ผู้ว่าฯ สงขลา สั่งทุกอำเภอเตรียมพร้อมสูงสุด รับมือภัยแล้ง หลังกรมอุตุฯคาด “เอลนีโญ” ภัยแล้งอาจจะลากยาวถึงสิ้นปี แจ้งเกษตรกรวางแผนการเพาะปลูก ขณะที่การประปายืนยันมีน้ำเพียงพอ น้ำไม่ขาดแคลนน้ำบริโภค
นายมาหะมะพีสกี วาแม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เปิดเผยถึงการเตรียมการป้องกันและแก้ปัญหาภัยแล้ง ประจำปี 2566 เพื่อเตรียมการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงทีว่าได้รับมอบหมายจาก นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาให้ดำเนินการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวกับการรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้ง
จากการประชุมมีประเด็นที่น่าสนใจแยกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่หนึ่งเป็นเรื่องสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้นในปีนี้ (พ.ศ. 2566) ส่วนที่สองเรื่องการเตรียมการของจังหวัดเพื่อรับกับสถานการณ์
สถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าฝนในปีนี้จะน้อยกว่าปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2565) เพราะ ฉะนั้น พี่น้องประชาชนต้องทราบข้อมูลนี้
“ฝนจะน้อยกว่าปีที่ผ่านมา และอาจจะมีสถานการณ์ภัยแล้งยืดเยื้อจนถึงสิ้นปี ปกติทุกปีเมื่อเข้าสู่ปลายปีจะมีสถานการณ์อุทกภัย แต่ปีนี้อาจจะแปลกกว่าทุกปี อาจจะมีสถานการณ์ภัยแล้งอยู่จนถึงสิ้นปี”
เรียกว่า ปรากฎการณ์เอลนีโญ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว เพราะ ฉะนั้น เราจะอาจจะเจอสภาวะการขาดแคลนน้ำได้ในปีนี้
ประการที่สอง ที่เป็นสถานการณ์ที่น่าสนใจ นอกจากภัยแล้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดสงขลาและจังหวัดอื่น ๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง
“สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษในสถานการณ์ภัยแล้งคือ เรื่องพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ซึ่งจะมีเป็นช่วง ๆ อาจจะทำให้เกิดความเสียหายให้กับพืชสวน บ้านเรือนพี่น้องประชาชนได้”
ประการที่สาม ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ภัยแล้งคือ น้ำต้นทุนของจังหวัดสงขลา ไม่ว่าจะเป็นคลองภูมี คลองอู่ตะเภา คลองนาทวี คลองเทพา ก็ตาม ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์น้ำยังปกติอยู่ แต่ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนจัดในขณะนี้ และก็อาจจะยืดเยื้ออีกหลายเดือนจะทำให้การระเหยของน้ำสูงกว่าปริมาณปกติ
“มีโอกาสได้ว่าปลายปีอาจจะสถานการณ์การขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะน้ำเพื่อการเกษตร เพราะฉะนั้น พี่น้องประชาชนต้องเตรียมการที่จะวางแผนการปลูกพืชให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของภัยแล้ง”
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้มีข้อหารือและแนวทางปฏิบัติร่วมกัน ได้มีการเตรียมการเพื่อรับสถานการณ์ภัยแล้งดังนี้
ประการที่หนึ่ง ทางจังหวัดสงขลาและอำเภอทุกอำเภอทั้ง 16 อำเภอ ขณะนี้ได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์เพื่อเตรียมพร้อมที่จะรับการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนกรณีเกิดสถานการณ์ขึ้นมา
ประการที่สอง ได้มีแผนปฏิบัติการ ซึ่งทุกหน่วยก็มีความพร้อมที่จะดำเนินการตามแผนปฏิบัติงานและการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะเรื่องการเตรียมการและการช่วยเหลือด้านน้ำให้กับพี่น้องประชาชน
ที่สำคัญ ประการที่สาม เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ สิ่งที่ห่วงมากที่สุดก็คือเรื่องขาดแคลนน้ำ ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด และกองบิน 56 ได้ยืนยันว่าได้ประสานงานกับฝ่ายปฏิบัติการฝนหลวงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพราะ ฉะนั้น เมื่อมีโอกาสที่สภาพอากาศเอื้ออำนวย ก็พร้อมที่จะปฏิบัติการทำฝนหลวง เพื่อเติมน้ำต้นทุนให้มากขึ้นกว่าปัจจุบัน
ประการสุดท้าย ทางการประปาได้ยืนยันว่าในช่วงฤดูแล้ง มีน้ำเพียงพอที่จะบริการน้ำดื่มกับประชาชน เพราะ ฉะนั้น เรื่องน้ำดื่ม ประชาชนไม่ต้องเป็นห่วง ไม่ขาดแคลนแน่นอน
ทางการประปาก็สามารถที่จะบริการให้กับพี่น้องประชาชนได้ แล้วก็อำเภอต่าง ๆ ที่มีความจำเป็นจะต้องใช้น้ำดื่ม เพื่อแจกจ่ายให้กับพี่น้องประชาชน ก็สามารถมาขอที่ประปาได้ ทางประปาไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ
“เรื่องน้ำดื่มทางจังหวัดสงขลา ยืนยันกับพี่น้องประชาชนว่า ไม่ให้มีการขาดแคลนอย่างแน่นอน ส่วนน้ำเรื่องการเกษตรพี่น้องประชาชนต้องดูแลเรื่องการเพาะปลูกพืชที่เหมาะสมกับหน้าแล้งด้วย” รองผู้ว่าฯ สงขลา กล่าวว่าขอให้ทุกอำเภอได้ดำเนินการตามแนวทางที่เราได้มีการประชุมร่วมกันอย่างเต็มที่