สมเด็จพระกนิษฐาฯ เสด็จเป็นองค์ประธาน“เปิด”การประชุมวิชาการ STT49 ที่ ม.อ.

เฟรมข่าวไอเน็ท เว็บ เปลี่ยน 17


สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธาน เปิดการประชุมวิชาการ STT49 บูรณาการ ความรู้สู่การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศให้ยั่งยืน

60392 0 0

23 มกราคม 2567 เวลา 14.30 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน ทรงเปิดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 49
The 49th International Congress on Science, Technology and Technology-based Innovation (STT49) ในหัวข้อ “SDGs FOR THE BENEFIT OF MANKIND” ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยมี รองศาสตราจารย์ ธณัฏฐ์คุณ มงคลอัศวรัตน์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศาสตราจารย์ ดร.อัญชนา ประเทพ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ พร้อมด้วย คณะผู้บริหารสมาคม มหาวิทยาลัย และสถาบันเจ้าภาพร่วมจัดการประชุม เฝ้าฯ รับเสด็จฯ
การประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 49 เป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์และคณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. โดยการสนับสนุนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน

60381 0 0


กิจกรรมประกอบด้วย การปาฐกถาพิเศษ โดย Professor Dr.Moungi G. Bawendi นักวิทยาศาสตร์ รางวัลโนเบล สาขาเคมี ประจำปี ค.ศ. 2023 และนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2566 การบรรยายจากวิทยากรรับเชิญ ทั้งจากในและ
ต่างประเทศ การอภิปรายกลุ่ม การเสนอผลงานวิจัยทั้งในรูปแบบการบรรยายและโปสเตอร์ 13 สาขาวิชา การนำเสนอผลงานใน Symposia รวมถึงการประชุมประจำปีขององค์กร สมาคม สาขาที่เกี่ยวข้อง รวมผลงานวิจัยที่นำเสนอในการประชุมครั้งนี้จำนวนเกือบ 300 ผลงาน และมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 600 คน เป็นการประชุมทางวิชาการที่มีนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหลากหลายสาขาจากหลายประเทศ ตลอดจน เป็นเวทีการบูรณาการความรู้สู่การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศให้ยั่งยืนต่อไป
ในการนี้ ได้พระราชทานโล่รางวัล 25 ราย ประกอบด้วย Professor Dr.Moungi G. Bawendi (ศาสตราจารย์ ดร.โมนกี บาเวนดี) นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล สาขาเคมี ประจำปี ค.ศ. 2023 นักวิทยาศาสตร์อาวุโส 1 ราย นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น 1 ราย นักเทคโนโลยีดีเด่น 1 ราย นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ 3 ราย และนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ 2 ราย ครูวิทยาศาสตร์ดีเด่น 6 ราย และ นักเรียนชนะเลิศโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับประเทศประจำปี 2565 จำนวน 8 ราย

60380 0 0


ต่อมา เป็นการปาฐกถาพิเศษ โดย Professor Dr.Moungi G. Bawendi (ศาสตราจารย์ ดร.โมนกี บาเวนดี) นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล สาขาเคมี ประจำปี 2023 จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ Bawendi ประเทศสหรัฐอเมริกา ในหัวข้อ “Quantum Dots: Discovery and Synthesis” และการบรรยายพิเศษ โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ วัชรินทร์ รุกขไชยศิริกุล นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2566 ในหัวข้อ Discovery and development of lead compounds from Thai fungal resources in drug discovery
จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระปรีชาสามารถของพระองค์ท่านที่มีต่อการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ การจัดแสดงผลของพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา ๕๐ พรรษา สยามบรมราชกุมารี ผลงานวิจัย
และนวัตกรรมทางควอนตัม โดยนักวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ ผลงานวิจัยทางด้านสุขภาพของบริษัท เอเชี่ยนไลฟ์ จำกัด โดย ศาสตราจารย์ ดร.พิเชษฐ์ วิริยะจิตรา และผลงานของผู้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *