้องติดตามผลการศึกษา EIA อีกครั้ง
ดร.วีรเดช กล่าวต่อว่า โครงการ สำรวจออกแบบสะพานข้ามคลองหลวงและถนนเชื่อมต่อ อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง – อ.ควนเนียง จ.สงขลา ซึ่งเป็นเส้นทางที่ประชาชนอาศัยอยู่จำนวนมาก จะช่วยย่นระยะเวลาในการเดินทางได้ ถ้าอ้อมประมาณ 20 กม. แต่มีโบราณสถาน ป่าชายเลน และป่าสงวน ตามมติครม.จึงต้องศึกษา EIA ใช้เวลาประมาณ 2 ปี
“ยังมีโครงการสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา จ.พัทลุง ที่ผมตั้งใจไว้ว่าก่อนเกษียณจะทำโครงการนี้ให้ได้ จึงมีการศึกษา แต่ไม่ทราบว่ามีโลมาอิรวดี 14 ตัวสุดท้าย เดิมมีคลองเชื่อมทะเลหลวงโลมาอิรวดีว่ายน้ำ เข้ามาในทะเลสาบอยู่บริเวณสะพานเอกชัย คาดว่าไม่กระทบเพราะห่างกัน 7 กิโลเมตร ได้ทำ EIA เรียบร้อย และได้รับการอนุมัติจาก กก.วล โดยมีรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน”
โครงการนี้ต้องกู้เงิน 70% จากธนาคารโลก (World Bank) จากงบประมาณก่อสร้าง 6,683 ล้านบาทส่งผลให้ NGO และผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกเข้ามาศึกษาผลกระทบ ตั้งแต่วันนั้น จนถึงวันนี้ 2 ปีกว่า เนื่องจากการก่อสร้างใต้น้ำจะส่งผลต่อความเป็นอยู่ของโลมาอิรวดี ระยะถึง 1.5 กม. คลื่นเสียงจะส่งผลไปยังโลมาอิรวดี อาจทำให้เกิดอัมพาตได้
จึงได้มีการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจากประเทศออสเตรเลียทำการศึกษา ยืนยันว่าการตอกเข็มใต้น้ำไม่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของโลมาอิรวดี
ส่วนฝุ่นจากการตอกเสาเข็ม ต้องทำม่านป้องกัน และต้องมีเรือลาดตระเวน ซึ่งไม่ได้ตั้งงบไว้จึงมีการร้องขอจากผู้ใหญ่ใจดีนำมาบริจาค
ทั้งยังสร้าง “ศูนย์อนุรักษ์โลมาอิรวดี” ในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าเรียบร้อย รวมถึงมีแผนการอนุรักษ์ ซึ่งมีไทม์ไลน์ในการดำเนินงาน คาดว่าจะตอกเสาเข็มภายในปีนี้ เดือนกรกฎาคมจะมีการลงนามในสัญญา
“ผมดีใจที่กรมทางหลวงชนบท โดยกระทรวงคมนาคม ต่ออายุราชการให้ผมหนึ่งปี เพื่อให้มาทำโครงการสะพานข้ามทะเลสาบกระแสสินธ์-พัทลุงซึ่งจะได้ลงนามสัญญาก่อสร้างในปีนี้ และโครงการนี้เข้าสู่ที่ประชุมครม.สัญจร ที่สงขลาแล้ว ถือว่าผมทำสำเร็จแล้ว ต่อจากนี้จะขอเป็นที่ปรึกษา และให้น้อง ๆ ทำโครงการนี้ต่อไป”


ดร.วีรเดช เผยว่า เมื่อ 2 ปีที่แล้วตนเกือบถอดใจแต่ก็ขอใจสู้ในการหางบประมาณของกระทรวงทรัพย์ฯมาทำวิจัย ได้รับการช่วยเหลือด้วยใจรัก และตนก็ทำด้วยใจที่แน่วแน่ เพราะอยากให้โครงการเกิดขึ้นจริงก่อนที่จะเกษียณอายุ
“ต้องขอขอบคุณ 2 อธิบดี ท่านนายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวง และดร.มนตรี เดชาสกุลสม อธิบดีกรมทางหลวงชนบทคนปัจจุบัน รวมไปถึงอธิบดีคนก่อนๆ ที่เริ่มต้นโครงการนี้ และขอบคุณธนาคารโลก รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องอีกหลายท่าน หลายหน่วยงาน และประชาชนที่สนับสนุนโครงการนี้ให้เกิดขึ้น”
เด็กแสงทอง-ศิษย์เก่าวิศวะม.อ.
ดร.วีรเดช หรือ “ดร.เบี้ยว” เป็นคนหาดใหญ่ จบมัธยมศึกษาที่โรงเรียนแสงทองวิทยา สอบเอ็นตรงคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(ม.อ.) จบวิศวกรโยธา NEER 17
“การเรียนมหาวิทยาลัยเป็นแค่จุดเริ่มต้นประสบการณ์ชีวิตสำคัญที่สุด ต้องใฝ่หาประสบการณ์ ถ้าไม่รู้ก็ต้องถามผู้รู้ และขอให้อดทน ผมมีความมุ่งมั่นว่า เรียนจบแล้ว อยากทำงานเกี่ยวกับถนนหนทาง ชอบทางด้านนี้ และผมก็ทำมันได้จริงๆ จนประสบความสำเร็จในระดับวิศวกรใหญ่ ถือว่าสูงสุดในอาชีพแล้ว สั่งสมประสบการณ์ ฝันต้องไปให้ถึง”
หลังจากเรียนจบก็สอบรับราชการ กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ทุนไปเรียนประเทศออสเตรเลียและเรียนต่อได้ทุนวิจัยของมหาวิทยาลัยที่ฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น ประมาณ 6-7 ปี จบทางด้านจราจร กลับมาออกแบบและแก้ไขปัญหาจราจรเอง
“ขอบอกน้อง ๆ ว่า ทุกคนต้องมีแรงบันดาลใจและต้องไปให้ถึงฝั่งการที่จะไปให้ถึงต้องเคารพสิทธิ์ของตัวเอง เคารพในกรอบเวลาที่มีอยู่ให้ดีที่สุดเราจบมหาวิทยาลัยภูธร สงขลานครินทร์ ในวันเริ่มต้นของการทำงานต้องไปต่อสู้กับชีวิต กับการสอบเข้ารับราชการ ต้องต่อสู้กับหลากหลายมหาวิทยาลัย โชคดีที่ได้รุ่นพี่ดีคอยสอนงาน และสั่งสมประสบการณ์จนถึงปัจจุบัน”
รับราชการมา 36-37 ปี จนจะเกษียณในปีนี้และเป็นอาจารย์หลายมหาวิทยาลัย จะคอยสอนน้อง ๆ ว่า ถ้าเรามีความรู้ต้องเผยแพร่ให้รุ่นน้อง
“ผมเป็นคนชอบเรียนตลอดเวลา เพราะการเรียนเป็นสิ่งที่ไม่ตายกระตุ้นสมองให้ได้คิดตลอดเวลา” ดร.เบี้ยว กล่าว